ข่าว

ภาคเกษตรพังกว่า1.5หมื่นล้านบาท!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย - โต๊ะข่าวเกษตร

           แม้สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคใต้ในปัจจุบันประกอบด้วย จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส จะน้อยกว่า มหาอุทกภัยครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติการณ์เมื่อปี 2554 ที่กินพื้นที่ทั้งสิ้น 65 จังหวัดทั่วประเทศ พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายึง 11.20 ล้านไร่ แต่สำหรับพื้นที่ภาคใต้แล้ว ปีนี้ถือว่าหนักหนาสาหัส

 

ภาคเกษตรพังกว่า1.5หมื่นล้านบาท!

 

          อย่างในพื้นที่บางแห่งของจังหวัดนครศรีธรรม ถือว่าเป็นน้ำท่วมครั้งใหญ่ในกว่า 30 ปี ขณะที่ปี 2557 / 2559 น้ำท่วมใน 8 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และตรัง รวมทั้งสิ้น 72 อำเภอ 462 ตำบล 2,744 หมู่บ้าน มีราษฎรได้รับความเดือดร้อน 208,131 ครัวเรือนมีพื้นที่การเกษตร 119,839 ไร่ บ่อปลา/สัตว์น้ำ 3,021 บ่อเท่านั้น

          พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สรุปตัวเลขความเสียหายภายหลังจากการประชุมด่วนหน่วงานที่เกี่ยวข้องเพื่อติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตรในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคใต้ ว่า เบื้องต้นได้รับรายงานความเสียหายภาคการเกษตรในพื้นที่การเกษตรที่คาดว่าจะได้เสียหายประมาณ 980,000 ไร่ เกษตรกรได้รับความเสียหาย 391,500 ราย แบ่งเป็น ข้าว 250,000 ไร่ พืชไร่ 21,000 ไร่ พืชสวนและอื่นๆ 709,000 ไร่

 

ภาคเกษตรพังกว่า1.5หมื่นล้านบาท!

 

         ในจำนวนนี้เป็นยางพารา คาดว่าจะถูกน้ำท่วมมากที่สุด 531,876 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 46 ของพื้นที่ปลูกยางทั้งประเทศ จึงได้สั่งการให้การยางแห่งประเทศเร่งสำรวจต้นยางที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ และได้รับความเสียหายอย่างชัดเจนอีกครั้ง ส่วนด้านประมงพบว่า พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำคาดว่าจะเสียหาย 28,368 ไร่ และกระชัง 44,571.50 ตรม. และด้านปศุสัตว์ สัตว์ได้รับผลกระทบ 5,736,349 ตัว แปลงหญ้า 14,878 ไร่

          ขณะที่ ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ระบุว่า จากการประเมินเบื้องต้นผลกระทบน้ำท่วมภาคใต้ สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ โอกาสการลงทุน การสูญเสียรายได้ของประชาชนและภาคธุรกิจ การท่องเที่ยว ภาคขนส่งคมนาคม ภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรมไม่ต่ำ 85,000-123,841 ล้านบาท เป็นความเสียหายในภาคเกษตรกรรมไม่ต่ำกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท

 

ภาคเกษตรพังกว่า1.5หมื่นล้านบาท!

 

          สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมล่าสุดกรมชลประทานรายงาน ว่ายังมีน้ำท่วมในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคใต้นั้น หลายพื้นที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลายแล้ว แต่ยังมี 2 จังหวัดที่ยังน่าเป็นห่วง คือ สถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดนครศรีธรรมราชซึ่งหนักที่สุด โดยน้ำจะเข้าสู่อำเภอเมืองจังหวัดนครศรีธรรมราช ในวันที่ 11 มกราคมนี้ จึงได้สั่งการให้กรมชลประทานเตรียมการระบายลงสู่ลุ่มน้ำปากพนัง

          ปัจจุบันมีน้ำรวมกว่า 1,000 ลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ พบว่าการแก้ไขน้ำท่วมในจังหวัดพัทลุงแก้ไขยากที่สุด เนื่องจากหากต้องระบายน้ำจากพัทลุงลงทะเลสาปสงขลา จะกระทบกับพื้นที่อำเภอสะทิงพระ และตัวเมืองจังหวัดสงขลา จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เพิ่มการระบายน้ำและให้ศึกษาจังหวะน้ำทะเลขึ้นลง พร้อมกับการทำงานใกล้ชิดกับผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุงและสงขลา ซึ่งการระบายน้ำมีความละเอียดอ่อนต่อคนในพื้นที่ใกล้เคียง ปัจจุบันกรมชลประทานมีเครื่องสูบน้ำอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ที่ถูกน้ำท่วม 105 เครื่อง และยังมีสำรองเพิ่มเติมอีก 134 เครื่อง จากทั้งหมด รวม 627 เครื่อง

 

ภาคเกษตรพังกว่า1.5หมื่นล้านบาท!

 

         ในส่วนของมาตรการให้ความช่วยแหลือเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ พลเอกฉัตรชัย ได้สั่งการให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรฯ ในแต่ละเขตรับผิดชอบกำกับดูแล โดยจะต้องมีการสำรวจความเสียหายจริงเพื่อทำแผนการฟื้นฟูเยียวยาเป็นรายจังหวัด รวมถึงเร่งรัดการช่วยเหลือตามมาตรการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยปี 2559/60 ครัวเรือนละ 3,000 บาท ให้ถึงมือเกษตรกรโดยเร็วที่สุด

         โดยกระทรวงเกษตรฯได้เตรียมการด้านงบประมาณเพื่อการฟื้นฟูเกษตรกร พื้นที่เกษตรกรรม และการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง ที่ทางกระทรวงเกษตรฯ จะพิจารณาแนวทางในการให้ความช่วยเหลือให้รวดเร็วขึ้น โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีนำไปใช้เพื่อให้พิสูจน์ได้ว่า ผลผลิตเสียหายจริงเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในเรื่องระเบียบทางราชการ และเงินช่วยเหลือจะต้องถึงมือเกษตรกรให้สามารถกลับมาทำการเกษตรได้ทันต่อสถานการณ์มากยิ่งขึ้น

 

ภาคเกษตรพังกว่า1.5หมื่นล้านบาท!

 

          แผนการป้องกันน้ำท่วมในระยะกลางและระยะยาว ได้สั่งการให้กรมชลประทานจัดทำแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ 7 โครงการ โดยให้จัดทำเป็นแพคเกจรายกลุ่ม เช่น กลุ่มจังหวัดปัตตานีและ นราธิวาส พร้อมสั่งการให้ศึกษาความเป็นไปได้ ในการนำงบพัฒนากลุ่มจังหวัดดังกล่าว บรรจุในแผนงบกลางในปีงบประมาณ 2560-2561 จากเดิมอยู่ในแผนปี 2563-2564 คาดว่างบประมาณจะอยู่ที่ 3 หมื่นล้านบาท เพื่อป้องกันและแก้ปัญหาน้ำท่วมในระยะกลาง-ยาวช่วงระยะเวลา 3-5 ปี โดยตั้งเป้าให้แผนเริ่มดำเนินการในปี 2561

          นอกจากนี้ได้สั่งการเจ้าหน้าที่ที่ลงพื้นที่รายงานสภาพการเดินทางและคมนาคมทุกวัน เพื่อให้นำความความช่วยเหลือลงสู่พื้นที่ได้สะดวกมากขึ้น ซึ่งในวันที่11 มกราคมนี้จะลงพื้นที่จังหวัดน้ำท่วมภาคใต้ เพื่อทำงานแบบบูรณาการร่วมกัน ทั้งการแก้ปัญหาการช่วยเหลือเฉพาะหน้า รวมถึงการดูแลการอพยพสัตว์ และประชาชนในพื้นที่ช่วงวิกฤตอีกด้วย

 

ภาคเกษตรพังกว่า1.5หมื่นล้านบาท!

 

          กระนั้น แม้สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคใต้เริ่มคลี่คลายลงไปบ้างแล้ว แต่บางพื้นที่ยังทวีความรุรนแรงเพิ่มขึ้น ขณะที่ทางกรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกประกาศเตือนและพยากรณ์อากาศ เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2560 ว่า หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมบริเวณจังหวัดสุราษฏร์ธานี กระบี่ และพังงา คาดว่าจะเคลื่อนตัวลงสู่ทะเลอันดามันตอนบน และอ่าวเมาะตะมะ ประเทศเมียนมา ในอีกวันสองวันถัดจากนั้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่องและยังคงมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง โดยเฉพาะจังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช

         นั่นหมายถึงว่าสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ยังไม่น่าไว้ใจ และบางพื้นที่อาจมีน้ำท่วมอีกครั้งและความเสียหายภาคการเกษตรอาจมากกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท ตามที่ ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประเมินไว้ก็ได้

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ