ข่าว

ยางเปิดกรีดเสียหายหนัก! รับ1.6หมื่นบาท/ไร่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย - ดลมนัส กาเจ

          แม้สถานการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้ ยังมีฝนตกหนักในบางพื้นที่ โดยเฉพาะภาคใต้ตอนล่าง ซึ่งทางกรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดการณ์ว่า ช่วงวันที่ 22-25 มกราคม 2560 ภาคใต้จะมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณ จ.สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาสก็ตาม แต่พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยืนยันระหว่างนำคณะ ลงพื้นที่ ใน จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานเร่งสำรวจความเสียหายพื้นที่เกษตรทั้งหมดให้ชัดเจน 3 - 5 วันต้องจบ เพราะหากล่าช้าไปการช่วยเหลือมีปัญหาได้ เพราะจำเป็นต้องฟื้นฟูภายหลังน้ำลดทันที

 

ยางเปิดกรีดเสียหายหนัก! รับ1.6หมื่นบาท/ไร่

 

          นั่น..หมายถึงว่าสัปดาห์ต้องสรุปทุกอย่าง ก่อนที่จะสนอของบประมาณช่วยเหลือกรณีภัยพิบัติในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ในวันพรุ่งนี้ (24 ม.ค.60) ที่นอกเหนือไปจาก มาตรการเยียวยา 3,000 บาท และทางกระทรวงเกษตรฯ จะพิจารณามาตรการเพิ่มเติมโดยใช้เงินกองทุนช่วยเหลือเกษตรกร ที่มีอยู่กว่า 2,000 ล้านบาท ที่จะต้องหาวิธีการ และหลักเกณฑ์รองรับ เพื่อให้ความช่วยเงินได้ครอบคลุมมากขึ้น

ภาคเกษตรเสียหายกว่า 1 ล้านไร่

          สำหรับความเสียหายในภาคการเกษตรจากอุทกภัยน้ำท่วมในครั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯสรุปตัวเลขความเสียหายล่าสุดเมื่อปลาสัปดาห์ที่ผ่านมา เบื้องต้นพื้นที่การเสียหาย1,091,983 ไร่ เป็นนาข้าว 276,343 ไร่ พืชไร่ 55,687 ไร่และพืชอื่น 759,952 ไร่ มีเกษตรกรเดือดร้อน 466,364 5 ราย ในจำนวนนี้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.)สรุปความเสียหายของสวนยางพาราถึง 739,926 ไร่อันนี้ไม่รวมถึงความเสียหาย คลื่นเซาะตลิ่งอีกจำนวนมาก

         ในส่วของภาคการประมง พื้นที่ 12 จังหวัด เกษตรกรเดือดร้อน 20,906 ราย พื้นที่เพาะเลี้ยงเสียหาย 38,001 ไร่ เป็น ปลาและสัตว์น้ำอื่น ๆ 28,606 ไร่ กุ้งก้ามกราม ,กุ้งทะเล, ปูทะเล, และหอยทะเล รวม 9,395 ไร่ ปลาในกระชังและบ่อซีเมนต์ 95,116 ตรม. ด้านปศุสัตว์ โค-กระบือ เสียหาย 372,406 ตัว สุกร 328,612 ตัว แพะ-แกะ 82,020 ตัว สัตว์ปีก8,075,280 ตัว รวม8,858,318 ตัว

 

ยางเปิดกรีดเสียหายหนัก! รับ1.6หมื่นบาท/ไร่

 

วางแผน 2 ระยะแก้ภาคประมง

          พลเอกฉัตรชัย กล่าวว่า ให้กรมประมงเร่งสำรวจความเสียหายเพื่อช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงคลัง ให้แก่ชาวประมงที่ได้รับผลกระทบโดยเร็ว โดยเฉพาะใน จ.สุราษฏร์ธานี เป็นหนึ่งจังหวัดที่ได้รับผลกระทบด้านประมงค่อนข้างมากที่สุด มีพื้นที่ประสบภัยรวม 17 อำเภอ ทางกรมประมงได้กำหนดโรดแมปแผนฟื้นฟูภาคประมงแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ แผนระยะสั้นและระยะปานกลาง โดยกำหนดกรอบระยะเวลาดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายนนี้ ได้แก่ การจัดคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการ การฟื้นฟูพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้แก่เกษตรกร สนับสนุนปัจจัยการผลิตและพันธุ์สัตว์น้ำ รวมถึงแหล่งสินเชื่อแบบผ่อนปรนด้วย

 

ยางเปิดกรีดเสียหายหนัก! รับ1.6หมื่นบาท/ไร่

 

ลดพื้นที่ปลูกยางในพื้นที่ท่วมซ้ำซาก

          ด้านนายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สวนยางพารากว่า 7 แสนไร่ ที่ได้รับเสียหายจากน้ำท่วมนั้น หากเป็นต้นยางกลาง ถึงต้นยางที่เปิดกรีด สามารถอยู่ในสภาพน้ำท่วมได้ถึง 1 เดือน แต่กระนั้น ทาง กยท.มีแผนและแนวทางดำเนินการให้คำแนะนำการบำรุงฟื้นฟูต้น ชดเชยให้ปลูกแทน ชดเชยรายได้เฉพาะหน้า รายละ 3,000 บาท พร้อมจะสำรวจพื้นที่เสียหาย ทั้งหมดภายในสิ้นมกราคม 2560 เพื่อดำเนินการปลูกแทน จ่ายเงินเกษตรกรภายเดือนมีนาคม 2560 และจะให้ลดการปลูกในพื้นที่ท่วมซ้ำซากด้วย

           “การช่วยเหลือแบ่งตามอายุของต้นยาง คือกรณีต้นยางที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปีครึ่ง จะได้รับการจัดงวดงานใหม่ ทั้งเป็นค่าแรงขุดหลุม พันธ์ยาง ปุ๋ย ในการปลูกซ่อม ในส่วนที่เกษตรกรได้ดำเนินการไปแล้วแต่เกิดความเสีย หลังจากนั้นจะจ่ายเงินตามปกติ กรณีต้นยางมีอายุ 2 ปีครึ่ง แต่ไม่เกิน 7 ปี ให้จัดงวดงานภายในงวด และนำเงินคงเหลือในงวดที่ผ่านมารวมกับค่าเงินค่าแรงและวัสดุในงวดถัดไป อีก 1 งวดมาจ่ายให้ก่อน กรณีต้นยางมีการเปิดกรีดแล้วเสียหาย จนเสียสภาพสวน ให้ขอรับการปลูกแทนตามระเบียบ กยท. จำนวนไร่ละ 1.6 หมื่นบาท ภายใต้กรอบงบประมาณที่ได้รับจัดสรร” นายธีธัช กล่าว

 

ยางเปิดกรีดเสียหายหนัก! รับ1.6หมื่นบาท/ไร่

 

สภาเกษตรกรฯแนะแก้ปัญหาให้ตรงจุด

            ส่วนนายสิทธิพร จริยพงศ์ รองประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ คนที่ 2 กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา ทางสภาเกษตรกรฯได้ลงพื้นที่เพื่อทำการเก็บรวบรวมข้อมูล แต่ตอนนี้ตัวเลขยังไม่นิ่ง ต้องรอภายหลังน้ำลดให้เกษตรกรได้กลับเข้าบ้านเรือนแล้วทำการสำรวจทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการเกษตรก่อน จากนั้นสภาเกษตรกรฯจะทำการจัดประชุมเพื่อให้จังหวัดต่างๆดำเนินการรวบรวมความเสียหายของเกษตรกรว่ามากน้อยแค่ไหนแล้วนำเสนอภาครัฐให้ช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง

           “ตอนนี้เท่าที่เหก็น ภาครัฐให้การช่วยเหลือเป็นการเฉพาะหน้าเท่านั้น ถ้าจะฟื้นฟูให้กลับมายั่งยืนดังเดิมต้องเสนอกันอีกครั้งหนึ่ง ส่วนตัวอยากให้ภาครัฐช่วยเหลือเกษตรกรให้ตรงกับความต้องการของเกษตรกรตรงจุดอย่างแท้จริง เพื่อให้เกษตรกรสามารถพัฒนาอาชีพของตนเองได้อย่างยั่งยืนเหมือนเดิม มุมมองการช่วยเหลือที่แท้จริงนั้นเห็นว่าควรแบ่งการช่วยเหลือเป็น 3 ระดับ คือ ระดับเบา ปานกลาง และรุนแรง ทุกระดับควรได้รับการช่วยเหลือตามระดับความเดือดร้อนจากสถานการณ์อุทกภัยในครั้งนี้” นายสิทธิพร กล่าว

ใช้ พด. 6 บำบัดน้ำเสีย

 

ยางเปิดกรีดเสียหายหนัก! รับ1.6หมื่นบาท/ไร่

 

            ขณะที่นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า ทางกรมพัฒนาที่ดินได้ติดตามและสำรวจพื้นที่น้ำท่วมขัง เพื่อเร่งดำเนินการแจกจ่ายสารเร่งซุปเปอร์ พด. 6 ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ที่ใช้ผลิตเป็นสารบำบัดน้ำเสีย และขจัดกลิ่นเหม็น ที่ทางกรมพัฒนาที่ดินได้เตรียมไว้แล้วกว่า 1 แสนซอง โดยให้เจ้าหน้าที่ของสถานีพัฒนาที่ดิน และหมอดินอาสานำไปผลิตเป็นสารบำบัดน้ำเสีย แจกจ่ายให้ประชาชน นำไปเทลงในบริเวณน้ำท่วมขัง ทั้งได้จัดเจ้าหน้าที่เพื่อให้คำปรึกษาแก่เกษตรกรในการฟื้นฟูและแก้ปัญหาดินหลังน้ำลด

           “สารเร่งซุปเปอร์ พด.6 เป็นเชื้อจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติเพิ่มประสิทธิภาพการหมักเศษอาหารในสภาพที่ไม่มีออกซิเจน และย่อยสลายสารอินทรีย์ ขจัดกลิ่นเหม็นและกำจัดลูกน้ำยุงรำคาญ โดย 1 ซอง สามารถผลิตเป็นสารบำบัดน้ำเสีย และขจัดกลิ่นเหม็นได้ 50 ลิตร เพื่อนำไปเทลงในบริเวณน้ำท่วมขัง หรือ แหล่งน้ำที่มีกลิ่นเหม็น” นายสุรเดช กล่าว

           ทั้งหมดเป็นบางส่วนที่บางหน่วยงานได้เตรียมแผนไว้ล่วงหน้าแล้ว ขณะที่หลายหน่วยงานที่ยังรอการสรุปตัวเลขที่ชัดเจน และรอคำสั่งจากเบื้องบนในลักษณะการทำงานเชิงรับเหมือนกับที่ผ่านมา

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ