ข่าว

ปุ๋ยสั่งตัดลดต้นทุน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย - รศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ

         งานวิจัยการใช้ปุ๋ยตามค่าการวิเคราะห์ดินและชนิดของดินในแต่ละที่ ซึ่งเท่าที่ผ่านมาพบว่าส่วนใหญ่สามารถลดต้นทุนค่าปุ๋ยลงได้ เพราะว่าจะใช้ปุ๋ยน้อยลงในขณะที่ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น ทั้งหมดนี้เป็นผลจากการวิจัยของ ศ.ดร.​ทัศนีย์ อัตตะนันทน์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งได้ทำงานวิจัยเร่ื่องนี้มาเกือบยี่สิบปีแล้ว แต่คำถามก็คือทำไมยังต้องนำเรื่องนี้เล่าสู่กันฟังอีก คำตอบก็คือถึงแม้จะมีการเผยแพร่ผลงานออกไปในวงกว้างหลายที่ แต่เกษตรกรอีกมากยังไม่เข้าใจหลักการและยังไม่ได้ลองนำไปใช้จริง ในขณะที่นักวิชาการที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องทั้งหลายก็ยังไม่ค่อยเข้าใจและยังยึดมั่นกับความคิดเดิมๆ หรือไปไกลจนถึงขั้นที่ว่าปุ๋ยสั่งตัดใช้ไม่ได้ผล และไม่ใช่ของใหม่ เพราะที่หน่วยงานของตนก็ทำมาแล้ว เลยปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือ

ปุ๋ยสั่งตัดลดต้นทุน

         ความจริงแล้วหลายหน่วยงานที่มีหน้าที่ให้ความรู้หรือทำวิจัยเกี่ยวกับดินและปุ๋ย ก็มีการวิจัยเรื่องดินและปุ๋ยมาบ้าง แต่ยังเป็นภาพกว้างๆ เราก็คงจะเห็นว่าคำแนะนำการใช้ปุ๋ยข้าวส่วนใหญ่ก็ยังเป็น 16-20-0 ซึ่งเป็นคำแนะนำที่ยาวนานมากว่า 60 แล้ว แต่งานวิจัยการให้ปุ๋ยเฉพาะพื้นที่ ซึ่ง ดร.ทัศนีย์ ทำอยู่นั้น ลงในรายละเอียดมากกว่า เพราะดินแต่ละชนิดแต่ละแห่งในประเทศไทยย่อมมีความแตกต่างกันในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปริมาณธาตุอาหารที่มีอยู่เดิมในดิน ปริมาณอินทรียวัตถุ ความสามารถในการเก็บความชื้นและอื่นๆ อีกมาก เมื่อปลูกพืชชนิดต่างๆ ลงไป ก็ย่อมจะส่งผลต่อการเติบโตที่ไม่เหมือนกัน การให้ปุ๋ยจากภายนอกก็เป็นเพียงด้านหนึ่งที่มุ่งเพิ่มปริมาณธาตุอาหารในดินให้เพียงพอและเหมาะสมต่อความต้องการของพืชแต่ละชนิด ดังนั้นหากไม่มีการวิเคราะห์ธาตุอาหารในดินก่อน แล้วจะทราบได้อย่างไรว่าเราควรให้ปุ๋ยอะไร ในปริมาณเท่าใด จึงจะพอเหมาะพอสมต่อความต้องการของพืชแต่ละชนิด นั่นคือที่มาของ “ปุ๋ยสั่งตัด”

          เหตุที่เราต้องให้ความสำคัญกับปริมาณปุ๋ยที่ใส่ลงไปในดินก็เพราะว่าปริมาณการใช้ปุ๋ยของประเทศเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าตัวในช่วงเวลา 15 ปีที่ผ่านมา โดยการปลูกข้าวมีการใช้ปุ๋ยมากที่สุด คือประมาณเกือบครึ่งหนึ่งของปริมาณปุ๋ยทั้งหมดที่ใช้ในประเทศ แต่ว่าสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือเกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับดินและปุ๋ยน้อยที่สุดในบรรดาปัจจัยการผลิตทั้งหมด ผลก็คือการใช้ปุ๋ยไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้ผลผลิตต่ำ แต่กลับทำให้ต้นทุนสูงขึ้นด้วยความไม่รู้ และข้อสำคัญที่หลายคนยังไม่ทราบก็คือ การใช้ปุ๋ยที่ขาดประสิทธิภาพเช่นนี้หลายครั้งมีผลทำให้พืชอ่อนแอ และเป็นช่องทางให้โรคและแมลงเข้าทำลายได้ง่ายขึ้น กลับกลายเป็นว่าเกษตรกรต้องเสียเงินลงทุนค่าสารกำจัดศัตรูพืชเพิ่มมากขึ้นไปด้วย

         สิ่งแรกที่ต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนก็คือ ทำไมจึงต้องใส่ปุ๋ย คำตอบก็น่าจะชัดเจนอยู่แล้วว่า เมื่อเราเก็บเกี่ยวผลผลิตออกไปจากแปลง ก็มีการนำธาตุอาหารติดออกไปกับผลิตผลด้วย ซึ่งการสูญเสียธาตุอาหารแบบนี้เป็นการสูญเสียอย่างถาวร หากจะให้ดินกลับมาอุดมสมบูรณ์ขึ้นก็ต้องมีการเติมธาตุอาหารที่สูญเสียออกไปกลับคืนลงดินด้วย นอกจากนี้ดินก็สูญเสียอินทรียวัตถุไปด้วยพร้อมๆ กับการสูญเสียธาตุอาหาร ดินจึงเกิดสภาพแน่นแข็ง รากพืชเจริญได้ไม่ดี จึงไม่สามารถหาอาหารได้ไกล ส่งผลให้ผลผลิตลดลง ดังนั้นคำแนะนำขั้นแรกในการแก้ไขปัญหานี้ก็คือ การให้อินทรียวัตถุลงไปในดินพร้อมๆ กับการใช้ปุ๋ยที่เหมาะสมครับ คำถามคือการใช้ปุ๋ยที่เหมาะสมนั้นเป็นอย่างไร ไว้คราวหน้าจะมาเล่าให้ฟังต่อครับ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ