ข่าว

“พ่อ”... ปราชญ์แห่งสายน้ำ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย - โต๊ะข่าวเกษตร

 

         คงไม่มีใครกล้าปฏิเสธถึงความรอบรู้ในเรื่องน้ำ เป็นอีกศาสตร์ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงได้รับการยอมรับถึงความเชี่ยวชาญเป็นอย่างยิ่ง ด้วยความที่พระองค์สนพระราชหฤทัยในเรื่องการชลประทานมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ จนนำมาซึ่งความผูกพันกับ “น้ำ”

          ดั่งจะเห็นได้จากตลอดระยะเวลาอันยาวนานของการทรงงานหนักตรากตรำอย่างไม่เคยหยุดหย่อน งานศาสตร์ทั้งปวงเกี่ยวกับน้ำ การพัฒนา จัดหาแหล่งน้ำ เก็บกัก ระบาย ควบคุม การทำน้ำเสียให้เป็นน้ำดี ตลอดจนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม จนเป็นที่ประจักษ์ชัด

         ด้วยพระปรีชาสามารถดังกล่าวพิสูจน์ให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพของพระองค์หาผู้เสมอเหมือนได้ยากยิ่ง สมกับคำที่ว่า เป็นปราชญ์ในเรื่องน้ำของแผ่นดินอย่างแท้จริง

 

“พ่อ”... ปราชญ์แห่งสายน้ำ

 

         ตลอดระยะเวลาของการปกครองแผ่นดิน พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมพสกนิกรนับตั้งแต่เสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงตระหนักว่า ภัยแล้งที่ขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร และอุปโภค บริโภค ถือเป็นปัญหาที่รุนแรงและสำคัญที่สุด 

         ฉะนั้น การจัดการทรัพยากรน้ำ การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกและบริโภคอุปโภค นับว่าเป็นงานที่มีความสำคัญและมีประโยชน์สำหรับประชาชนคนไทย ที่จะช่วยให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกได้อย่างสมบูรณ์ตลอดปี

         ปัจจุบันพื้นที่การเพาะปลูกส่วนใหญ่ทุกภาคของประเทศเป็นพื้นที่เพาะปลูกนอกเขตชลประทาน ซึ่งต้องอาศัยเพียงน้ำฝน และน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติเป็นหลัก ทำให้พืชได้รับน้ำไม่สม่ำเสมอตามที่ต้องการ ส่งผลให้ผลผลิตที่ได้รับไม่ดีเท่าที่ควร เนื่องเพราะน้ำคือปัจจัยสำคัญต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอย่างถ่องแท้

“น้ำคือชีวิต”

          “...น้ำคือชีวิต....หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้...” พระราชดำรัส ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2529

         สอดคล้องกับบทความของ ปราโมทย์ ไม้กลัด กรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา และอดีตอธิบดีกรมชลประทาน ผู้เคยถวายงานรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท ที่เผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงห่วงใย ทรงให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับน้ำ ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญของการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพ ให้แก่เกษตรกร ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของแผ่นดินมาตั้งแต่ต้นรัชกาลจนถึงปัจจุบัน

 

“พ่อ”... ปราชญ์แห่งสายน้ำ

 

        ในการจัดการทรัพยากรน้ำ พระองค์ทรงมุ่งขจัดปัญหาความแห้งแล้งอันเนื่องมาจากสภาพของป่าไม้ต้นน้ำเสื่อมโทรม ลักษณะดินเป็นดินปนทราย หรือการขาดแหล่งน้ำจืด การจัดการทรัพยากรน้ำโดยการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำรินั้น มีหลักและวิธีการที่สำคัญๆ คือ การพัฒนาแหล่งน้ำจะเป็นรูปแบบใด ต้องเหมาะสมกับรายละเอียดสภาพภูมิประเทศแต่ละท้องที่เสมอ

         การพัฒนาแหล่งน้ำต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมในด้านเศรษฐกิจ และสังคมของท้องถิ่น และหลีกเลี่ยงการเข้าไปสร้างปัญหาความเดือดร้อนให้แก่คนกลุ่มหนึ่ง หรือสร้างประโยชน์ให้แก่คนอีกกลุ่มหนึ่ง ไม่ว่าประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจเกี่ยวกับการลงทุน ดั่งพระราชดำรัสตอนหนึ่งที่เกี่ยวกับความสำคัญของน้ำที่ต้องมีการจัดการให้มีพอ ระหว่างคณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2536 ว่า

         “...เคยพูดมาหลายปีแล้ว ในวิธีที่ปฏิบัติเพื่อที่จะให้มีทรัพยากรน้ำที่พอเพียงและเหมาะสม คำว่าพอเพียงก็หมายความว่าให้มีพอในการบริโภค ในการใช้ ทั้งในด้านการใช้อุปโภคในบ้าน ทั้งในการใช้ในการเกษตรกรรมอุตสาหกรรมต้องมีพอ ถ้าไม่มีพอ ทุกสิ่งทุกอย่างก็จะชะงักลง แล้วทุกสิ่งทุกอย่างที่เราภูมิใจว่าประเทศไทยเราก้าวหน้า เจริญ ก็จะชะงัก ไม่มีทางที่จะมีความเจริญถ้าไม่มีน้ำ...” 

         จากกระแสพระราชดำรัสทำให้ทุกคนตระหนักถึงความห่วงใยปัญหาเกี่ยวกับน้ำ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีต่อพสกนิกรของพระองค์อย่างแท้จริง

 

“พ่อ”... ปราชญ์แห่งสายน้ำ

 

ปราชญ์แห่งสายน้ำ

         จากปัญหาที่พระองค์ทรงพบเห็นทำให้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่มีอยู่ 4,447 โครงการ เป็นโครงการที่เกี่ยวกับน้ำถึง 3,031 โครงการ และยังขยายผลไปสู่การแก้ปัญหาน้ำท่วม การศึกษาวิจัย อนุรักษ์ แก้ปัญหาและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ด้วยจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาต่างๆ เช่น ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน เป็นต้น 

         พระองค์ทรงพระปรีชาสามารถในด้านการศึกษาวิจัย คิดค้น พัฒนาแหล่งน้ำ ตลอดจนอนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งน้ำอย่างครบถ้วน แสดงให้เป็นที่ประจักษ์ว่าพระองค์ทรงเป็น “ปราชญ์แห่งสายน้ำ” โดยแท้จริง

         สำหรับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ แบ่งเป็น 7 ประเภท ประกอบด้วย      

         1.โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร อุปโภคบริโภค โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร และอุปโภคบริโภค แบ่งเป็นลักษณะโครงการ อาทิ งานอ่างเก็บน้ำ, งานฝายทดน้ำ, งานขุดลอกหนองและบึง, งานสระเก็บน้ำในไร่นา 

         2.โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้า เป็นโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าขนาดเล็กเพื่อใช้ในหมู่บ้าน ประกอบด้วย งานก่อสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำหรือฝายปิดกั้นลำน้ำ ซึ่งมีน้ำไหลตลอดปีในบริเวณที่สภาพภูมิประเทศที่ตั้งเขื่อนหรือฝายกับโรงไฟฟ้ามีระดับความสูงแตกต่างกันมากเพียงพอ เช่น โรงไฟฟ้าพลังน้ำอ่างขาง จ.เชียงใหม่

 

“พ่อ”... ปราชญ์แห่งสายน้ำ

 

        3.โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการอนุรักษ์พื้นที่ต้นน้ำลำธาร เป็นงานพัฒนาแหล่งน้ำในบริเวณพื้นที่ต้นน้ำลำธาร ด้วยการชะลอความเร็วของกระแสน้ำที่ไหล หรือด้วยวิธีการเก็บกักน้ำไว้ตามลำธารลำห้วยเป็นตอนๆ เพื่อที่น้ำจะได้มีโอกาสไหลซึมลงไปเก็บสะสมอยู่ในดินให้มากที่สุด

       4.โครงการป้องกันและบรรเทาน้ำท่วม เป็นการดำเนินการแก้ไข หาทางป้องกันหรือช่วยบรรเทาไม่ให้น้ำไหลบ่าเข้าไปท่วมพื้นที่เกษตรกรรม หรือท่วมพื้นที่ในเขตชุมชนจนได้รับความเสียหาย ตลอดจนการระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มซึ่งมีน้ำท่วมขังให้สามารถใช้เพาะปลูกพืชได้ ด้วยวิธีการที่เหมาะสมกับสภาพของแต่ละท้องที่

      5.โครงการระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่ม เป็นการระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำ โดยคลองระบายน้ำและการสูบ ได้แก่ การระบายน้ำออกจากพื้นที่เพาะปลูก ซึ่งมีน้ำขังอยู่นานหลายเดือนในแต่ละปี โดยการขุดคลองระบายน้ำออกทิ้งทะเล เป็นต้น 

       6.โครงการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำ เป็นการแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสีย ซึ่งปัญหาน้ำเน่าเสียตามแหล่งน้ำและชุมชนต่างๆ ในทุกภาคของประเทศไทย เริ่มมีลักษณะต่างๆ กัน ดังนี้ คือ การบำบัดน้ำเน่าเสียด้วยผักตบชวา, การบำบัดน้ำเน่าเสียโดยวิธีการเติมอากาศ, โครงการศึกษา วิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี เป็นโครงการศึกษา วิจัยวิธีการบำบัดน้ำเน่าเสีย กำจัดขยะมูลฝอย และการรักษาสภาพป่าชายเลนด้วยวิธีธรรมชาติ

       7.โครงการแก้มลิง ลักษณะของโครงการแก้มลิงจะดำเนินการระบายน้ำออกจากพื้นที่ตอนบน เพื่อให้น้ำไหลลงคลองพักน้ำ จากนั้นเมื่อระดับน้ำลดลงจนต่ำกว่าน้ำในคลอง น้ำในคลองจะไหลลงสู่ทะเลตามธรรมชาติ ต่อจากนั้นจะเริ่มสูบน้ำออกจากคลองที่ทำหน้าที่แก้มลิง เพื่อทำให้น้ำตอนบนค่อยๆ ไหลมาเอง จึงทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่ลดน้อยลง จนในที่สุดเมื่อระดับน้ำทะเลสูงกว่าระดับในคลอง จึงปิดประตูระบายน้ำ โดยให้น้ำไหลลงทางเดียว 

 

“พ่อ”... ปราชญ์แห่งสายน้ำ

 

         สำหรับโครงการแก้มลิงมี 2 ประเภท คือแก้มลิงขนาดใหญ่ เป็นคลอง สระน้ำ บึงขนาดใหญ่ ที่รวบรวมน้ำฝนจากพื้นที่บริเวณนั้นๆ ได้แก่ แก้มลิงคลองมหาชัย-สนามชัย และ แก้มลิงอเนกประสงค์ เป็นพื้นที่ชะลอน้ำที่มีขนาดเล็กกว่า ก่อสร้างในระดับลุ่มน้ำขนาดเล็ก มักเป็นพื้นที่ธรรมชาติ เช่น หนอง บึง คลอง ได้แก่ แก้มลิงหนองสมอใส แก้มลิงหนองเจ็ดเส้น

กรมชลประทานสนองพระราชดำริ

          ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงให้ความสำคัญและตระหนักถึงปัญหาความเดือดร้อนที่เกี่ยวกับน้ำของราษฎรทั่วทุกภูมิภาค จึงพระราชทานแนวพระราชดำริจนก่อเกิดเป็นโครงการอันเนื่องจากพระราชดำริในส่วนของกรมชลประทานรับผิดชอบกว่า 2,500 โครงการ ในปัจจุบัน โดยกรมชลประทานเป็นหน่วยงานหลักสนองพระราชดำริในโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อประโยชน์ในกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งการแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนอันเนื่องจากน้ำทั้ง 7 ประเภท

         สรุปผลงานพระราชดำริที่เกี่ยวกับน้ำตั้งแต่ปี 2506-ปัจจุบัน มีโครงการชลประทานอันเนื่องมาจากพระราชดำริมากกว่า 2,000 โครงการ มีพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์จากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริถึง 8,370,085 ไร่ 

          ด้วยพระปรีชาสามารถในการจัดการทรัพยากรน้ำให้เพียงพอต่อการกินอยู่ของพสกนิกร ผ่านแนวพระราชดำริมากมาย จนได้รับขนานพระนามว่า “ปราชญ์แห่งสายน้ำ” ...!!!

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ