ข่าว

ปรับ “แม่แตง” สร้างแหล่งน้ำต้นทุน เอื้อภาคเกษตร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย - สุรัตน์ อัตตะ

   การจัดทำแผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการทรัพยากรน้ำระยะยาว 10 ปี (พ.ศ.2558-2569) ของรัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่แบ่งยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำเป็น 5 ภารกิจ คือ 1.การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค 2.การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต 3.การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย 4.การจัดการคุณภาพน้ำ 5.การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและป้องกันการพังทลายของดิน ในส่วนของกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์นั้น ถูกมอบหมายให้รับผิดชอบ 2 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต (ภาคเกษตรและอุตสาหกรรม) และการจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย

ปรับ “แม่แตง” สร้างแหล่งน้ำต้นทุน เอื้อภาคเกษตร

           โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือที่จำเป็นต้องมีแหล่งน้ำต้นทุนอย่างเพียงพอ แม้ที่ผ่านมากรมชลประทานได้สนองแนวพระราชดำริในการสร้างอ่างเก็บน้ำขึ้น 2 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดสมบุรณ์ชล และอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา เพื่อเก็บกักน้ำใช้เป็นแหล่งน้ำต้นทุน แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการโดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง ในขณะที่เมื่องถึงฤดูน้ำหลากก็ไม่สามารถป้องกันการเกิดอุทกภัยในตัวเมืองเชียงใหม่ได้ กรมชลประทานมีความจำเป็นในการเดินหน้าปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำรองรับโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธาราเพื่อส่งต่อไปยังนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ จ.ลำพูน 

ปรับ “แม่แตง” สร้างแหล่งน้ำต้นทุน เอื้อภาคเกษตร

           “สำหรับโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา โดยจะผันน้ำโดยเจาะอุโมงค์ส่งน้ำจากลำน้ำแม่แตง (ประตูระบายน้ำแม่ตะมาน) อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ในส่วนที่เกินความต้องการประมาณ 113 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ช่วงฤดูฝนระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงเดือนพฤศจิกายนไปยังอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล และผันน้ำส่วนเกินของอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ประมาณ 47 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ผ่านอุโมงค์ส่งน้ำไปยังอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ประมาณ 160 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในลุ่มน้ำแม่กวง ทั้งด้านการท่องเที่ยว เกษตรกรรมและอุตสาหกรรมใน จ.ลำพูนได้ ขณะดียวกันกรมชลประทานยังมีโครงการส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลกลับไปยังระบบส่งน้ำของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตง เพื่อสนับสนุนให้พื้นที่การเกษตรในลุ่มน้ำแม่แตงในฤดูแล้งประมาณ 25 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ซึ่งจะทำให้ประชาชนที่อยู่ทั้ง 3 ลุ่มน้ำย่อยของลุ่มน้ำปิง ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ทำให้มีความมั่นคงในเรื่องน้ำตลอดปี ทั้งน้ำเพื่อการเกษตร การอุปโภคบริโภค ลดปัญหาน้ำท่วมโดยเฉพาะในลุ่มน้ำแม่แตง รวมทั้งพื้นที่เศรษฐกิจของ จ.เชียงใหม่ และยังเพิ่มพื้นที่ชลประทานของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนแม่กวงอุดมธาราในฤดูแล้งจาก 17,060 ไร่เป็น 76,129 ไร่อีกด้วย”

         ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทานฝ่ายวิชาการกล่าวถึงแผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำในพื้นที่จ.เชียงใหม่ ระหว่างนำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ดูความคืบหน้าการดำเนินโครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตง หนึ่งในแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำที่สำคัญในการเพิ่มความสามารถในการส่งน้ำของโครงการและรองรับโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำแม่กวงอุดมธารา ตลอดจนช่วยลดภาวการณ์เสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำและการเกิดอุทกภัยในพื้นที่ที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี สำหรับโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตงนั้นมีเนื้อที่ครอบคลุม 5 อำเภอ ได้แก่ แม่แตง แม่ริม เมือง หางดง และสันป่าตอง จ.เชียงใหม่ มีผู้ได้รับประโยชน์จำนวน 220 หมู่บ้าน 36 ตำบล รวมพื้นที่ประมาณ 148,000 ไร่ โดยมีระบบชลประทานและอาคารประกอบที่สำคัญอยู่ในความรับผิดชอบได้แก่ ฝายแม่แตง เป็นฝายคอนกรีตเสริมเหล็ก สันฝายยาว 80 เมตร สูง 2.50 เมตรจากระดับพื้นดิน มีความสามารถในการระบายน้ำเมื่อเกิดน้ำหลาก 461.60 ลบ.ม.ต่อวินาที ประตูระบายน้ำปากคองสายใหญ่ มีประตูระบายน้ำ 2 ช่อง กว้าง 3 เมตร สูง 6 เมตร ระบายน้ำได้สูงสุด 24 ลบ.มต่อวินาที ประตูระบายน้ำทรายสูง 8 เมตร กว้าง 4 เมตร รวม 3 ช่อง ทำนบดิน เนื่องจากฝายแม่แตงได้สร้างขึ้นในช่องลัดลำน้ำแม่แตงเดิม จึงถูกปิดกั้นไว้ด้วยทำนบดิน ซึ่งมีความยาว 423 เมตร ทางระบายน้ำฉุกเฉินเป็นคันดินต่อจากทำนบดินที่ปิดกั้นลำน้ำแม่แตงเดิม มีทางระบายน้ำล้นยาว 444 เมตร ระบบคลองส่งน้ำสายใหญ่ การส่งน้ำของโครงการส่งน้ำด้านซ้ายของคลองส่งน้ำสายใหญ่ด้านเดียว โดยมีความยาวทั้งสิ้น 74.5 กิโลเมตร เป็นคลองดาดคอนกรีต 30.5 กิโลเมตรและคลองดิน 44 กิโลเมตร ระบบส่งน้ำคลองซอย มีทั้งหมด 23 คลองซอยและมีท่อพิเศษส่งน้ำเข้ามาอีก 3 คลองซอย รวมเป็น 26 คลองซอยและมีคลองแยกซอยอีก 38 คลองซอย รวมความยาวของคลองซอยและคลองแยกซอยทั้งสิ้น 238.4 กิโลเมตรและคูระบายน้ำจำนวน 38 สาย รวมความยาว 119.3 กิโลเมตร มีอาคารต่างๆ ในคูส่งน้ำ 1,066 แห่ง

        สำหรับโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตงได้ก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งโครงการเมื่อปี 2516 มีพื้นที่รับประโยชน์จากโครงการในด้านต่างๆ ประกอบด้วย ด้านการเกษตร แบ่งเป็นปลูกข้าวนาปีประมาณ 66,210 ไร่ ปลูกพืชฤดูแล้งประมาณ 35,500 ไร่ ปลูกไม้ผล 27,925 ไร่ บ่อปลา 1,019 ไร่ ด้านอุปโภคบริโภค มีการส่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคให้แก่หน่วยงานต่างๆ อาทิ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กองบิน 41 และราษฎรที่อยู่ในเขตพื้นที่โครงการด้านการประปา โดยได้ส่งน้ำให้การประปาส่วนภูมิภาคเชียงใหม่ประมาณ 4.53 ล้านลบ.ม.ต่อปี ส่งน้ำสนับสนุนสวนหลวงร.9 และศูนย์สมุนไพรกองบิน 41 ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องมาจากพระราชดำริ ด้านส่งเสริมการอนุรักษ์ประเพณีและวัฒนธรรม โดยส่งน้ำเข้าคูเมือง จ.เชียงใหม่ เพื่อสนับสนุนเทศกาลสงกรานต์

    รองอธิบดีกรมชลประทานย้ำด้วยว่าปัจจุบันพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตงประสบปัญหาหลายอย่าง อาทิ ความต้องการใช้น้ำมีเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ปริมาณน้ำต้นทุนมีไม่แน่นอน มีการเปลี่ยนแปลงสภาพการใช้น้ำในพื้นที่โครงการ ประกอบกับระบบชลประทานและอาคารก่อสร้างมาเป็นเวลานานมีการชำรุดเสียหายและรั่วซึม ทำให้เกิดการสูญเสียน้ำในระหว่างการส่งน้ำเป็นจำนวนมาก  นอกจากนั้นในพื้นที่ อ.หางดง และอ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพื้นโครงการจำนวน 2,760 ไร่ เป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากอีกด้วย หากมีการปรับปรุงโครงการตามที่กรมชลประทานได้ศึกษาความเหมาะสมไว้ก็จะสามารถป้องกันการเกิดอุทกภัยที่เกิดขึ้น  

       “แนวทางแก้ไขโครงการแม่แตงมีอยู่ 2 ส่วน คือ เพิ่มน้ำต้นทุนด้วยการขยายแก้มลิง ยกระดับสันฝาย ขยายท่อส่งน้ำ ปรับปรุงระบบสูบน้ำและหาแหล่งน้ำสำรองแล้วยังมีการทบทวนการพัฒนาอ่างเก็บน้ำแม่แตง-แม่ขาน เพราะเป็นลำน้ำสายเดียวที่ยังไม่มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่เหมือนกับแม่งัดและแม่กวง ส่วนที่สองจะมีการปรับปรุงระบบส่งน้ำและระบายน้ำทั้งสายก่อนจะไหลลงสู่แม่ปิงเพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการในช่วงหน้าแล้งและฤดูน้ำหลาก” ดร.สมเกียรติกล่าวทิ้งท้าย  

         โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตง นับเป็นอีกโครงการที่จะสร้างคุณประโยชน์แก่ภาคเกษตรกรรมในพื้นที่ในการเป็นแหล่งน้ำต้นทุนในช่วงหน้าแล้งและจำกัดปริมาณน้ำไหลลงสู่แม่ปิงในหน้าฝนช่วยป้องกันการเกิดอุทกภัยในตัวเมืองเชียงใหม่และพื้นที่ใกล้เคียงได้เป็นอย่างดี

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ