ข่าว

"ข้าววัชพืช"มหันตภัยเงียบ!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย - โต๊ะข่าวเกษตร

 

            ตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจรปี 2559/60 ที่คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ จิสด้า (GISTDA) และกระทรวงมหาดไทย ขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาด้านการผลิตข้าวให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศนั้น กระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดอุปสงค์ข้าวไว้ปริมาณ 25.01 ล้านตันข้าวเปลือก ขณะที่กระทรวงเกษตรฯได้กำหนดอุปทาน  27.17 ล้านตันข้าวเปลือก มากกว่าอุปสงค์เล็กน้อย เพื่อเป็นการเผื่อไว้กรณีแปลงนาประสบภัยธรรมชาติ การระบาดทำลายของศัตรูข้าว

 

"ข้าววัชพืช"มหันตภัยเงียบ!

 

            การระบาดของศัตรูพืชที่ว่านี้ สิ่งหนึ่งที่เกษตรกรมองข้าม เนื่องจากมองแทบไม่ออก คือ “ข้าววัชพืช” ที่แทรกในนาข้าว พบการระบาดรุนแรงครั้งแรกในเดือนพฤษภาคม 2544 ในนาหว่านน้ำตม ที่ ต.เขาสามสิบหาบ อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี และในนาหว่านข้าวแห้ง ในเขต จ.นครนายก และ จ.ปราจีนบุรี เพียง 500 ไร่ และขยายวงกว้างหลายแสนไร่ในปี 2549 ทั่วเขตภาคกลางจนถึงเหนือตอนล่าง รวม 21 จังหวัด และเคยพบว่า ในพื้นที่ 1 ตารางเมตร มีข้าวหางหนาแน่นถึง 800 ต้น เหลือต้นข้าวจริงเพียง 2 ต้นเท่านั้น 

           ดร.จรรยา มณีโชติ นักวิชาการเกษตรเชี่ยวชาญด้านวัชพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร ได้จำแนกลักษณะภายนอกเป็น 3 ชนิด คือ ข้าวหาง ข้าวดีด และข้าวแดง ชนิดที่เป็นปัญหาร้ายแรงของชาวนาคือ ข้าวหาง และข้าวดีด และเคยพบว่า ในพื้นที่ 1 ตารางเมตร มีข้าวหางหนาแน่นถึง 800 ต้น เหลือต้นข้าวจริงเพียง 2 ต้นเท่านั้น

          ด้าน กรมส่งเสริมการเกษตร หน่วยงานที่บูรณาการร่วมกับกรมวิชาการเกษตร ได้ยืนยันข้าววัชพืชยังแพร่ระบาดขยายวงกว้างขึ้นในหลายพื้นที่ โดยส่วนหนึ่งติดไปกับเมล็ดพันธุ์ข้าว เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวจากร้านค้าหรือแหล่งผลิตเอกชนซึ่งไม่ได้มาตรฐานและอาจมีเมล็ดข้าววัชพืชปะปนอยู่ อีกทั้ง ข้าววัชพืชยังติดมากับอุปกรณ์ทำนา โดยเฉพาะรถเกี่ยวนวดข้าว หากเกี่ยวข้าวในแปลงที่มีข้าววัชพืชระบาดรุนแรงมีโอกาสสูงที่เมล็ดข้าววัชพืชจะติดค้างอยู่ในรถ และร่วงหล่นในนาแปลงใหม่ที่รถลงทำงาน

 

"ข้าววัชพืช"มหันตภัยเงียบ!

 

           อีกทั้ง ยังติดมากับปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยชีวภาพที่ผลิตจากวัสดุที่ได้จากนาข้าว เช่น ฟาง แกลบ ขี้เถ้าแกลบ และหน้าดินผสมจากท้องนา ซึ่งเมล็ดข้าววัชพืชมีคุณสมบัติอยู่ได้นานในสภาพต่างๆ ทั้งยังแพร่ระบาดไปกับน้ำในระบบชลประทาน รวมทั้งอาหารเสริมของเป็ดไล่ทุ่ง เพราะส่วนใหญ่เป็นข้าวเปลือกที่มีราคาถูกและมีสิ่งเจือปน

 

            ข้าววัชพืช นับว่าเป็นศัตรูร้ายเพราะแย่งธาตุอาหารและแสงแดดได้ดีกว่าข้าวปลูก ทำให้เจริญเติบโตเร็ว อาจมีความสูงมากกว่าข้าว และจะล้มทับต้นข้าวจริงในระยะออกรวง ทำให้ต้นข้าวปลูกเสียหาย บางชนิดจะออกดอกเร็วกว่าข้าวปลูกและเมล็ดส่วนใหญ่จะร่วงก่อนเก็บเกี่ยว ทำให้มีการสะสมอยู่ในแปลงนา และจะเพิ่มความหนาแน่นมากขึ้นในฤดูถัดไป โดยข้าววัชพืชเพียงต้นเดียวอาจผลิตเมล็ดได้กว่า 1,500 เมล็ด

            แนวทางป้องกันและการกำจัดนั้น นายสำราญ สาราบรรณ์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร กรมวิชาการเกษตร แนะนำว่า ให้ใช้วิธีเลือกใช้เมล็ดพันธุ์ที่ได้มาตรฐาน ไม่มีข้าววัชพืช, หมั่นทำความสะอาดอุปกรณ์ในการทำนา,ใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ ที่ไม่นำวัสดุจากนาข้าวมาผลิตหรือต้องมั่นใจว่าไม่มีข้าววัชพืชปนมา และการใช้ตาข่ายกั้นทางน้ำของชลประทานที่อาจมีข้าววัชพืชด้วย

 

"ข้าววัชพืช"มหันตภัยเงียบ!

 

            นอกจากนี้ ยังมีวิธีธรรมชาติ คือ เลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งในแปลงนา 200 ตัวต่อไร่ เป็นเวลา 2 วัน จะช่วยลดปริมาณเมล็ดข้าววัชพืชที่ร่วงหล่นอยู่บนผิวดินหรือก่อนเพาะปลูกข้าวควรเตรียมดินโดยการไถพรวน เพื่อล่อให้ข้าววัชพืชงอกแล้วไถกลบ 1-3 ครั้ง ทำความสะอาดเครื่องจักรกลเกษตรทุกครั้งก่อนลงทำงานในแปลง

            หลังเตรียมดินก่อนหว่านข้าวใช้สารกำจัดวัชพืช เช่น ไดเมทธานามีด, เพรททิลาคลอร์, บิวทาคลอร์ และสารไธโอเบนคาร์บ ช่วยกำจัดข้าววัชพืชในแปลงนาได้ พอหลังหว่านข้าว 7-8 วัน อาจใช้สารกำจัดวัชพืช ได้แก่ ออกซาไดอาร์กิล, เพนดิเมทธาลิน และไธโอเบนคาร์บ+2,4-D ในการกำจัดข้าววัชพืช หรือวัชพืชในนาข้าวได้ เป็นต้น แต่ต้องใช้สารเคมีอย่างถูกต้องและปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด

            ฉะนั้น ต้องระวัง หากมีข้อสงสัยสอบถามได้ที่ กลุ่มส่งเสริมระบบการผลิตข้าว สำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร โทร.0-2940-6100 หรือสำนักงานเกษตรจังหวัด และสำนักงานเกษตรอำเภอทั่วประเทศ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ