ข่าว

“อัคคีทวาร”สมุนไพรปราบริดสีดวง!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย - โต๊ะข่าวเกษตร

           ตามตำรายาไทยโบราณ ได้ให้ความสำคัญกับ “อัคคีทวาร” โดยถือเป็นต้นตำรับของสมุนไพรทลายริดสีดวง (hemorrhoids) อีกทั้ง ยังมีสรรพคุณบรรเทาอีกหลายๆโรค

          เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ในวงศ์  VERBENACEAE ชื่อวิทยาศาสตร์ : Clerodendrum serratum (L.) Moon var. wallichii C.B.Clarke ชื่อตามแต่ละท้องถิ่น ตรีชวา, หลัวสามเกียน, แข้งม้า, พรายสะเลียง, สะเม่าใหญ่, หมากดูกแฮ้ง

 

“อัคคีทวาร”สมุนไพรปราบริดสีดวง!

 

         ต้น ตรง ความสูง 1-4 เมตร เปลือกเรียบสีน้ำตาลอ่อนหรือสีเทาเข้ม ตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อนเป็นเหลี่ยมเปลือกมีรูสีขาวและมีขนปกคลุม

         ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกัน รูปรียาว ปลายใบแหลมเป็นติ่งสั้น โคนสอบขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย

         ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบและปลายยอด ดอกย่อยสีม่วงอ่อน สีม่วงอ่อนอมฟ้า หรือสีชมพูอ่อน มี 5 กลีบดอก เชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น

         ผล เล็กกลมแป้น ผิวผลเรียบเป็นมัน ผลเมื่ออ่อนสีเขียว พอแก่เปลี่ยนเป็นสีดำ ในผลมี 1 เมล็ด

         ขยายพันธุ์ เพาะเมล็ด ชอบความขื้นปานกลาง แสงแดดเต็มวัน

 

“อัคคีทวาร”สมุนไพรปราบริดสีดวง!

 

สรรพคุณ : ต้น - รักษากลากเกลื้อน โรคเรื้อน, ผล - แก้ไอ แก้โรคเยื่อจักษุอักเสบ,ราก - ต้มผสมกับขิง แก้คลื่นเหียน และ ใบ, ราก, ต้น - รักษาริดสีดวงทวาร

วิธีและปริมาณที่ใช้ : 

         1.รักษาริดสีดวงทวาร นำรากหรือต้นยาว 1-2 องคุลี ฝนกับน้ำปูนใสให้ข้นๆทาที่ริดสีดวงทวาร ,นำใบ 10-20 ใบ มาตากแห้ง บดให้เป็นผง แล้วคลุกกับน้ำผึ้งรวง ปั้นเป็นเม็ด กินครั้งละ 2-4 เม็ด ติดต่อกัน 7-10 วัน และใช้ใบแห้งป่นเป็นผง โรยในถ่านไฟ เผาเอาควันรมหัวริดสีดวงให้ยุบฝ่อ

         2.รักษากลากเกลื้อน โรคเรื้อน - ใช้ใบและต้นตำพอกรักษากลากเกลื้อน โรคเรื้อน แก้ปวดศีรษะเรื้อรัง แก้ขัดตามข้อ ดูดหนอง

         3.แก้เสียดท้อง - ใช้ใบต้มรับประทานแก้เสียดท้อง,ใช้รากผสมขิง และลูกผักชีต้ม แก้คลื่นเหียน อาเจียน

 

“อัคคีทวาร”สมุนไพรปราบริดสีดวง!

 

         4.แก้ไอ แก้โรคเยื่อตาอักเสบ - ใช้ผลทั้งสุกและดิบ เคี้ยวค่อยๆ กลืนน้ำ แก้ไอ แก้โรคเยื่อตาอักเสบ และ

         5.เป็นยาขับปัสสาวะ - ใช้ลำต้นต้มน้ำดื่ม

แหล่งข้อมูล : หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์,ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์,พรทิพย์ เต็มวิเศษ และคณะ. ประมวลสรรพคุณสมุนไพรไทย กรุงเทพมหานคร : สำนักงานกิจการโรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก. 2555. 288 หน้า สถาบันแพทย์แผนไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก.

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ