ข่าว

คนบ้าไผ่'..รวยด้วยไผ่!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย - โต๊ะข่าวเกษตร

          จากคุณลักษณะเด่นของ “ไผ่ยักษ์เมืองน่าน” ที่มีขนาดลำปล้องกว้างถึง 14 นิ้ว และสูงถึง 40 เมตร ถือเป็นไผ่ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย กลายเป็นจุดเริ่มต้นของหนุ่มใหญ่จากแดนอีสาน “ธูป นาคเสน” เจ้าของสวนไผ่ยักษ์น่านที่บนดอยติ้ว อ.ท่าวังผา จ.น่าน เข้ามาจุดชนวนให้อำเภอเล็กๆ อย่าง “ท่าวังผา” แหล่งกำเนิดไผ่ยักษ์น่าน กลายเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศ ต่างให้ความสนใจหลั่งไหลเดินทางเข้ามาสัมผัสตลอดทั้งปี

          ก่อนหน้านี้ ธูป ไม่ได้อยู่ในวงการไผ่ แต่จับงานจัดสวนทุกประเภทมาก่อน ทำให้มีความรู้พื้นฐานระดับดีเกี่ยวกับพรรณไม้พืชต่างๆ ประกอบกับร่ำเรียนจบจากวิทยาลัยเกษตรน่านมาก่อน ไปเป็นเขยเมืองน่าน เขาจึงผันตัวเองมาศึกษาไผ่อย่างจริงจัง และไม่ใช่เรื่องยากสำหรับเขาที่พื้นฐานความรู้ด้านการเกษตรเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ตรงข้ามเมื่อค้นพบไผ่ยักษ์น่าน ปี 2549 กลับเป็นแรงบันดาลใจที่จะค้นคว้า เสาะแสวงหาสายพันธุ์มาขยายต่อเนื่อง เริ่มที่สายพันธุ์ในประเทศก่อนขยับขยายไปนำสายพันธุ์ต่างประเทศมาทดลองปลูก

 

คนบ้าไผ่'..รวยด้วยไผ่!

สวนไผ่ยักษ์บนดอยติ้ว

 

          ธูป บอกว่า การลงลึกศึกษาถึงสายพันธุ์ของไผ่ จะพบว่ามีความหลากหลาย และความแปลกใหม่อยู่ตลอดเวลา แต่ทั้งหมดก็ต้องขึ้นอยู่กับตัวเองมีความน่าสนใจและมีข้อมูลลงลึกในรายละเอียดมากขนาดไหน และตลอด 10 ปี ที่โลดแล่นอยู่ในวงการไผ่เขายอมรับว่า หลงเสน่ห์ไผ่จนถอนตัวไม่ขึ้น ชื่อพันธุ์ไผ่เกือบทุกชนิดถูกบรรจุความจำลงในสมอง และพร้อมเพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา และยิ่งไปกว่านั้น ได้พบว่า ไผ้ยังเป็นพืชที่ทำเงินที่ีราคาตั้งแต่หลักสิบจนถึงหลักแสนบาท จนมีหลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า "ผมบ้า” ไปแล้ว

          "การทำธุรกิจของผมในวันนี้ แทบจะครบวงจร ป้อนลำไผ่เข้าภาคอุตสาหกรรม ป้อนไผ่สดเข้าตลาดบริโภค ป้อนกล้าไผ่เข้าตลาดบ้านและสวน ป้อนไผ่เข้าตลาดเฟอร์นิเจอร์ และแหล่งท่องเที่ยวชมไผ่ยักษ์แห่งเดียวในประเทศไทย หากใครมาบอกให้ขยับขยายธุรกิจให้ไปมากกว่านี้ ผมว่ามันอยู่ในระดับที่ดี ยังไม่อยากไปทำอะไรให้มันใหญ่โตไปมากกว่านี้ มันแทบจะครอบคลุมสำหรับการทำธุรกิจในป่าไม่ใช่ในเมืองคอนกรีต” ธูป กล่าว

 

คนบ้าไผ่'..รวยด้วยไผ่!

 

          การซื้อขายไผ่ในตลาดวันนี้ ไม่ต่างจากวงการเซียนพระที่มีความคึกคักตลอดเวลา ยิ่งเป็นไผ่พันธุ์ที่หายาก ต่อให้อยู่ไกลขนาดไหนก็ต้องเดินทางไปดูไปซื้อ เพื่อนำมาต่อยอด และสร้างโอกาสทางการค้าให้ถึงที่สุด ล่าสุดเขาต้องใช้เวลาหลายปีเพิ่งค้นพบไผ่หวานสีชมพูเป็นครั้งแรกของโลก ที่ อ.ท่าวังผา จ.น่าน โดยว่าจ้างชาวบ้านในพื้นที่มานานแล้ว พอพบว่าลำต้นเป็นสีชมพู ซึ่งเป็นหนึ่งในล้านต้นที่จะเกิดจากเดิมที่มีลำต้นเป็นสีเขียว ก็ถือว่าเป็นความโชคดี และเตรียมขยายพันธ์ุต่อไป

          กระนั้น เขาเล่าให้ฟังว่า ในวงการไผ่ไม่ได้แค่ทำรายได้จากการขาย เพื่อนำหน่อไม้แปรรูปเป็นอาหาร หรือเฟอร์นิเจอร์ รวมถึงส่งไปแปรรูปในอุตสาหกรรมต่างๆ แล้ว แต่ในแง่ของการเลี้ยงไผ่ประดับก็มีความนิยมไม่แพ้กัน โดยไผ่ที่มีความแปลกใหม่ หรือเป็นสายพันธุ์ที่หายากจากต่างประเทศ จะมีการซื้อขายกันในราคาดี บางพันธุ์มีราคาหลักหมื่น บางพันธุ์มีราคาหลักแสน โดยขณะนี้เขาเองมีไผ่พันธุ์อยู่ในมือมากกว่า 600-800 สายพันธุ์

          สิ่งหนึ่งที่ธูปมั่นใจคือ ไผ่เป็นพืชเศรษฐกิจที่ทำเงินได้ราคางาม เพราะคลุกคลีกมาเป็นเวลารายปี และมีรายได้จากการขายหน่อไม้ การขายลำไผ่ และการขายกล้าไผ่ โดยราคาก็ขึ้นอยู่กับชนิดพันธุ์ของไผ่ด้วย

 

คนบ้าไผ่'..รวยด้วยไผ่!

 

          “ทุกวันนี้ผมพยายามปรับตัวให้เข้ากับวัตถุดิบที่มี และอาศัยเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มช่องทางการทำตลาด โดยขายไผ่ผ่านเฟซบุ๊ก ไลน์ และอินสตาแกรม ทำให้มีเวลาที่จะพัฒนา ต่อยอดไผ่ในสิ่งที่อยากทำได้ หลายๆคนมองว่าผมบ้าที่เสียเงินไปมาก เพื่อค้นคว้าสายพันธุ์ บางพันธ์ุเพาะเนื้อเยื่อเอง แต่ที่ผ่านมาทำให้รู้ว่า ในพื้นที่ จ.น่าน ไผ่เป็นพืชพื้นถิ่นที่สำคัญไม่น้อย มีการส่งออกลำไผ่ไปขายนอกพื้นที่เป็นจำนวนมาก แต่ไม่ค่อยได้รับการส่งเสริมอย่างจริงจัง ต่อเมื่อมาทำด้วยตัวเอง และได้พบแหล่งกำเนิดไผ่ยักษ์ทำให้ผมตัดสินใจซื้อที่ดินบนดอยติ้ว ที่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,150 เมตร จำนวน 130 ไร่ เพื่ออนุรักษ์ไผ่ยักษ์น่านให้คงอยู่ ทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยว และแหล่งเรียนรู้ควบคู่กัน”

          เจ้าของสวนไผ่ยักษ์น่านยืนยันอีกว่า หลังจากที่ได้ศึกษาและขยายพันธุ์ไผ่ยักษ์น่านแล้วก็เริ่มขายกล้าไผ่ ซึ่งได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม แม้จะขายราคาสูงถึงต้นละ 400 บาท แต่ก็มีลูกค้าสั่งกล้าไผ่ไปปลูกกันเป็นจำนวนมาก อย่างในพื้นที่ภาคใต้ที่ จ.ยะลา สามารถปลูกไผ่มีขนาดใหญ่เท่าๆ กับแหล่งถิ่นกำเนิดได้ ตอนนี้ได้คัดเลือกไผ่มา 4 พันธ์ุ คือ พันธุ์ฟ้าหม่น พันธุ์ซางหม่น พันธุ์ยักษ์น่าน และพันธุ์ปอยักษ์ เข้าไปส่งเสริมให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้ปลูกทดแทนข้าวโพด และช่วยลดพื้นที่ป่าหัวโล้น โดยกำลังเริ่มดำเนินการในปีนี้ิ

 

คนบ้าไผ่'..รวยด้วยไผ่!

 

          ธูปบอกด้วยว่า คนที่ไม่ได้เรียนรู้เรื่องไผ่จริงจังอาจจะมองผิวเผินว่าเป็นเรื่องง่าย แต่หากลงลึกถึงศาสตร์และศิลป์แล้ว ไม่ง่ายเลย เพียงแต่อาศัยเทคนิคที่ประยุกต์จากการเรียนรู้ให้เกิดประโยชน์ ที่ผ่านมาช่วงเริ่มเคยท้อต่อการปลูกไผ่ พยายามขยายพันธุ์ด้วยการเพาะ 100 ต้น หวังว่าจะได้ 100 ต้น แต่ข้อเท็จจริงไม่ใช่อย่างที่คิด ได้แค่ 5 ตันเท่านั้น

          “ผมอยากจะบอกคนอาชีพเดียวกัน ที่กำลังทำภาคเกษตรอยู่ขณะนี้ว่า โลกเปลี่ยน วิวัฒนาการเทคโนโลยีก็เปลี่ยน หากจะประกอบอาชีพเกษตรที่ยั่งยืนก็ต้องปรับตัวให้สอดคล้องกันด้วย ไม่ได้หมายความว่าให้ลืมรากเหง้า หรือมองข้ามภูมิปัญญาท้องถิ่น แต่อยากแนะนำว่า ทุกวันนี้ผมมีรายได้ด้วยตัวเอง ไม่ได้มีเครือข่าย ไม่ต้องออกไปทำงานต่างถิ่น เพราะผมหยิบสิ่งที่มีคุณค่าในพื้นที่มาต่อยอดให้ออกดอกออกผล เกษตรกรรุ่นใหม่ถ้าเข้าใจหลักการง่ายๆ เหล่านี้ ก็สามารถประสบความสำเร็จได้” เขาให้ข้อคิด

 

คนบ้าไผ่'..รวยด้วยไผ่!

ธูป นาคเสน

          ตลอดระยะเวลาที่ผ่ามา ในมุมของธูปเห็นว่า เกษตรรุ่นใหม่ การทำธุรกิจยั่งยืนต้องไม่ทำร้ายธรรมชาติ เขาต้องทำความเข้าใจกับชาวบ้านในพื้นที่ การปลูกไผ่ 1 ต้น สามารถให้ผลผลิตหน่อไม้สดอย่างต่ำ 2,000 กิโลกรัม ราคาจำหน่ายอยู่ที่กิโลกรัมละ 50 บาท ยังไม่รวมกับลำต้นที่ขายต่อไปผลิตเป็นเฟอร์นิเจอร์ และในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ล่าสุด กำลังทดลองนำใบไผ่สดมาแปรรูปทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ แต่ต้องมีงานวิจัยรองรับด้วย

          จากที่ ธูป นาคเสน ได้คลุกคลีอยู่กับวงการไผ่ร่วมสิบปี วันนี้เงินที่ลงทุนไปแล้วกว่า 10 ล้านบาท นับว่าคุ้มมากกว่าคุ้ม เพราะเขาขายทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นไผ่ เชื่อว่าต่อไปคนทั่วโลกจะต้องมาที่ อ.ท่าวังผา จ.น่าน เพราะไม่เพียงแต่เป็นแหล่งต้นกำเนิดต้นไผ่ยักษ์แล้ว ยังเป็นแหล่งรวมสายพันธุ์ไผ่นานาชนิดจากทั่วโลก มากกว่า 600-800 สายพันธุ์ด้วย

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ