ข่าว

จีนผันน้ำจากใต้สู่เหนือ แล้วไทยผันไปไหน!!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย - โต๊ะข่าวเกษตร

        จีนเป็นชาติมหาอำนาจที่ต้องจับตามอง หลังเปลี่ยนจากระบอบคอมมิวนิสต์มาสู่ทุนนิยม โดยเปิดเสรีในหลายๆ ด้าน กลายเป็นพลังขับเคลื่อนพลิกประเทศอย่างมโหฬาร

         จีนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกาที่ออกจะง่อนแง่นอยู่กับความสำเร็จในอดีต ประเทศพัฒนามีอะไรจีนก็มีอย่างนั้น จีนจึงมีอาคารสูงสำหรับอยู่อาศัยมากที่สุดในโลกกระจายในหลายมณฑล มีโครงสร้างพื้นฐาน โครงข่ายคมนาคม ทั้งสนามบิน รถไฟฟ้าความเร็วสูงถนนทางหลวง และ ฯลฯ  

 

จีนผันน้ำจากใต้สู่เหนือ แล้วไทยผันไปไหน!!

 

         จีนให้ความสำคัญเรื่องน้ำมากเพียงใด ดูได้จากการเป็นประเทศที่เคยขาดแคลนอาหาร ประชากรอดอยาก ผลิตข้าวไม่พอกินจนต้องอพยพหนีตาย วันนี้จีนได้ชื่อว่าเป็นประเทศส่งออกข้าวสุทธิ  เบื้องหลังคือการพัฒนาแหล่งน้ำ นับแต่ ประธาน เหมา เจ๋อ ตุง ยึดอำนาจได้สำเร็จ

          จีนตัดสินใจแก้ปัญหาน้ำท่วมที่คร่าชีวิตผู้คนจำนวนมาก แก้ไขปัญหาขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าด้วย โครงการเขื่อนสามผา ที่ยิ่งใหญ่ แลกกับการอพยพผู้คนไม่น้อยกว่า 3 ล้านคนออกจากพื้นที่

           ขณะเดียวกันพื้นที่บริเวณส่วนเหนือของจีน ซึ่งรวมถึงนครปักกิ่ง กลับประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับการเกษตร การอุตสาหกรรม เพราะมีปริมาณน้ำเพียง 20% ของน้ำทั้งหมด ขณะพื้นที่ส่วนใต้กลับมีน้ำสมบูรณ์ 80%

           โจทย์ของจีนคือทำอย่างไรถึงจะผันน้ำจากใต้ ขึ้นเหนือ เพื่อแก้ปัญหาน้ำขาดแคลน ไม่ว่าเพื่อภาคการเกษตร หรือภาคอุตสาหกรรม เพราะอย่าลืมว่า ภาคอุตสาหกรรมของจีนนั้นมีความสำคัญไม่น้อย และไม่มีโรงงานไหนไม่ใช้น้ำ ไม่ใช้ไฟฟ้า และไม่มีประเทศพัฒนาที่ไหนที่ไม่มีอุตสาหกรรมอยู่ในแถวหน้า จีนคิดโครงการผันน้ำจากใต้สู่เหนือ ตั้งแต่สมัย ดร.ซุนยัดเซ็น จนถึงสมัยประธานเหมา เจ๋อ ตุง ผู้ประกาศให้การสนับสนุนอย่างชัดเจนในปี 2495 ที่ชะงักงันเพราะจีนเผชิญปัญหาใหญ่ โดยเฉพาะปัญหาการเมือง

           จีนลงมือทำโครงการนี้ปี 2545 หรือ 50 ปีให้หลัง เป็นโครงการผันน้ำจากแม่น้ำแยงซีและลำน้ำสาขาขึ้นเหนือ แบ่งเป็น 3 สาย ได้แก่ สายตะวันตก สายกลาง และสายตะวันออก รวมปริมาณน้ำที่ผันปีละ 44,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เท่ากับกว่า 50% ความจุอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งหมดของประเทศไทยเลยทีเดียว

           เส้นทางสายกลางมุ่งผันน้ำจากใต้ไปเหนือ ปลายทางอยู่ที่นครปักกิ่ง ระยะทาง 1,400 กิโลเมตร พอๆกับระยะทางจากภาคใต้ไปสู่ภาคเหนือของประเทศไทย

 

จีนผันน้ำจากใต้สู่เหนือ แล้วไทยผันไปไหน!!

 

          ผันน้ำก็ต้องมีแหล่งน้ำ เป็นอ่างเก็บน้ำความจุประมาณ 33,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ก่อนผันก็เสริมความจุอ่างเพิ่มได้อีก 12,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ใกล้เคียงกับปริมาณที่ต้องผันขึ้นเหนือ 13,000 ล้านลูกบาศก์เมตร

          จีนคิดทำในเชิงยุทธศาสตร์ แก้ปัญหาการขาดแคลนโดยเฉลี่ยทรัพยากรน้ำสร้างความสมดุลส่วนที่ว่าทำอย่างไรนั้น ในทางวิศวกรรมไม่เคยตีบตัน ทำได้ทั้งในรูปคลองเปิด ท่อน้ำ สะพานน้ำ อุโมงค์ ส่งน้ำ และ ฯลฯ และไม่ใช่มุ่งก่อสร้างอย่างเดียว ด้านสิ่งแวดล้อมจีนแผนงาน กำกับควบคุม วิจัยสนับสนุน เช่นเดียวกับที่ประเทศพัฒนาอื่นเขาทำกัน

          จากจีนแล้วหวนกลับมาไทย นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และ ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทานนำคณะไปดูโครงการนี้ พูดเป็นเสียงเดียวว่า มาดูเพื่อศึกษาในฐานะที่ขับเคลื่อนจนสำเร็จ ประเทศไทยเองก็มีโครงการขนาดใหญ่ และมีปัญหาคล้ายกัน บางพื้นที่มีน้ำอุดมสมบูรณ์ ในขณะบางพื้นที่กลับขาดแคลนน้ำ หากผันน้ำข้ามลุ่มน้ำได้ก็จะเกิดประโยชน์มากมาย

 

จีนผันน้ำจากใต้สู่เหนือ แล้วไทยผันไปไหน!!

 

          จริงๆแล้วประเทศไทยเองควรหันมามองอนาคตน้ำอย่างจริงจังเสียที โดยเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่เป็นหัวใจของประเทศในด้านการเกษตรและอุตสาหกรรม รวมทั้งการบริการท่องเที่ยวถ้าหวนกลับไปมองย้อนอดีตของระบบชลประทานสมัยใหม่ ถ้าเอาเขื่อนเจ้าพระยาเป็นตัวตั้ง ก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2500 ทุ่งเจ้าพระยาใช้เขื่อนทดน้ำแห่งนี้จนเต็มศักยภาพ ควบคู่ไปกับเขื่อนพระรามหก ซึ่งเป็นเขื่อนทดน้ำขนาดใหญ่แห่งแรกของประเทศ จึงนำไปสู่การก่อสร้าง เขื่อนภูมิพล ซึ่งแล้วเสร็จในปี 2507

         เพื่อเป็นแหล่งน้ำต้นทุน ทั้งผลิตไฟฟ้าคู่กับส่งน้ำให้ภาคเกษตรกรรม ตามด้วยเขื่อนสิริกิติ์ กระทั่งเริ่มเต็มศักยภาพ ก็ได้ตัวผ่อนแรงคือเขื่อนแควน้อยบำรุงแดนกับเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ทั้งช่วยพื้นที่การเกษตร บรรเทาปัญหาน้ำท่วม เป็นอ่างพวงที่คอยสอดแทรกเข้ามา

 

จีนผันน้ำจากใต้สู่เหนือ แล้วไทยผันไปไหน!!

 

         บัดนี้ เขื่อนภูมิพลโรยแรงลงตามลำดับ ทั้งฝนเหนือเขื่อนน้อยลง มีการสร้างเขื่อนด้านบนมากขึ้น พอๆกับการตัดไม้ทำลายป่าต้นน้ำ ภาระหนักจึงตกที่เขื่อนสิริกิติ์เป็นสำคัญ

         ยุทธศาสตร์น้ำไทยก็ไม่น่าต่างจากจีน คือทำอย่างไรผันน้ำไปเติมอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล ขณะนี้มีน้ำเพียง 50% ของความจุ ในขณะเขื่อนสิริกิติ์เก็บน้ำได้มากถึง 90% อีก 2 เขื่อนก็เต็มเกือบ100%

          กรมชลประทานศึกษาการผันน้ำระหว่างลุ่มน้ำไว้หลายแนวทาง ระยะทางไม่ยาวถึง 1,400 กิโลเมตร เหมือนอย่างจีน แต่อุปสรรคขวากหนามนั้นมากมายยุ่งยากกว่า โดยเฉพาะบรรดานักอนุรักษ์สุดโต่งทั้งหลาย โดยไม่คำนึงว่า หากไม่มีน้ำเติมเข้ามา ต่อไปคนไทยลุ่มเจ้าพระยาจะอยู่ ทำกินอย่างไร ความเจริญก้าวหน้าในอนาคตจะเป็นเช่นไร และ ฯลฯ

          โลกของการพัฒนาไม่ควรพัฒนาลูกเดียว เช่นเดียวกับโลกอนุรักษ์ไม่ควรอนุรักษ์แบบปู่โสมเฝ้าทรัพย์ แหล่งน้ำของประเทศไทยจึงต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการอนุรักษ์เสมอ

 

 

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ