ข่าว

"โหระพา"แก้หวัด-บำรุงหัวใจ!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย - โต๊ะข่าวเกษตร

         “โหระพา” ผักสวนครัวสกุลเดียวกับกะเพรา และแมงลัก อยู่คู่ครัวไทยมาช้านาน ไม่ใช่เพราะกลิ่นหอมหรือกินได้ทั้งแบบสด นำไปปรุงรสช่วยดับกลิ่นคาวของอาหารหลากเมนู ทว่า ยังอุดมไปด้วยสรรพคุณทางยาหลายขนาน ผักชนิดนี้จึงเป็นอะไรที่ขาดไม่ได้สำหรับการไปจ่ายกับข้าวของแม่บ้านในทุกๆเช้า

          เป็นไม้ล้มลุกโหมดสมุนไพร อายุหลายปี วงศ์ LABIATAE มีต้นกำเนิดจากประเทศอินเดีย ชื่ออื่นๆ อิ่มคิมขาว กอมก้อ นางพญาร้อยชู้ โหระพาไทย โหระพาเทศ ห่อวอซู

          ลำต้น ตรง สูง 8-28 นิ้ว กิ่งก้านเป็นเหลี่ยม แตกกิ่งก้านมาก  ผิวเปลือกลำต้นมีเป็นสีเขียวอมม่วง มีขนปกคลุม ทั้งต้นมีกลิ่นหอ

          ใบ สีเขียวออกเป็นใบเดี่ยว รูปรียาว ปลายและโคนเรียวแหลม ขอบใบเรียบ หรือหยักเล็กน้อย กว้าง 1-3.5 ซม. ยาว 2-6 ก้านใบยาว 0.7-2 ซม.

 

"โหระพา"แก้หวัด-บำรุงหัวใจ!

 

          ดอก ดอกออกเป็นช่อชั้นๆคล้ายฉัตรบริเวณปลายยอด ดอกย่อยมีกลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 5 กลีบ กลีบดอกยาว 9 มม.สีขาวหรือสีแดงเรื่อ

          ผล พอดอกร่วงโรยก็จะติดผลสีน้ำตาล ผลหนึ่งมี 4 เมล็ด เมล็ดกลมรี ยาวราว 2 มม.

          ขยายพันธุ์ เพาะเมล็ด ชอบดินร่วน ความชื้นสูง แสงแดดปานกลาง

         สรรพคุณ :

          ใบสด  -  มีบีตาแคโรทีนสูงช่วยป้องกันโรคหัวใจขาดเลือด และมะเร็งได้ หรือนำใบสด 6-10 กรัม ต้มน้ำดื่มแก้หวัด ขับเหงื่อ แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับลม แก้วิงเวียน หรือตำประคบไขข้ออักเสบ แผลอักเสบ อีกทั้ง นำใบ 20 ใบ ชงน้ำร้อนผสมกับนมให้เด็กดื่มเมื่อเด็กมีอาการปวดท้อง และในใบมีน้ำมันหอมระเหย คุณสมบัติแก้จุกเสียด แน่นท้อง คลายกล้ามเนื้อ ลดซึมเศร้า จึงนิยมนำไปใช้ทำสปาเพื่อคลายความเครียด

 

"โหระพา"แก้หวัด-บำรุงหัวใจ!

 

           ลำต้น  -  ใช้ลำต้นสด  6-10 กรัม ต้มน้ำกินแก้ปวด แก้หวัด ปวดกระเพาะอาหาร  ท้องเสีย จุกเสียดแน่นท้อง เจริญอาหาร ขับเหงื่อ ขับเสมหะ ขับลม ปวดศีรษะ ปวดข้อ หนองใน หรือตำให้ละเอียด คั้นเอาน้ำทาหรือใช้พอกแผลฟกช้ำ แผลเป็นหนองเรื้อรัง แก้พิษถูกงูกัด แมลงสัตว์กัดต่อย กลากเกลื้อน และใช้หยอดหูแก้ปวดหู

          เมล็ด - ใช้เมล็ดแห้ง นำมาต้มหรือแช่น้ำกินเป็นยาระบาย แก้โรคตาแดง และต้อตา

          ราก  - ใช้รากสดหรือรากแห้ง นำเผาไฟให้เป็นเถ้า บดให้ละเอียดใช้พอกบริเวณที่เป็นแผลเรื้อรัง แผลมีหนองในเด็ก

         ข้อควรระวัง - ไม่ควรใช้กับเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ หรือผู้ใหญ่อายุมากว่า 65 ปี

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ