ข่าว

“แม่แตงโซน9”อานิสงส์นาเปียกสลับแห้ง!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย - สุรัตน์ อัตตะ

        ผลสำเร็จจากการทำนาเปียกสลับแห้ง ไม่เพียงใช้น้ำน้อยและทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ยังสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการทำข้าวบรรจุถุงสุญญากาศ ภายใต้ตราสัญลักษณ์ “แม่แตงโซน 9” ผลิตภัณฑ์สร้างชื่อให้แก่ “พัด ไชยวงค์” เกษตรกรดีเด่นสาขาทำนาระดับจังหวัดประจำปี 2559 ที่นำข้าวเปลือกสันป่าตอง 1 ผลผลิตจากการทำนาเปียกสลับแห้งมาสร้างมูลค่าเพิ่ม จนกลายเป็นผลผลิตเด่นสร้างชื่อให้ชุมชนบ้านบวก หมู่ 4 ต.หนองแก๋ว อ.หางดง จ.เชียงใหม่ อันเป็นผลอานิสงส์มาจากโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตง ตอน 9 ซึ่งเป็นพื้นที่อยู่ปลายทางน้ำของโครงการ

          “ชุมชนบ้านบวกตั้งอยู่ปลายน้ำสุดท้ายของโครงการแม่แตง กว่าน้ำจะเดินทางมาถึงที่นาต้องผ่านพื้นที่เกษตรหลายอำเภอ ผ่านชุมชนตัวเมืองเชียงใหม่ บางปีก็แทบจะไม่มีน้ำให้ทำนา เพราะถูกใช้ไปหมดแล้ว จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องร่วมมือกันประหยัดน้ำและใช้ประโยชน์จากน้ำให้คุ้มค่าที่สุด การทำนาเปียกสลับแห้งจึงเป็นอีกวิธีการที่ทำให้ชาวนาช่วยกันประหยัดน้ำได้"

“แม่แตงโซน9”อานิสงส์นาเปียกสลับแห้ง!

           พัด ไชยวงค์ เจ้าของผลิตภัณฑ์ข้าวบรรจุถุงสุญญากาศแม่แตงโซน 9 และประธานศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านบวก ต.หนองแก๋ว อ.หางดง จ.เชียงใหม่ เริ่มทำนาแบบเปียกสลับแห้งเมื่อฤดูกาลผลิต 2558/2559  หลังเข้ารับการอบรมวิธีการทำนาดังกล่าวโดยกรมชลประทานจัดขึ้นที่ จ.นครนายก เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จากนั้นนำมาทดลองทำในพื้นที่นาของตัวเองจำนวน 7 ไร่ จากทั้งหมด 29 ไร่ ซึ่งพื้นที่ทั้งหมดอยู่ในโครงการเกษตรแปลงใหญ่ตามนโยบายรัฐบาล โดยพันธุ์ที่ปลูกเป็นข้าวเหนียวสันป่าตอง 1 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่เกษตรกรนิยมปลูกกันในพื้นที่ทางภาคเหนือ

          สำหรับเทคนิคการทำนาแบบเปียกสลับแห้งแกล้งข้าวหรือเรียกอีกอย่างว่าการทำนาแบบใช้น้ำน้อยนั้น พัดระบุว่าเป็นวิธีการบริหารจัดการน้ำในการทำนารูปแบบหนึ่งที่สามารถลดการใช้น้ำลง โดยไม่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าว ส่วนวิธีการทำเริ่มต้นจากการขังน้ำในแปลงนาลึก 5 เซนติเมตรในช่วงหลังปักดำที่อายุข้าวประมาณ 15-20 วัน จนกระทั่งข้าวอยู่ในช่วงของตั้งท้องออกดอกจึงจะเพิ่มระดับน้ำอยู่ที่ 7-10 เซนติเมตร จากนั้นปล่อยให้ข้าวขาดน้ำครั้งที่ 1 ซึ่งอยู่ในช่วงการเจริญเติบโตทางลำต้นที่อายุข้าว 35-45 วันเป็นเวลา 14 วัน หรือน้ำในแปลงลดต่ำกว่าผิวแปลง 10-15 เซนติเมตรจนทำให้ดินในแปลงนาแตกระแหงแล้วปล่อยให้ข้าวขาดน้ำครั้งที่ 2 ในช่วงข้าวแตกกอสูงสุดอายุประมาณ 60-65 วันเป็นเวลา 14 วัน ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้รากและลำต้นแข็งแรงและวิธีการดังกล่าวนี้สามารถประหยัดน้ำได้สูงสุดถึงร้อยละ 40

        เจ้าของผลิตภัณฑ์ข้าวบรรจุถุงแม่แตงโซน 9  ยังกล่าวถึงผลผลิตที่เพิ่มขึ้นหลังหันมาใช้เทคนิคการทำนาแบบเปียกสลับแห้งเมื่อเปรียบเทียบกับทำนาดำปกติ โดยระบุว่าผลผลิตจะเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 2.55-3.23 กิโลกรัมต่อ 4 ตารางเมตร และสามารถมีผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1,296 กิโลกรัมต่อไร่ จากเดิมอยู่ที่ 907 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งในฤดูกาลผลิตหน้าจะใช้วิธีการทำนาเปียบสลับแห้งทั้งหมด 29 ไร่ หลังจากประสบความสำเร็จในปีนี้ 

          “ตอนนี้ผมก็ไม่ได้ทำนาแบบเปียกสลับแห้งอย่างเดียว แต่จะหาทางเพิ่มมูลค่าข้าวด้วย โดยจะไม่ขายเป็นข้าวเปลือกแต่จะนำมาบรรจุถุงสุญญากาศ ถุงละ 1 กิโลกรัม ภายใต้แบรนด์ของตัวเองที่ชื่อว่าแม่แตงโซน 9 หมายความว่าเป็นผลผลิตที่ได้รับอานิสงส์จากโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตงในโซนสุดท้ายคือโซน 9 ซึ่งจะจำหน่ายในราคาถุงละ 70 บาท” พัดกล่าวทิ้งท้าย

         ข้าวบรรจุถุงสุญญากาศแม่แตงโซน 9 ผลิตภัณฑ์เด่นของเกษตรกรคนเก่งที่ชื่อพัด ไชยวงค์ ที่นำเทคนิคการทำนาแบบเปียกสลับแห้งมาใช้จนประสบผลสำเร็จ ก่อนจะนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อันเป็นผลอานิสงส์จากโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตง สนใจผลิตภัณฑ์ข้าวเหนียวสันป่าตอง 1 บรรจุถุง “แม่แตงโซน 9” โทร.08-3576-6987 ได้ตลอดเวลา 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ