ข่าว

 "ห้วยฮ่องไคร้"ต้นแบบ"ป่า3อย่างประโยชน์4อย่าง"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย - โต๊ะข่าวเกษตร

 

                  ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เกิดขึ้นจากการที่ได้รับพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เมื่อวัน 11 ธันวาคม พ.ศ. 2525 ที่พระราชประสงค์ให้เป็นศูนย์กลางในการศึกษา ทดลอง ในพื้นที่ภาคเหนือ และเผยแพร่แก่ราษฎรให้นำไปปฏิบัติได้ด้วยตัวเองต่อไป โดยได้ศึกษาพัฒนาป่าไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง คือ ใช้สอย ไม้ผล ไม้เชื้อเพลิง ซึ่งจะอำนวยประโยชน์ในการอนุรักษ์ดินและน้ำ ตลอดจนคงความชุ่มชื้นเอาไว้ ดั่งมีพระราชดำริว่า “ให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ทำหน้าที่เสมือน ”พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต“ หรืออีกนัยหนึ่งเป็น ”สรุปผลการพัฒนา“ ที่ประชาชนจะเข้าไปเรียนรู้และนำไปปฏิบัติได้”

 

 "ห้วยฮ่องไคร้"ต้นแบบ"ป่า3อย่างประโยชน์4อย่าง"

 

                 ศูนย์แห่งนี้ครอบคลุมพื้นที่กว่า 8,500 ไร่ ตั้งอยู่ในเขตรอยต่อของต.ป่าเมี่ยง และต.แม่โป่ง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ สภาพพื้นที่บริเวณดังกล่าวแต่เดิมนั้น เป็นดินหินกรวด มีหน้าดินตื้นไม่เหมาะสมต่อการใช้ประโยชน์ต่อการเกษตรกรรม แห้งแล้ง ขาดความชุ่มชื้น ธรรมชาติต้องเผชิญกับไฟไหม้ป่าทุกปี ปริมาณน้ำธรรมชาติในพื้นที่ต้นน้ำมีน้อย ไม่เพียงพอที่จะพัฒนามาใช้ประโยชน์ในการดำเนินกิจกรรมในการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำได้ สภาพป่าไม้เสื่อมโทรม รวมทั้งมีการบุกรุกตัดไม้ใช้ประโยชน์โดยชุมชน จนเหลือพันธุ์ไม้อยู่ในธรรมชาติเพียง 35 ชนิด มีความหนาแน่นของต้นไม้ไม่เกิน 100 ต้นต่อไร่

                 จากการดำเนินงานที่ผ่านมา ทางศูนย์ฯมีการฟื้นฟูพัฒนาพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และนอกจากพื้นที่ภายในศูนย์ฯแล้ว ยังพัฒนาพื้นที่หมู่บ้านรอบบริเวณศูนย์ฯ 18 หมู่บ้าน ใน ต.แม่โป่ง ต.แม่ฮ้อยเงิน ต.เชิงดอย ต.ป่าป้อง อ.ดอยสะเก็ด และต.ห้วยแก้ว กิ่งอำเภอแม่ออน จ.เชียงใหม่ และขยายผลไปยังโครงการพัฒนาเบ็ดเสร็จลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำปิง ศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่ โครงการพัฒนาพื้นที่ห้วยลาน โครงการพัฒนาพื้นที่ป่าขุนแม่กวง โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำแม่อาว 

 

 "ห้วยฮ่องไคร้"ต้นแบบ"ป่า3อย่างประโยชน์4อย่าง"

              สำหรับดำเนินกิจกรรมภายในศูนย์ฯจากอดีตจนปัจจุบัน ประกอบด้วย 1.งานศึกษาและพัฒนาป่าไม้ เป็นการพยายามหาเทคโนโลยีด้านป่าไม้ทีเหมาะสมเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาและฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำลำธารบริเวณพื้นที่ภาคเหนือ โดยวิธีก่อสร้างและการกระจายน้ำไปทั่วพื้นที่ ที่เรียกฝายไก้ไก่ หรือฝายแม้วในเขตพื้นที่พัฒนาป่าไม้ด้วยระบบชลประทาน งานวิจัยป่าต้นน้ำดำเนินการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการค้นคว้าทางอุตุอุทกวิทยาลุ่มน้ำการปลูกพืชในระบบเกษตรป่าไม้การป้องกันการพังทลายของดินและศึกษาหาอัตราการสูญเสียหน้าดิน ตลอดจนงานเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์สัตว์ป่าดำเนินการศึกษาและเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์สัตว์ป่า

              2.งานศึกษาและพัฒนาที่ดิน เป็นการสนับสนุนการปฏิบัติของส่วนราชการต่างๆ ให้ได้ใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างถูกต้องตามสมรรถนะของพื้นที่และเหมาะสม 

              3.งานศึกษาและทดสอบการปลูกพืช ประกอบด้วย ไม้ผล ได้แก่ มะม่วงลิ้นจี่มะขามหวานลำไยขนุนและส้มโอ พืชอุตสาหกรรม สับปะรด กระทกรก ฝรั่ง ยางพารา มะคาเดเมีย และมะม่วงหิมพานต์ พืชผัก ได้แก่ ผักตระกูลกะหล่ำ ตระกูลแตง ตระกูลมะเขือ และเห็ดต่างๆ พืชไร่ ได้แก่ ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ถั่วพุ่ม ถั่วมะแฮะ ทานตะวัน และข้าวโพดหวาน งานข้าว ทดลองปลูก ข้าวนาสวน โดยใช้น้ำใต้ดินจากขอบอ่าง (นาน้ำหมาด)นาหว่านน้ำตมนาสวนและข้าวไร่  

 

 "ห้วยฮ่องไคร้"ต้นแบบ"ป่า3อย่างประโยชน์4อย่าง"

 

              4.งานศึกษาและพัฒนาเกษตรกรรมแบบประณีต ดำเนินการโดยยึดหลักการจัดปลูกต้นไม้ยืนต้นประเภทต่างๆ ควบคู่กับพืชล้มลุกที่ใช้เป็นอาหาร ยา ใน 5 รูปแบบ ได้แก่ การทำสวนในไร่ในที่ห่างไกล การทำสวนในไร่ใกล้เมือง การทำสวนในไร่แบบน้ำซึมบ่อทราย การทำสวนในไร่แบบฝนโปรย การทำสวนในไร่แบบเกษตรอุตสาหกรรม การทำสวนในไร่ควบคู่การเลี้ยงสัตว์และหน่วยขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผล ระดับหมู่บ้าน

              5.งานศึกษาและพัฒนาปศุสัตว์และโคนม เป็นการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการเลี้ยงโคนมในส่วนที่เกี่ยวกับการอยู่รอดของสัตว์การเจริญเติบโตการผสมพันธุ์และการให้ผลผลิตโดยให้สอดคล้องกันระหว่างพื้นที่กับจำนวนโคนอกจากนี้ยังเสริมด้วยการเสี้ยงสัตว์ปีกและสุกรอีกด้วย 

             6.งานศึกษาและพัฒนาการประมง เป็นการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการวางระเบียบการจับปลาในแหล่งน้ำ เทคนิคการจับปลาในแหล่งน้ำ ส่งเสริมการเลี้ยงปลา ใช้เป็นแนวทางปฎิบัติสำหรับอ่างเก็บน้ำอื่นๆต่อไป ประกอบด้วยกิจกรรมหลัก 2 กิจกรรม การบริหารการประมง ในอ่างเก็บน้ำห้วยฮ่องไคร้และสาธิตส่งเสริมการเลี้ยงปลาในกระชัง

 

 "ห้วยฮ่องไคร้"ต้นแบบ"ป่า3อย่างประโยชน์4อย่าง"

 

             7.งานอนุรักษ์และการพัฒนาอาชีพการเพาะเลี้ยงกบเป็นการศึกษา ทดลอง ค้นคว้า วิจัย ในการเพาะเลี้ยงเพื่อการอนุรักษ์ การพัฒนาพันธุ์กบและสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำชนิดต่างๆ ที่พบในประเทศไทย เพื่อให้ศูนย์ฯเป็นศูนย์กลางในการให้บริการความรู้ทางวิชาการด้านการเพาะเลี้ยงกบและสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ 

             กล่าวโดยสรุป การดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ ที่เห็นผลได้ชัดเจนแม้จะไม่มีผลกระทบต่อประชนโดยตรง ได้แก่ โครงการศึกษาเกี่ยวกับป่าไม้ เพราะมีผลทำให้สภาพแวดล้อมของป่าในบริเวณศูนย์ฯดีขึ้น ไฟป่าลดลงและอากาศชุ่มชื้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะเขตพื้นที่พัฒนาป่าไม้ด้วยระบบชลประทาน มีการศึกษาทดลองเกี่ยวกับระบบการป้องกันไฟป่าเปียก (Wet Fire Break) ที่ได้ก่อสร้างฝายต้นน้ำขนาดเล็ก และกระจายทั่วไปทำให้ดินและป่ามีความอุดมสมบูรณ์และระบบนิเวศน์ดีขึ้น และสามารถป้องกันไฟป่าในพื้นที่ดังกล่าวได้อย่างสมบูรณ์ 

             นอกจากนี้ยังให้บริการการพัฒนากับประชาชน เช่น การสนับสนุนด้านพันธุ์สัตว์ กล้าไม้ เมล็ดพันธุ์พืช ให้คำปรึกษาแนะนำทางวิชาการที่ประชาชนจะนำไปใช้ในการประกอบอาชีพได้  นี่คือบทพิสูจน์รูปแบบแห่งความสำเร็จเพื่อการเรียนรู้และนำไปสู่การปฏิบัติ การพัฒนาพื้นที่ต้นน้ำลำธาร ที่ยั่งยืนสืบไป

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ