ข่าว

50ปีกรมส่งเสริมฯ : มุ่งสืบสานงานของพ่อ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย - โต๊ะข่าวเกษตร

            50ปี กรมส่งเสริมการเกษตร : มุ่งสืบสานงานโครงการพระราชดำริ และปฏิรูปภาคเกษตรสู่ Smart Agriculture

            นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า เนื่องในวาระครบรอบ 49 ปี ของการสถาปนากรมส่งเสริมการเกษตร ในวันที่ 21 ตุลาคม 2559 และกำลังจะก้าวขึ้นสู่ปีที่ 50 ถือเป็นโอกาสดีในการประกาศนโยบายและแนวทางการดำเนินงานโครงการประจำปีงบประมาณ 2560 ซึ่งภายหลัง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จสวรรคต คณะข้าราชการกรมส่งเสริมการเกษตรได้มีความมุ่งมั่นตั้งปณิธานเพื่อทำความดีสืบสานงานโครงการพระราชดำริ และน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในการส่งเสริมให้เกษตรกรทำเกษตรตามแนวเกษตรทฤษฎีใหม่ไปสู่การปฏิบัติอย่างยั่งยืน โดยเริ่มต้นจากศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) 882 ศูนย์ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินกิจกรรมภาคการเกษตรและขยายผลไปยังศูนย์เครือข่ายอื่นๆ

 

50ปีกรมส่งเสริมฯ : มุ่งสืบสานงานของพ่อ

 

             นอกจากนี้ ประเทศไทยกำลังจะก้าวสู่ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง ภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาลเพื่อการปฏิรูปภาคการเกษตร ก้าวสู่ Smart Agriculture ด้วยมุมมองที่ว่า “การเกษตรไทยมีจุดแข็ง ทั้งพื้นฐานทรัพยากรธรรมชาติ ศักยภาพของเกษตรกร และผู้ประกอบการ ที่มีการปรับตัวอย่างต่อเนื่อง ยืดหยุ่นตามสถานการณ์และความต้องการของผู้บริโภค” ดังนั้น จึงต้องพัฒนาให้เกษตรกรเป็นผู้ประกอบการด้านการเกษตรมืออาชีพ ซึ่งกรมฯ มีนโยบายส่งเสริมการเกษตรไว้ 4 ด้าน คือ 

             1. การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เน้นเพิ่มคุณภาพผลผลิตโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ใช้ภูมิปัญญาในการผลิตเพื่อบริโภค และความชำนาญในการผลิตเพื่อการค้า 

             2. การส่งเสริมแบบมีส่วนร่วมร่วมคิด วางแผน ตัดสินใจ ลงมือทำ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน 

             3. ส่งเสริมแบบตลาดนำการผลิต ตามรายชนิดสินค้า โดยใช้นวัตกรรมและการตลาดนำ เป้าหมายเพิ่มผลผลิต แปรรูป และบรรจุหีบห่อตามมาตรฐาน 

             4. ส่งเสริมแบบให้การศึกษานอกระบบ เน้นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรกับกลุ่มเกษตรกรทุกขั้นตอน มีภาคีเครือข่ายการทำงาน เน้นการผลิตแบบเกษตรยั่งยืน

 

50ปีกรมส่งเสริมฯ : มุ่งสืบสานงานของพ่อ

 

             เป้าหมายการดำเนินงานในปี 2560 มุ่งเน้นให้เกษตรกร “มีการผลิตที่ได้คุณภาพ มาตรฐาน ราคา และผลตอบแทนสูง เพื่อชีวิตที่ดีกว่า” แนวทางการขับเคลื่อน คือ เกษตรกรต้องมีแผนการผลิตหรือแผนธุรกิจเฉพาะราย เพื่อพัฒนาไปสู่ผู้ประกอบการเกษตรมืออาชีพ นำแนวคิดการส่งเสริมการเกษตรสมัยใหม่มาใช้ในการจัดการ คน และองค์ความรู้ มีการทำงานเชิงระบบ คำนึงถึงห่วงโซ่อุปทาน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การผสมผสานความรู้เทคโนโลยีและภูมิปัญญา รวมถึงหลักการมีส่วนร่วมและหลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยมาตรการที่จะนำมาใช้พัฒนางานส่งเสริมการเกษตร มี 3 มาตรการหลัก ประกอบด้วย

           1. องค์กรแห่งการเรียนรู้สมัยใหม่ มีแผนพัฒนานักวิชาการส่งเสริมการเกษตร, คลังความรู้ (Knowledge Tank), เครือข่ายผู้เชี่ยวชาญงานส่งเสริมการเกษตร, เครือข่าย Smart Farmer ต้นแบบ และฐานข้อมูลองค์ความรู้ทั้งข้อมูลอุตุนิยมวิทยาเพื่อการเกษตร เตือนภัยการระบาดศัตรูพืช การตลาดสินค้าเกษตร/ปัจจัยการผลิต เป็นต้น   

           2. เครือข่ายงานส่งเสริมการเกษตรเข้มแข็ง ใช้การตลาดนำการผลิตในรูปแบบประชารัฐ มีเทคโนโลยีการผลิตเข้มแข็ง โดยถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตพืชตามหลักวิชาการ การใช้ปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ คำนึงถึงการผลิตเพื่อตลาดเฉพาะ เช่น สินค้าปลอดภัย,สินค้า GI,เกษตรอินทรีย์ และการพัฒนาช่องทางการจำหน่ายในตลาดต่าง ๆ

 

50ปีกรมส่งเสริมฯ : มุ่งสืบสานงานของพ่อ

 

           3.แผนการผลิตเฉพาะราย ต้องมีข้อมูลทะเบียนเกษตรกร การพัฒนาเข้าสู่ระบบกลุ่ม การเรียนรู้เทคโนโลยีและปรับใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และสร้างเครือข่ายแผนการผลิตขนาดใหญ่ ให้รองรับตลอดฤดูการผลิต

            อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวต่อไปว่า สำหรับการดำเนินงานที่สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ ยังคงยึดถือไว้ทั้งการส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ โดยขับเคลื่อนในลักษณะ Production Unit ทำต่อเนื่องจากแปลงเดิม 650 แปลง และขยายแปลงใหม่ 350 แปลง เน้นลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต การนำตลาดท้องถิ่นเข้ามาร่วม ด้านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เตรียมผลักดันให้เป็นศูนย์กลางดำเนินการกิจกรรมภาคการเกษตรทั้งหมดของอำเภอในส่วนของภาคประชาชน และศูนย์กลางองค์ความรู้ด้านการเกษตรทุกสาขา รวมทั้งเป็นสถานที่ประสานการดำเนินงานของทุกส่วนราชการเข้ามาทำงานร่วมกัน 

 

50ปีกรมส่งเสริมฯ : มุ่งสืบสานงานของพ่อ

 

           การนำแผนที่การเกษตร (Agri-Map) มาใช้ประโยชน์ ในพื้นที่ที่รับผิดชอบทุกระดับ ตั้งแต่ระดับตำบลจนถึงระดับประเทศ เพื่อวิเคราะห์และจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรทั้งระยะสั้นและระยะยาว ใช้เป็นแนวทางในการส่งเสริมการเกษตรต่อไป การนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เข้ามาใช้ทำการเกษตรให้เป็นการเกษตร 4.0 และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร (Agro-Tourism) โดยปี 2560 ให้นำเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ ศพก. ที่มีศักยภาพ ซึ่งจะทำให้เกิดตลาดสินค้าเกษตรในรูปแบบใหม่ ทั้งนี้ คาดว่าการดำเนินงานต่าง ๆ จะช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของเกษตรกรดีขึ้น และเป็นการยกระดับมาตรฐานการเกษตรสู่ความยั่งยืน หรือ Smart Agriculture ในอนาคต     

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ