ข่าว

“มังกร”ปลาตู้สวยงาม สัตว์เลี้ยงคนเงินหนา!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย - เม่นแคระ

 

            บ้านเราจะรู้จัก “ปลามังกร” กันเป็นอย่างดี ทว่าในชื่อของ “ปลาอโรวานา” เราจะยังไม่ค่อยคุ้นหูกัน แต่ไม่ว่าจะใช้ชื่ออะไร มันนับเป็นปลาสวยงามประดับตู้ของบรรดาเหล่าเศรษฐีที่นิยมเลี้ยงกันไว้ในหลากหลายเหตุผล ทั้งเสริมบารมี เพื่อความเพลิดเพลิน คลายเครียด ก็ว่ากันไป

             ทว่า มูลค่าแต่ของละตัวนั้นน่าตกใจพอสมควร เพราะค่อนข้างสูงมาก อยู่ระดับหลักหมื่นหรือหลักแสน ตามแต่ลักษณะเด่นของแต่ละตัว ดังที่ อ.พีรเดช ทองอำไพ พูดถึงและได้ให้ข้อสังเกตไว้ว่า การเพาะเลี้ยงปลาชนิดนี้น่าจะเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะที่เลี้ยงกันอยู่ในบ้านเราขณะนี้ส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศ เพราะว่าปลาของไทยเราเองสีจะไม่ค่อยสวย ที่รู้จักกันคือ ปลาตะพัดสีเขียว ตะพัดสีเงิน 

 

“มังกร”ปลาตู้สวยงาม สัตว์เลี้ยงคนเงินหนา!

 

            โดยที่นิยมนำเข้ามาเลี้ยงกันเป็นพวก สีทอง จากประเทศมาเลเซียจึงเรียก ทองมาเลเซีย ซึ่งราคาแพงมาก แต่ถ้าเป็นปลาที่นำเข้ามาจากอินโดนีเซียราคาจะย่อมเยาลงมา เรียก ทองอินโดนีเซีย 

            จากที่ผ่านมาการเพาะพันธุ์ ปลาอะโรวานา นี้โดยทั่วไป อ.พีรเดช บอกว่า จะเพาะเลี้ยงกันตามธรรมชาติ คือปล่อยให้อยู่รวมกันหลายตัวเป็นฝูงในบ่อขนาดใหญ่ แล้วให้จับคู่ผสมพันธุ์กันเอง ที่ต้องทำอย่างนี้เพราะ ยังไม่มีวิธีแยกเพศปลาที่ชัดเจน จึงต้องปล่อยให้อยู่รวมกันหลายตัวเพื่อสร้างโอกาสให้ผสมพันธุ์

            จะว่าไปแล้วก็มีปัญหาตามมา คือ บางครั้งปลาเหล่านี้จะมีนิสัยก้าวร้าว และสร้างอาณาเขตของตนเอง อีกอย่างคือไม่สามารถกำหนดสัดส่วนที่เหมาะสมระหว่างตัวผู้และตัวเมียได้ ซึ่งในเมืองไทยเราที่ผ่านมาก็ได้มีความพยายามเพาะเลี้ยง ปลาอโรวานา  เช่นกัน แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร 

 

“มังกร”ปลาตู้สวยงาม สัตว์เลี้ยงคนเงินหนา!

 

            ทำไมไม่ประสบผลสำเร็จ! จุดนี้กลายเป็นโจทย์ให้นักวิจัยหาทางแก้ปัญหา โดยทีมวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนำโดย ดร.นันทริกา ชันซื่อ ใช้วิธีการตรวจสอบทางดีเอ็นเอใช้แยกเพศปลาให้ได้แม่นยำ เพื่อจัดสัดส่วนปลาที่จะปล่อยลงในบ่อได้เหมาะสม ประหยัด คุ้มทุน อีกทั้ง วิธีใช้ก็ง่ายโดยไม่ทำให้ปลาช้ำหรือบาดเจ็บ เพราะเก็บตัวอย่างจากเมือกปลาหรือสิ่งขับถ่ายต่างๆ จากระบบกรองน้ำหรือจากเมือกปลาโดยตรง 

           โดยชุดตรวจสอบที่ว่านี้ จะเป็นกล่องที่ติดตั้งในระบบกรองของตู้ปลาซึ่งจะกรองน้ำที่มีเมือกและสิ่งขับถ่ายของปลาที่ถูกดูดเข้าผ่านช่องกรอง ทำให้เมือกและสิ่งขับถ่ายติดอยู่กับแผ่นใยแก้วภายในกล่อง แล้วนำแผ่นใยนี้มาวิเคราะห์ต่อว่าเป็นเพศผู้หรือเพศเมีย ตรวจวัดได้แม้กระทั่งปลายังไม่โตเต็มที่ถึงวัยเจริญพันธุ์ ที่ตอนนี้สามารถแยกเพศปลาทองมาเลเซีย และแดงอินโดนีเซียได้ 100% 

 

“มังกร”ปลาตู้สวยงาม สัตว์เลี้ยงคนเงินหนา!

 

           วิธีนี้ อ.พีรเดช บอกว่า ปลาจึงไม่เครียด และเมื่อทราบเพศของปลาแล้วก็ทำให้บริหารจัดการได้ง่ายขึ้น โดยนำปลาเพศผู้กับเพศเมียมาใส่ในบ่อตามสัดส่วนที่ต้องการ ไม่จำเป็นต้องปล่อยเลี้ยงในบ่อใหญ่ครั้งละมากๆ เหมือนแต่ก่อน

            อย่างไรก็ตาม ชุดตรวจสอบนี้นับเป็นชุดแรกของโลกที่ทำขึ้นด้วยฝีมือของคนไทย ซึ่งมีโอกาสผลิตและนำไปขายต่างประเทศได้ โดยเฉพาะประเทศที่เพาะเลี้ยง ปลาอโรวานา มากๆ อย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย หรือแม้กระทั่งในเมืองไทยเราเองก็ตาม

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ