ข่าว

“คุ้งกระเบน”โมเดลจัดระเบียบพื้นที่ชายฝั่ง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย - โต๊ะข่าวเกษตร

 

          ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ครอบคลุมพื้นที่กว่า 2,000 ไร่ ต.คลองขุด อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี ก่อตั้งขึ้นตามแนวพระราชดำริในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสิน ที่ จ.จันทบุรี เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2524 โดยมีพระราชดำริแก่ นายบุญนาค สายสว่าง ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ขณะนั้น ความตอนหนึ่งว่า

 

“คุ้งกระเบน”โมเดลจัดระเบียบพื้นที่ชายฝั่ง

 

           “...ให้พิจารณาพื้นที่ที่เหมาะสม จัดทำโครงการพัฒนาด้านอาชีพการประมงและการเกษตร ในเขตพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกของจันทบุรี...” และได้พระราชทานเงินที่ชาวจันทบุรีได้ร่วมทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายในโดยเสด็จพระราชกุศลในโอกาสดังกล่าวเป็นทุนเริ่มดำเนินการ ต่อมาวันที่ 30 ธันวาคม 2524 พระองค์ได้มีพระราชดำริเพิ่มเติม ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน สรุปได้ว่า

           “...ให้พิจารณาจัดหาพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรมหรือพื้นที่สาธารณประโยชน์ เพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาเช่นเดียวกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ ให้เป็นศูนย์ศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาในเขตที่ดินชายทะเล...”

           จังหวัดจันทบุรี จึงร่วมกันหารือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อพิจารณาความเหมาะสม และกำหนดพื้นที่บริเวณอ่าวคุ้งกระเบน ต.คลองขุด อ.ท่าใหม่ เป็นพื้นที่จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีกรมประมงเป็นหน่วยงานหลักในการประสานการดำเนินงานในพื้นที่

 

“คุ้งกระเบน”โมเดลจัดระเบียบพื้นที่ชายฝั่ง

 

           โดยได้รับความร่วมมือจาก กรมประมง กรมพัฒนาที่ดิน สำนักงานจังหวัดจันทบุรี กรมที่ดิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร โครงการชลประทานจังหวัดจันทบุรี กรมชลประทาน สำนักนโยบายและสิ่งแวดล้อม กรมป่าไม้ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด กรมปศุสัตว์ และอื่นๆ 

           วันที่ 26 สิงหาคม 2531 ได้มีพระราชดำริเกี่ยวกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ ในโอกาสที่ประธานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการ นำผู้เข้าร่วมสัมมนาและบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเฝ้าฯ เพื่อรับพระราชทานพระบรมราโชบายเกี่ยวกับการดำเนินงาน ณ ศาลาดุสิดาลัย

          สาระโดยสรุป คุ้งกระเบนเป็นการศึกษาเกี่ยวกับชายทะเล ต้นไม้ต่างๆ ชายทะเล ปลา การประมง โดยศูนย์ศึกษาฯแห่งนี้ได้รับความร่วมมือช่วยเหลือทางวิชาการจากรัฐบาลแคนาดาเป็นระยะเวลา 5 ปี ระหว่างปี 2533-38 โดยมุ่งดำเนินการพัฒนา 4 ปัญหาหลัก

 

“คุ้งกระเบน”โมเดลจัดระเบียบพื้นที่ชายฝั่ง

 

          1.อนุรักษ์ดิน น้ำ ป่าไม้ ทรัพยากรป่าไม้ตามแนวภูเขา พื้นที่ 11,370 ไร่ และจัดเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติป่าปก 2 เส้นทาง เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านอนุรักษ์และการจัดการทรัพยากรป่าไม้ ส่งเสริมและอนุรักษ์ทรัพยากรดินและน้ำด้วยหญ้าแฝก 

          2.ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร ในพื้นที่รอยต่อป่าชายเลนและเชิงเขา อาทิ ส่งเสริมและพัฒนาไม้ผล เช่น เงาะ ทุเรียน มังคุด ในรูปแบบผสมผสานและเกษตรอินทรีย์ โดยผลิตปุ๋ยหมักชีวภาพใช้ไนกิจกรรมการเกษตร เพื่อ ลด ละ เลิกใช้ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ 11- 68% ส่งเสริมการเพาะเห็ดเศรษฐกิจ ส่งเสริมการผลิตข้าวครบวงจร ส่งเสริมการเลี้ยงแพะ

          3.อนุรักษ์ป่าชายเลนรอบอ่าวฯ ราษฎรมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนรอบอ่าวคุ้งกระเบน จำนวน 1,122 ไร่ เพื่อเป็นแหล่งศึกษาด้านนิเวศป่าชายเลนแก่ผู้สนใจและใช้ป่าชายเลนเป็นตัวดูดธาตุอาหารที่เกิดจากกิจกรรมการเลี้ยงกุ้งทะเลรอบอ่าว

 

“คุ้งกระเบน”โมเดลจัดระเบียบพื้นที่ชายฝั่ง

 

          4.ส่งเสริมและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง จัดสรรพื้นที่ป่าชายเลนเสื่อมโทรม 728 ไร่ เพื่อพัฒนาการเลี้ยงกุ้ง แก่สมาชิก 113 ครอบครัว และฟื้นฟูป่าชายเลนในพื้นที่เสื่อมโทรม 312 ไร่ พร้อมส่งเสริมและพัฒนาการเลี้ยงกุ้งทะเลด้วยระบบชลประทานน้ำเค็ม ปัจจุบันมีสมาชิก 197 ราย มีพื้นที่เลี้ยงกุ้งทะเล 1,005 ไร่ และส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์น้ำเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อพัฒนาสู่ “ครัวไทยสู่ครัวโลก” 

          ที่ผ่านมาศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่างคุ้งกระเบนฯ ได้ดำเนินการด้านศึกษาวิจัยทดลองและเผยแพร่ความรู้เพื่ออนุรักษ์และพัฒนาที่เป็นผลดีหลายประการ ได้แก่ คัดเลือกราษฎรรอบศูนย์ 105 ครัวเรือนให้เลี้ยงกุ้งกุลาดำในพื้นที่เสื่อมโทรม 718 ไร่ อนุรักษ์ป่าชายเลนรอบอ่าวและบนเขา ส่งเสริมให้ราษฎรปลูกป่าชายเลนเพิ่มขึ้นทุกปี อนุรักษ์ ควบคุมดูแลหญ้าทะเลให้อุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งอาหารของสัตว์ทะเล

 

“คุ้งกระเบน”โมเดลจัดระเบียบพื้นที่ชายฝั่ง

 

          ทั้งสร้างแปลงพ่อแม่พันธุ์หอยนางรมเป็นอาชีพเสริมรายได้ให้เกษตรกร ส่งเสริมให้ราษฎรเลี้ยงหอยนางรมแบบแขวน เพาะพันธุ์สัตว์น้ำชายฝั่งทะเล คือกุ้งแชบ๊วย กุ้งกุลาดำ ปลากะพงขาว ปลากะรัง ปล่อยลงในป่าชายเลนเพื่อเพิ่มผลผลิต ให้เกิดสมดุลย์ทางธรรมชาติสร้างที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเล ส่งเสริมให้ราษฎรมีอาชีพถาวรยั่งยืน ดูแลให้ความรู้ด้านพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่ราษฎรอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น

         ปัจจุบันศูนย์ฯ มีพื้นที่เป้าหมายครอบคลุมชายฝั่งทะเลโดยรอบรวม 2,000 ไร่ ส่วนพื้นที่รอบนอกได้แก่ ต.คลองขุด ต.สนามไชย และพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งเป็นเขตหมู่บ้านประมงตลอดแนวชายฝั่ง และเขตเกษตรกรรมอีก 3.2 หมื่นไร่ ได้พัฒนาในรูปแบบเดียวกับศูนย์ศึกษาฯเขาหินซ้อน แต่มีเป้าหมายต่างกัน

         โดยศูนย์ฯคุ้งกระเบนฯ เน้นพัฒนาปรับปรุงสภาพแวดล้อมด้านประมงชายฝั่ง เพื่อให้เกษตรกรเพิ่มผลผลิต เลี้ยงตัวเองได้เพื่อให้เหมาะสมกับพื้นที่และภูมิสังคมเป็นสำคัญ

                                                                                    

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ