ข่าว

ดูแลพืชผลหลังน้ำท่วม!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย - ดลมน้ส กาเจ

         สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ปีนี้ถือว่าหนักมากอีกปีหนึ่ง ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สรุปตัวเลขพื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบ ณ วันที่ 9 ม.ค.60 กว่า 9.8 แสนไร่ เกษตรกรได้รับความเสียหาย 391,500 ราย

 

ดูแลพืชผลหลังน้ำท่วม!

 

        อย่างไรก็ตาม ในบางพื้นที่นั้นน้ำเริ่มลดลงแล้ว ทางท่านอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร “สมชาย ชาญณรงค์กุล” บอกว่า ได้จัดทำข้อมูลทางวิชาการ เพื่อให้คำแนะนำแก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในการดูแลสวนไม้ผลในระยะต่าง ๆ แต่เห็นว่าช่วงนี้น้ำเริ่มลดเลยเอาเฉพาะที่ดูไม้ผลหลังน้ำลด เพื่อที่เกษตรกรจะนำไปปฏิบัติได้

         การจัดการสวนไม้ผลหลังน้ำลด เมื่อระดับน้ำในสวนไม้ผลเริ่มลดลงจนกระทั่งเกษตรกรสามารถเดินเข้าไปปฏิบัติงานได้แล้ว เรื่องสำคัญที่เกษตรกรต้องปฏิบัติต่อไป คือ การตัดแต่งกิ่งพร้อมกับการฟื้นฟูความสมบูรณ์ให้แก่ต้นโดยเร็วต่อไป ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะดำเนินการ วิธีปฏิบัติมีดังนี้

 

ดูแลพืชผลหลังน้ำท่วม!

 

         1.ตัดแต่งกิ่งและทรงพุ่มหลังน้ำลด เมื่อดินเริ่มแห้ง ตัดแต่งกิ่ง โดยเอาใบแก่ กิ่งที่ฉีก หัก เหี่ยวเฉา แน่นทึบ และกิ่งที่อยู่ภายในทรงพุ่มที่ใบไม่ได้รับแสงแดดออก เพราะใบพวกนี้ปรุงอาหารไม่ได้หรือได้น้อย แต่กินอาหารมาก รวมทั้งตัดกิ่งใหญ่ออกบ้างเพื่อลดแรงปะทะจากลม ให้ทรงพุ่มโปร่ง เป็นการลดการคายน้ำของพืช และเร่งให้พืชแตกใบใหม่เร็วขึ้น หากมีต้นไม้ผลโค่นล้ม ควรตัดแต่งกิ่งและพยุงต้นไม้ผลที่โค่นล้มตั้งให้ตรงทำไม้ค้ำยันไว้รอบด้าน หากยังมีผลติดอยู่ให้ตัดผลออก เพื่อไม้ให้แย่งสารอาหารที่จะนำไปฟื้นฟูรากและลำต้น

         2.ฟื้นฟูความสมบูรณ์ให้ต้นไม้ผลหลังน้ำลด เกษตรกรควรช่วยให้ไม้ผลฟื้นตัวเร็วขึ้น ด้วยการฉีดพ่นปุ๋ยทางใบให้แก่ไม้ผล เพราะระบบรากยังไม่สามารถดูดน้ำและธาตุอาหารจากดินได้ตามปกติ ปุ๋ยทางใบอาจใช้ปุ๋ยน้ำสูตร 12-12-12 หรือ 12-9-6 หรือจะใช้ปุ๋ยเกล็ดสูตร 21-21-21 หรือ 16-21-27 ละลายน้ำฉีดพ่นก็ได้ จากนั้นเมื่อดินแห้งเป็นปกติ ควรพรวนดินให้แก่ไม้ผล เพื่อเพิ่มออกซิเจนให้แก่รากพืช ทำให้รากพืชแตกใหม่ได้ดีขึ้น รวมทั้งใส่ปุ๋ยบำรุงไม้ผลด้วย

 

ดูแลพืชผลหลังน้ำท่วม!

 

         ในสวนไม้ผล หากถูกน้ำท่วมนานๆ หลังน้ำลดมักเกิดปัญหาโรครากเน่า โคนเน่า ควรป้องกันรักษาด้วยการราด หรือทาโคนต้นไม้ผลด้วยสารเคมีกันรา เช่น เมตตาแลกซิล (ริโดมิล) อีโฟไซท์-อลูมินั่ม (อาลิเอท) หรือ พีซีเอ็นบี (เทอราดลอร์, บลาสลิโคล) หรือสารชีวภัณฑ์ เช่น ไตรโคเดอร์มา หรือจะปรับปรุงสภาพของดินไม่ให้เหมาะต่อการเกิดโรคโดยการโรยปูนขาว หรือโดโลไมท์ เพื่อให้ดินมีสภาพเป็นด่างเล็กน้อยก็ได้

         พื้นที่ที่ประสบอุทกภัย เมื่อน้ำลดแล้ว เกษตรกรสามารถปลูกพืชได้ตามปกติ แต่สิ่งสำคัญที่ต้องปฏิบัติระมัดระวังเป็นพิเศษคือ ต้องดูว่าพื้นที่เดิมที่จะปลูกพืชนั้นเป็นอย่างไร ยังมีน้ำท่วมขังหรือไม่ เพื่อจะได้เตรียมดินได้เหมาะสมก่อนทำการปลูกพืชลงไปได้

 

ดูแลพืชผลหลังน้ำท่วม!

สมชาย ชาญณรงค์กุล

 

          กล่าวคือ หากดินเริ่มแห้งไม่มีน้ำท่วมขังแล้ว ให้เตรียมดิน โดยไถพรวนน้อยครั้ง โดยใช้เครื่องมือที่มีน้ำหนักเบา และทำได้หลังจากที่ดินเริ่มแห้ง ซึ่งเป็นการกำจัดวัชพืชไปด้วยในตัว และลดการรบกวนดิน จากนั้นจึงค่อยปลูกพืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ต่อไป แต่หากดินยังเปียกชื้นอยู่ ไม่ควรไถพรวนโดยเด็ดขาด เพราะจะเป็นการรบกวนดินให้แห้งได้ช้าลง ควรรอจนกว่าดินจะแห้ง

       

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ