ข่าว

ดัน"โคราชโมเดล"แปลงใหญ่มันสำปะหลัง!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย - โต๊ะข่าวเกษตร

           ดัน ‘โคราชโมเดล’ พัฒนาเกษตรแปลงใหญ่มันสำปะหลัง สร้างเกษตรกรต้นแบบส่งต่อความสำเร็จ คาดเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนให้ได้ร้อยละ 20 หนุนใช้เครื่องจักรกลการเกษตรทดแทนแรงงานตลอดห่วงโซ่การผลิต มุ่งเป้าพัฒนาการผลิตมันแบบบูรณาการ

           ดร.วราภรณ์ พรหมพจน์ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยหลังเป็นประธานเปิดงาน “ประชารัฐรวมใจ พัฒนาเกษตรแปลงใหญ่มันสำปะหลัง” ณ บ้านหัวอ่างพัฒนา ต.หนองไม้ไผ่ อ.หนองบุญมาก จ.นครราชสีมาว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่ามันสำปะหลังเป็นพืชที่เกษตรกรในพื้นที่นิยมปลูกกันมาก เนื่องจากทนต่อสภาพแวดล้อมต่างๆได้ดี เแม้ประเทศไทยจะมีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังมาก แต่ปัญหาที่พบคือ ยังมีผลผลิตต่อไร่และประสิทธิภาพการผลิตต่ำ

 

ดัน"โคราชโมเดล"แปลงใหญ่มันสำปะหลัง!

 

          ดังนั้น การเพิ่มผลผลิตจำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีการผลิตทั้งด้านพันธุ์ และการเขตกรรมที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม ผลผลิตและคุณภาพของมันฯมีความแตกต่างกันตามสภาพแวดล้อม พันธุ์และการจัดการ การผลิตมันสำปะหลังที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่จำเป็นต้องอาศัยข้อมูลจากการวิจัยและพัฒนา พร้อมข้อมูลพื้นที่นั้นๆช่วยสนับสนุนตัดสินใจเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับการผลิตเฉพาะพื้นที่และต้องมีกระบวนการในการถ่ายทอดเทคโนโลยี ที่ขยายผลวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวางและรวดเร็ว

          รองอธิบดีฯ กล่าวอีกว่า จากนโยบายเกษตรแปลงใหญ่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำโดย พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ต้องการสนับสนุนให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มบริหารจัดการเครื่องจักรกลการเกษตร ซื้อปัจจัยการผลิตและจำหน่ยผลผลิตร่วมกันโดยเชื่อมโยงกับตลาดรับซื้อ ที่สำคัญต้องการให้มีการเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการผลิตต่อหน่วย ภายใต้การบูรณาการภาครัฐและเอกชน โดยในปี 2560 จ.นครราชสีมา มีเกษตรแปลงใหญ่มันฯครอบคลุมพื้นที่ 12 อำเภอ จำนวน 16 แปลง พื้นที่รวม 33,488 ไร่ เกษตรกร 1,534 ราย เข้าร่วมโครงการ

 

ดัน"โคราชโมเดล"แปลงใหญ่มันสำปะหลัง!

 

         ดังนั้น เพื่อตอบสนองนโยบาย ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครราชสีมา สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 จัหวัดอุบลราชธานี กรมวิชาการเกษตร ได้บูรณาการกับสำนักงานเกษตรจังหวัดนครราชสีมา และกลุ่มคัสเตอร์มันโคราช ร่วมกันถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลังตลอดห่วงโซ่การผลิตในรูปการทำงาน “โคราชโมเดล” ในพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่มันฯ อ.หนองบุญมาก พื้นที่รวม 2,816 ไร่ เกษตรกร 98 ราย จัดทำแปลงต้นแบบที่บูรณาการผลงานวิจัยด้านเครื่องจักรกลการเกษตร พันธุ์ การจัดการดินและปุ๋ย การจัดการน้ำ และการอารักขาพืช โดยมีเกษตรกรเข้าร่วมจัดทำแปลงต้นแบบ 12 ราย รายละ 5 ไร่ พื้นที่รวม 60 ไร่

          มุ่งให้เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลังตลอดห่วงโซ่การผลิต ระหว่างเกษตรกร ผู้ประกอบการภาคเอกชน ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อขยายผลรูปแบบการดำเนินงาน และเทคโนโลยีการผลิตสู่พื้นที่เกษตรแปลงใหญ่มันฯทุกแปลงของ จ.นครราชสีมา ให้เพิ่มผลผลิตต่อหน่วยพื้นที่ ลดต้นทุนผลิต ด้วยเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสมเฉพาะพื้นที่ ปรับเปลี่ยนการเกษตรแบบดั้งเดิมไปสู่เกษตรสมัยใหม่ ที่เน้นบริหารจัดการและเทคโนโลยีที่เรียกว่า สมาร์ท ฟาร์มมิ่ง (Smart Farming) มุ่งเป้าพัฒนาการผลิตแบบบูรณาการเพื่อความมั่นคงและยั่งยืน

 

ดัน"โคราชโมเดล"แปลงใหญ่มันสำปะหลัง!

 

           รองอธิบดีฯ กล่าวสรุปว่า เป้าหมายของโครงการนี้จะสามารถเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังให้ได้ร้อยละ 20 ขณะเดียวกันจะลดต้นทุนการผลิตลงร้อยละ 20 เช่นเดียวกัน ทั้งจะให้กลุ่มเกษตรกรมีการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรทดแทนแรงงานตลอดห่วงโซ่การผลิตไม่น้อยกว่า 2 กลุ่ม มีเครือข่ายการเรียนรู้ของเกษตรกรทุกพื้นที่แปลงใหญ่มันฯ ที่สำคัญ ขยายผลรูปแบบการดำเนินงานและถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตสู่พื้นที่เกษตรแปลงใหญ่นครราชสีมา ให้ครอบคลุมพื้นที่ 33,488 ไร่

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ