ข่าว

กยท.ผนึก ANRPC เร่งขับเคลื่อนยางพาราทั้งระบบ  

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย - โต๊ะข่าวเกษตร

               ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในการประชุมสมัชชาประจำปี 2559 ของสมาคมผู้ผลิตยางธรรมชาติ The Association of Natural Rubber Producing Countries (ANRPC)ณ เมือง Guwahati รัฐ Assam ประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 17-22 ตุลาคม 2559 ที่ผ่านมา มีประเทศสมาชิกเข้าร่วมประชุม จำนวน 11 ประเทศ ประกอบด้วย ประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย จีน อินเดีย ศรีลังกา เวียดนาม กัมพูชา สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และ ปาปัวนิวกินี โดยที่ประชุมมีความเห็นตรงกันว่า ควรผลักดันหรือพยุงราคายาง เพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง โดยการใช้ยางพาราให้มากขึ้น ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ดีและยั่งยืนที่สุด

 

กยท.ผนึก ANRPC เร่งขับเคลื่อนยางพาราทั้งระบบ  

 

               ดังนั้น การใช้ยางธรรมชาติในการทำถนนลาดยางถือเป็นอีกวิธีในเพิ่มปริมาณการใช้ยาง ทั้งนี้ ในที่ประชุม ANRPC จึงมีข้อตกลงว่า ประเทศสมาชิกต้องกำหนดเป้าหมายการใช้ยางธรรมชาติในถนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ของถนนที่สร้างใหม่และซ่อมแซมในช่วง 3 ปีแรก และเพิ่มเป็นร้อยละ 100 ภายใน 5 ปี ซึ่งหากประมาณการใช้ยางพาราผสมยางมะตอยของประเทศสมาชิกANRPCเมื่อใช้ในการลาดถนนทุกเส้นทางทั้งหมดแล้ว จะสามารถเพิ่มปริมาณการใช้ยางธรรมชาติเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าปีละ 1 ล้านตัน โดยผู้แทนแต่ละประเทศจะต้องนำข้อเสนอแนะไปรายงานต่อรัฐบาลของแต่ละประเทศตามช่องทางที่เหมาะสม สำหรับประเทศไทยอาสาที่จะให้ความรู้ทางวิชาการและเป็นที่ปรึกษาให้กับประเทศสมาชิก เนื่องจากประเทศไทยมีความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีมากที่สุด 

                ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟในกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558–2565 และบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการค้าสินค้าเกษตรเป็นความร่วมมือด้านการค้าสินค้าเกษตร ร่วมกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่แสดงเจตจำนงในการซื้อสินค้าเกษตร ได้แก่ ข้าวและยางพาราจากประเทศไทย

 

กยท.ผนึก ANRPC เร่งขับเคลื่อนยางพาราทั้งระบบ  

 

                ทั้งนี้ ยางพารา เป็นสินค้าเกษตรที่สำคัญของไทย ได้มอบให้การยางแห่งประเทศไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบซื้อขายยางกับ บริษัท ซิโนเคม อินเตอร์เนชั่นแนล คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด เป็นบริษัทผู้แทนของประเทศจีน โดยได้ทำสัญญาซื้อขายยาง จำนวน 2 แสนตัน แบ่งเป็น ยางแผ่นรมควันชั้น 3 จำนวน 1.5 แสนตัน และยางแท่งSTR 20จำนวน 5 หมื่นตัน และจะต้องส่งมอบเดือนละ 16,667 ตัน รวม 12 งวด คิดราคาซื้อขายตามราคาเฉลี่ยของตลาดซื้อขายล่วงหน้าโตเกียว (TOCOM) และตลาดซื้อขายยางล่วงหน้าสิงคโปร์ (SICOM) ซึ่งได้ส่งมอบยาง ล๊อตแรกไปเมื่อเดือนเมษายน 2559 จำนวน 16,667ตัน มูลค่า 26 ล้านเหรียญสหรัฐ หลังจากนั้น บริษัท ซิโนเคม ได้ขอชะลอส่งมอบยางล๊อตที่ 2 จนถึงปัจจุบัน

                ดร.ธีธัชกล่าวเพิ่มเติมว่า กยท. มีความพยายามในการเร่งรัดให้ซิโนเคมปฏิบัติตามสัญญา ซึ่งหลังจากมีการเจรจาทางซิโนเคมแจ้งว่าจะชะลอการส่งมอบยางในงวดที่ 2 แต่ทั้งนี้ การดำเนินงานดังกล่าวยังคงอยู่ในช่วงเวลาตามที่ระบุในสัญญา โดยขอฟังผลการเจรจาในเรื่องการสร้างทางรถไฟ ซึ่งตัวแทนจีนยืนยันว่ามีความเกี่ยวพันกันระหว่างสองสัญญานี้ อย่างไรก็ตาม กยท.ได้ขอความชัดเจนในเรื่องของเวลาและขอให้มีการดำเนินการจ่ายเงินในส่วนของคำสั่งซื้อเดิมให้เรียบร้อย

               ทั้งนี้ ปัญหาการชะลอส่งมอบยางให้กับทางซิโนเคมไม่ส่งผลกระทบต่อ กยท. แต่อย่างใด เพราะปัจจุบันมีผู้ซื้อจากหลายบริษัทให้ความสนใจและแสดงความจำนงในการขอซื้อยาง เนื่องจากเห็นว่า กยท. มีบทบาทในการเป็นตัวกลางรวบรวมยางจากเกษตรกรและปรับคุณภาพยางให้ได้มาตรฐาน และขณะนี้กำลังเตรียมที่จะตกลงเรื่องเงื่อนไขราคา ซึ่งซิโนเคมก็เป็นผู้ซื้อรายหนึ่งเช่นกัน และทุกวันนี้สัญญายังคงเดินหน้าซื้อขายยางตามสัญญาต่อไป และที่สำคัญ การขายยางของ กยท. จะเน้นการค้าขายยางโดยมองหาตลาดใหม่ๆ พร้อมทั้งส่งเสริมเครือข่ายพันธมิตร ทั้งภาคเอกชน กลุ่มหรือสถาบันเกษตรกรในการร่วมกันพัฒฯสินค้าและตลาดยาง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบกิจการยางทุกฝ่าย

 

กยท.ผนึก ANRPC เร่งขับเคลื่อนยางพาราทั้งระบบ  

 

                “ส่วนปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความต้องการยางพาราโลกขึ้นอยู่กับแนวโน้มและภาพรวมเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันดิบ การพัฒนาในภาคส่วนอุตสาหกรรมยางสังเคราะห์ และการเปลี่ยนแปลงของส่วนประกอบที่ใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง จากการวิเคราะห์ค่าเฉลี่ยการเติบโตของปริมาณความต้องการยางพาราโลก ซึ่งค่าเฉลี่ยการเติบโตของปริมาณความต้องการยางพาราต่อปีประมาณ ร้อยละ 3.3 ดังนั้น ค่าเฉลี่ยการเติบโตของปริมาณความต้องการใช้ยางต่อปีอาจจะอยู่ในช่วงร้อยละ 2 - 4 ต่อปี

                นอกจากนี้ ราคายางในตลาดล่วงหน้าซึ่งเป็นตลาดที่ทราบปริมาณความต้องการของผู้ซื้อและปริมาณยางที่ต้องเก็บไว้เพื่อส่งมอบ จึงกำหนดราคาได้ แต่เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับราคาซื้อขายยางปัจจุบันในประเทศไทยแล้ว พบว่าราคาสินค้าและค่าขนส่ง รวมถึงค่าภาษีทั้งในประเทศและภาษีนำเข้าในต่างประเทศที่จะเกิดขึ้นจริงแล้ว จะเห็นได้ว่าราคาซื้อขายยางในประเทศไทยมีแนวโน้มจะสูงกว่าราคาในตลาดซื้อขายล่วงหน้าที่เป็นอยู่ เพราะยางที่มีการซื้อขายปัจจุบันในประเทศถือว่ามีคุณภาพสูงกว่ายางที่ถูกเก็บไว้สำหรับซื้อขายในอนาคต ”ดร.ธีธัช กล่าว

  

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ