ข่าว

ถกคนอาเซียนใช้งานวิจัยแก้"น้ำท่วม-ภัยแล้ง"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย - โต๊ะข่าวเกษตร

           จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ม.เกษตรศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สมาคมนักอุทกวิทยาไทย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมประชุมนานาชาติ “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการจัดการน้ำ สู่ความมั่นคงด้านน้ำ พลังงาน อาหาร(THA 2017 International Conference on Water Management and Climate Change Towards Asia's Water–Energy-Food Nexus )

 

ถกคนอาเซียนใช้งานวิจัยแก้"น้ำท่วม-ภัยแล้ง"

 

           โดยเป้าหมายเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อการจัดการทรัพยากรน้ำ รวมทั้งแนวทางการแก้ปัญหาแบบบูรณาการที่พิจารณาถึง ความเชื่อมโยงระหว่างความมั่นคง ด้านน้ำ พลังงาน อาหาร และเปิดโอกาสเผยแพร่ผลงานวิจัย สำหรับนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ผู้ปฏิบัติงานและผู้กำหนดนโยบายในสาขาที่เกี่ยวข้องจากนานาชาติให้ร่วมแบ่งปันและนำเสนอมุมมอง

           หัวข้อ การประชุมสำคัญคือ 1) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการจัดการน้ำ 2) การบริหารจัดการน้ำและโครงการชลประทานแบบมีส่วนร่วม 3) เทคโนโลยีใหม่ๆ ในการจัดการน้ำและสิ่งแวดล้อม 4) การจัดการภัยพิบัติและการบริหารจัดการน้ำบาดาล เพื่อความมั่นคงและยั่งยืนด้านทรัพยากร ณ โรงแรมสวิสโฮเต็ล เลอ คอง คอร์ด กรุงเทพฯ

 

ถกคนอาเซียนใช้งานวิจัยแก้"น้ำท่วม-ภัยแล้ง"

 

          ในการประชุมดังกล่าวมีการกล่าวถึง “มาตรการแก้ปัญหาเรื่องการจัดการน้ำภายใต้ความร่วมมือของประเทศอาเซียน” ผ่านการพูดคุยตัวแทนด้านนโยบายจากประเทศในกลุ่มอาเซียน คือ มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทย เพื่อนำเสนอข้อมูล แนวทางการบริหารจัดการน้ำของแต่ละประเทศ

          สรุปได้ว่า ปัญหาที่ประเทศกลุ่มอาเซียนมีเหมือนกันคือ ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และน้ำเสีย มีสาเหตุของการเกิดที่แตกต่างกันออกไป อย่างฟิลิปปินส์มักประสบปัญหาหลักเรื่องพายุ มาเลเซียประสบปัญหาหลักคือปริมาณน้ำจากฝั่งไทยที่ไหลไปยังมาเลเซีย หรือ เมียนมาร์ กำลังประสบปัญหาการมีปริมาณน้ำมากที่เกิดจากฝนตกหนัก

 

ถกคนอาเซียนใช้งานวิจัยแก้"น้ำท่วม-ภัยแล้ง"

 

          ทั้งนี้ แม้บางลุ่มน้ำ อาทิ ลุ่มน้ำโขงจะมีหน่วยงานที่ดูแลโดยตรอย่างคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง หรือ (MRC) ซึ่งมีการพูดคุยกันระดับชาติอยู่แล้ว แต่การพูดคุยถึงปัญหาด้านน้ำของแต่ละประเทศอาจมีความลำบากเพราะเป็นลักษณะปัจเจก ซึ่งต่างจากการพูดคุยกันในการจัดงานครั้งนี้เป็นไปในลักษณะของ Asean Network หมายความว่า ใช้ “งานวิจัย” เป็นกลไกเชื่อมที่ปราศจากกำแพงเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน

         อาทิ บางประเทศมีองค์ความรู้การแก้ปัญหาภัยแล้งที่เข้มแข็งก็ถ่ายทอดให้ประเทศอื่นในเครือข่ายอาเซียนได้รับทราบ อย่างกรณีน้ำท่วมของไทยในปี 2554 ถือเป็นบทเรียนครั้งสำคัญที่สำคัญสำหรับประเทศในกลุ่มอาเซียน ที่ได้เรียนรู้เรื่อง การบริหารจัดการเพราะมีมูลค่าของการเสียหายสูง

 

ถกคนอาเซียนใช้งานวิจัยแก้"น้ำท่วม-ภัยแล้ง"

 

          ปัจจุบันเครือข่ายวิชาการด้านการแก้ปัญหาการบริหารจัดการน้ำ ดำเนินการมาได้ 2 ปีแล้ว ซึ่งองค์ความรู้ที่มีการแลกเปลี่ยนกัน จะนำไปส่งให้กับผู้กำหนดนโยบายของแต่ละประเทศ โดยความร่วมมือไม่ใช่แค่การจัดประชุมแต่ยังมีการอบรมเทรนนิ่งที่เชิญทั้งภาควิชาการและภาคนโยบายมาพูดคุยกันในแต่ละปี โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำหน้าที่เป็น “ฮับความรู้” เชื่อมร้อยเครือข่ายวิจัย

          ด้าน ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผอ.สกว.ในฐานะตัวแทนจากประเทศไทยกล่าวถึงความก้าวหน้าด้านงานวิจัยที่สะท้อนให้เห็นถึงทามไลน์ในการแก้ปัญหาด้านน้ำของประเทศว่า ในส่วนของ สกว.ได้สนับสนุนทุนในประเด็นนโยบายสิ่งแวดล้อมของอาเซียนและประเด็นการร่วมมือวิจัยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่านทางฝ่ายนโยบายและสวัสดิภาพสาธารณะ สกว.และโครงการ The Southeast Asia Regional Climate Downscaling (SEACLID) มาตั้งแต่ปี 2553

 

ถกคนอาเซียนใช้งานวิจัยแก้"น้ำท่วม-ภัยแล้ง"

   ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ

 

         ทั้งยังกำหนดกรอบประเด็นการวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Research Issues) หรือ SRI โดยหนึ่งในนั้นมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ การจัดการสิ่งแวดล้อม ที่ดิน น้ำ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของเอเชียตะวันออกและชุมชนอาเซียน โดยเฉพาะประเด็นการจัดการทรัพยากรน้ำ ผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การใช้ประโยชน์จากที่ดิน มีเป้าหมายให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน

           สำหรับ SRI มุ่งการวิจัยประเด็นทรัพยากรน้ำ การจัดสรรน้ำ เครื่องมือบริหารจัดการน้ำ และการจัดการอุปสงค์การใช้น้ำ โดยเป้าหมายงานวิจัยเหล่านี้คือ การวิเคราะห์ผลออกมาเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อนำส่งข้อมูลไปยังผู้กำหนดนโยบายเพื่อการปฏิบัติจริงได้ อันนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนให้กับประเทศ

          ดังนั้นการประชุมดังกล่าว จึงถือว่าทำให้เกิดการเชื่อมร้อยชุมชนอาเซียนให้มีความเข้มแข็ง สร้างศักยภาพในการแก้ปัญหา ด้านสิ่งแวดล้อมของแต่ละประเทศให้ดีขึ้น

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ