ข่าว

สู้เพื่อธนาคารปูม้า“สมควร จันทร์ทักษ์”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย - สุรัตน์ อัตตะ

       อำลาชีวิตไต้ก๋งเรือมาร่วม 20 ปีหันมาเอาดีอาชีพประมงพื้นบ้านเพื่อจะได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับครอบครัวอย่างเต็มที่สำหรับ“สมควร จันทร์ทักษ์” สมาชิกกลุ่มประมงพื้นบ้านศาลาเขียว ต.เพ อ.เมืองระยอง  ที่ปัจจุบันขันอาสาเป็นผู้จัดการธนาคารปูของกลุ่มที่คอยดูแลสมาชิกและชาวประมงนำแม่ปูไข่มาฝากไว้กับธนาคาร พร้อมทั้งยอมเสียสละพื้นที่บริเวณบ้านบางส่วนไว้สำหรับจัดตั้งครื่องมืออุปกรณ์ธนาคารปู อาทิ ถังพลาสติกใส่น้ำขนาด 10 ลิตร พร้อมด้วยเครื่องมืออุปกรณ์ให้ออกซิเจนจำนวน 5 ใบ โดยรับแม่ปูไข่จากสมาชิกกลุ่มและชาวประมงในพื้นที่เฉลี่ยนวันละ 7-10 ตัว แต่ละตัวมีไข่ประมาณ 1-1.5 แสนฟอง หลังจากนำแม่ปู่มาสลัดไข่ลงในภาชนะที่รองรับแล้ว จากนั้นก็จะคืนแม่ปูให้กับเจ้าของต่อไป 

       "เมื่อก่อนผมเป็นไต้ก๋งเรือประมง ทำมาเกือบ 20 ปี ก็ลาออกมาอยู่บ้าน ยึดอาชีพทำประมงพื้นบ้าน แม้รายได้จะเทียบไม่ได้กับอาชีพไต้ก๋ง แต่ก็มีความสุขในการอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตากับครอบครัว อย่างตอนที่ยังเป็นไต๋ก๋งเรือ ออกทะเลบางครั้งก็เป็นเดือนกว่าจะได้กลับเข้าฝั่ง ประกอบกับอายุที่มากขึ้นก็เลยลาออกมาทำประมงพื้นบ้านดีกว่า  หลังเก็บเงินได้ก้อนหนึ่งนำมาซื้อเรือเล็กจำนวน 3 ลำ"สมควรย้อนอดีตกว่าจะยึดอาชีพทำประมงพื้นบ้าน โดยสังกัดสมาชิกกลุ่มประมงพื้นบ้านศาลาเขียว ต.เพ ซึ่งเขายอมรับว่าการทำประมงทุกวันนี้มีรายได้ไม่ดีเหมือนเมื่อก่อน เนื่องจากทรัพยากรสัตว์น้ำเริ่มร่อยหรอลงทุกวัน โดยเฉพาะปูม้าในธรรมชาติ ซึ่งเป็นสัตว์น้ำที่ทำรายได้หลักให้กับชาวประมงพื้นบ้านกลุ่มศาลาเขียวเริ่มหายากมากขึ้น

        "แต่ก่อนออกทะเลไป 2-3 ชั่วโมงก็ได้มาแล้วกุ้งหอยปูปลามาเต็มลำเรือ รายได้วันละ 2-3 พันแล้วก็ไม่ต้องออกทะเลไปไกล ๆ ด้วย แต่เดี๋ยวนี้ทำไม่ได้แล้ว ออกเรือไปเป็นวัน ๆ  บางวันได้ปูม้ามาแค่ 3-4 กิโลก็ถือว่าเยอะแล้ว  รายได้ตอนนี้รวม ๆ แต่ละเดือนแล้วอยู่ที่ประมาณ 3-4 หมื่นบาท"ผู้จัดการธนาคาร กลุ่มประมงพื้นบ้านศาลาเขียวเผยชีวิตอาชีพประมงพื้นบ้านในปัจจุบันที่ต้องหาพึ่งทรัพยากรสัตว์น้ำในธรรมชาติอย่างเดียวไม่ได้แล้วก็ต้องหาทางฟื้นฟูให้กลับมาด้วย ธนาคารปูก็เป็นอีกทางรอดหนึ่งที่จะช่วยได้ ซึ่งก็ต้องขอขอบคุณทีมนักวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.)และกรมประมงที่ลงมาช่วยดูแลสนับสนุนชาวบ้านในการจัดตั้งธนาคารปู ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ชาวประมงที่นี่รู้จักคำว่าธนาคารปู

       “เป็นครั้งแรกที่รู้จักธนาคารปูและประโยชน์ของมัน ที่ผมมาทำตรงนี้ก็รับอาสาเข้ามาทำเอง ไม่มีรายได้อะไรเลย อุปกรณ์ทุกอย่างซื้อเองหมด บางอย่างทางนักวิจัยและวช.เขาจัดการให้ แต่ผมคิดว่าแค่เข้ามาให้ความรู้ในเรื่องธนาคารปูก็นับเป็นมูลค่าที่ประเมินไม่ได้แล้วครับ”สมควรกล่าวทิ้งท้ายอย่างภูมิใจ

        

       

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ