ข่าว

ฉลาดใช้ “สารเคมีเกษตร” สู่ทางรอดเกษตรกรไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ดร.วีรวุฒิ กตัญญูกุล อดีตนายกสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร

              สารเคมีเกษตร หากนำไปใช้ไม่ถูกต้องและขาดความระมัดระวังย่อมเกิดอันตรายได้ ไม่แตกต่างจากสรรพสิ่งทั้งหลายรอบๆ ตัวเรา ซึ่งมีทั้งคุณและโทษเปรียบเสมือนเหรียญสองด้าน สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเป็นที่ยอมรับทั่วโลกว่าเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร หากใช้อย่างถูกต้องสามารถผลิตอาหารที่ปลอดภัยแก่ผู้บริโภคได้ หากไม่ศึกษาให้ดี ใช้ผิด ใช้พร่ำเพรื่อก็อาจเกิดโทษถึงตายได้

ฉลาดใช้ “สารเคมีเกษตร” สู่ทางรอดเกษตรกรไทย

              เหตุผลที่ประเทศไทยสามารถผลิตอาหารได้มากเพียงพอในการบริโภคภายในประเทศแล้ว ยังเหลือส่งไปเลี้ยงประชากรโลกติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลกได้ เพราะส่วนหนึ่งจากการใช้ปัจจัยการผลิตทั้งปุ๋ยเคมีและสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ส่วนผู้ปรักปรำว่าประเทศไทยใช้ยาปราบศัตรูพืชมากที่สุดในโลกหรือมากกว่าสหรัฐอเมริกา 5 เท่า น่าจะมโนมากกว่า ไม่ทราบว่าข้อมูลจากไหน เพราะสหรัฐอเมริกามีพื้นที่ปลูกพืชมากถึง 1,015 ล้านไร่ ใช้สารกำจัดศัตรูพืช 3.9 แสนตันต่อปี มากกว่าประเทศไทย 5 เท่า มีอัตราการใช้ 0.38 กิโลกรัมต่อไร่ สูงกว่าประเทศไทย 2 เท่าตัว ประเทศไทยใช้เพียงไร่ละ 0.176 กิโลกรัมต่อไร่ ประเทศที่ใช้มากที่สุดในโลกคือประเทศจีน ใช้สูงกว่าไทย 4 เท่า อัตราการใช้ 0.70 กิโลกรัมต่อไร่ ส่วนประเทศญี่ปุ่นมีเนื้อที่เพียง 27 ล้านไร่ ใช้ 2.3 กิโลกรัมต่อไร่ สูงกว่าไทย 13 เท่า และส่วนใหญ่ใช้ในนาข้าว ทำไมประเทศเหล่านี้จึงไม่มีปัญหามากเหมือนประเทศไทย

           ขณะนี้ประเทศไทยใช้กฎหมายควบคุมการนำเข้ายาปราบศัตรูพืชที่เข้มงวดที่สุดตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2551 หากเปรียบเทียบในหมู่สมาชิกประชาคมอาเซียนด้วยกัน ไทยได้ยกเลิกการใช้ยาปราบศัตรูพืชชนิดที่อันตรายร้ายแรงและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า 100 ชนิด ยาปราบศัตรูพืชที่อนุญาตให้นำเข้ามาจำหน่ายได้ผ่านการกลั่นกรองจากบริษัทผู้ผลิตเป็นเวลามากกว่า 10 ปี และต้องผ่านการทดสอบจากองค์การสิ่งแวดล้อม องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ และต้องทดลองประสิทธิภาพในประเทศไทยก่อนจะอนุญาตให้จำหน่ายได้

          ก่อนประกาศใช้ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2551 มีทะเบียนวัตถุอันตรายมากกว่า 25,000 ทะเบียน ปัจจุบันทะเบียนที่ได้รับอนุญาตเพียง 9,000 ทะเบียน ขณะนี้มีใบคำขอทะเบียนอีกหลายพื้นที่ มีข้อมูลการทดลองตามข้อบังคับของกฎหมายครบถ้วนและรอการพิจารณาจากทางราชการอยู่ แต่มีบุคคลบางกลุ่มท้วงติงว่าการมีทะเบียนมากทำให้เกษตรกรใช้ยาปราบศัตรูพืชมาก ซึ่งไม่น่าจะเป็นเหตุผลที่ถูกต้อง 

ฉลาดใช้ “สารเคมีเกษตร” สู่ทางรอดเกษตรกรไทย

          เพราะขณะนี้มีผู้จัดจำหน่ายเพิ่มมากขึ้นจาก 100 กว่ารายเป็น 500-600 ราย ผู้จัดจำหน่ายเหล่านี้ได้ลงทุนเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามข้อบังคับไปแล้วเป็นเงินไม่ใช่น้อย เมื่อไม่ได้ทะเบียนและรับความเป็นธรรมก็อาจดำเนินธุรกิจไม่ถูกต้องตามกฎหมาย นอกจากนี้แล้วการได้ทะเบียนยากทำให้เกิดช่องทางเลือกปฏิบัติ หาผลประโยชน์ของผู้ที่เกี่ยวข้อง ตรงกันข้ามหากให้ทะเบียนมากเพียงพออย่างเป็นธรรม ทำให้เกิดการแข่งขันโดยเสรีทำให้สินค้ามีราคาถูกลง เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร

           เท่าที่ทราบไม่มีประเทศใดในโลกยกเลิกใช้ยาปราบศัตรูพืชอย่างเด็ดขาด แต่การลดการใช้อาจทำได้ ในกรณีของไทยสามารถลดลงได้ 20-30% หากเกษตรกรฉลาดใช้สารกำจัดศัตรูพืช มีความรู้สามารถวินิจฉัยและจำแนกปัญหาศัตรูพืชได้ถูกต้อง รู้จักคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ดี ใช้ถูกเวลา และถูกอัตรา ใช้อย่างประหยัดและปลอดภัย สิ่งเหล่านี้เกษตรกรส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับข้อมูลเพียงพอ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนทุกฝ่าย รวมทั้งร้านค้ายาปราบศัตรูพืช ผู้ที่มีอิทธิพลโดยตรงต่อเกษตรกรมากที่สุด

               การยกเลิกการใช้ผลิตภัณฑ์ที่อันตรายร้ายแรงไม่ใช่เรื่องยากเพราะทางราชการได้ยกเลิกมามากชนิดแล้ว หากเสนอยกเลิกการใช้ผลิตภัณฑ์ใดต้องมีข้อมูลจริงทางวิทยาศาสตร์ที่แน่ชัด ปราศจากอคติและผลประโยชน์แอบแฝง และต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง 

            ถึงเวลาแล้วที่เราต้องทบทวนตัดสินว่า “การเกษตรของไทยจะอยู่รอดหรือไม่หากไม่พึ่งพายาปราบศัตรูพืช”

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ