ข่าว

"หนอน-โรค-เพลี้ย"รุมเล่นงาน"ข้าว"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย - โต๊ะข่าวเกษตร

        ช่วงนี้ฝนตกชุก อากาศชื้นเหมาะแก่การระบาดของศัตรูพืชและโรคต่างๆในพืชผักผลไม้ กรมวิชาการเกษตร จึงขอให้เกษตรกรหมั่นตรวจสอบแปลงเกษตรของตนเองด้วยความเอาใจใส่เป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนาข้าว ที่ปลูกข้าวพันธุ์อ่อนแอและปลูกหนาแน่นเกินไป ให้ระมัดระวังเป็นพิเศษ

        1.หนอนห่อใบข้าว ช่วงนี้เป็นช่วงข้าวอยู่ในระยะแตกกอ ลักษณะอาการ ผีเสื้อหนอนห่อใบข้าวจะเคลื่อนย้ายเข้าแปลงนา ตั้งแต่ข้าวยังเล็กและวางไข่ที่ใบอ่อน เมื่อตัวหนอนฟักออกมาจะแทะผิวใบข้าวเป็นแถบยาวสีขาว มีผลทำให้การสังเคราะห์แสงลดลง ข้าวชะงักการเจริญเติบโต

 

"หนอน-โรค-เพลี้ย"รุมเล่นงาน"ข้าว"

 

         การป้องกัน ในพื้นที่ที่ระบาดเป็นประจำ ควรปลูกข้าวสลับพันธุ์กัน 2 พันธุ์ขึ้นไป จะช่วยลดความรุนแรงของการระบาดได้ ,ควรกำจัดวัชพืชอาศัย,เมื่อมีการระบาดของหนอนห่อใบ ไม่ควรใช้ปุ๋ยไนโตรเจนเกิน 5 กิโลกรัม/ไร่ หรือปุ๋ยยูเรียไม่เกิน 10 กิโลกรัม/ไร่ โดยใช้สูตร 16-20-0 ใส่ไม่เกิน 30 กิโลกรัม และเมื่อตรวจพบผีเสื้อหนอน 4-5 ตัวต่อตารางเมตร หรือพบใบข้าวถูกทำลายมากกว่า 15 เปอร์เซ็นต์ ในนาข้าวอายุ 15-40 วัน ให้ใช้สารฆ่าแมลงประเภทดูดซึม เฉพาะพื้นที่ใบถูกทำลายจนเห็นรอยขาวๆ

        2.โรคขอบใบแห้งระบาด ลักษณะอาการ จะซ้ำที่ขอบใบล่าง ต่อมา 7-10 วัน จุดซ้ำนี้จะขยายกลายเป็นทางเหลืองยาวตามใบข้าว ใบที่เป็นโรคจะแห้งเร็วและสีเขียวจะจางเป็นสีเทาๆ  ที่แผลมีหยดน้ำสีครีมเท่าหัวเข็มหมุด ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแผลจะขยายไปตามความยาวของใบ บางครั้งขยายเข้าไปข้างในตามความกว้างของใบ ใบที่เป็นโรคขอบใบจะแห้งและม้วนตามความยาว กรณีต้นข้าวอ่อนแอต่อโรคและเชื้อโรคมีปริมาณมากจะทำให้ท่อน้ำอาหารอุดตัน ต้นข้าวจะเหี่ยวเฉาและแห้งตายทั้งต้น

 

"หนอน-โรค-เพลี้ย"รุมเล่นงาน"ข้าว"

 

         การป้องกัน ใช้พันธุ์ที่ต้านทาน เช่น พันธุ์สุพรรณบุรี 60, 90,1,2 กข 7 และ กข 23,ดินที่อุดมสมบูรณ์ไม่ควรใส่ปุ๋ยไนโตรเจนมาก,ไม่ควรระบายน้ำจากแปลงที่เป็นโรคไปสู่แปลงอื่น,เฝ้าระวังการเกิดโรคถ้าปลูกข้าวพันธุ์ที่อ่อนแอต่อโรคนี้ เช่น พันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 กข 6 เหนียวสันป่าตอง พิษณุโลก 2  ชัยนาท 1 เมื่อเริ่มพบอาการของโรคบนใบข้าว ให้ใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น ไอโซโพรไทโอเลน คอปเปอร์ไฮดรอกไซด์ เสตร็จโตมัยซินซัลเฟต+ออกซีเตทตราไซคลินไฮโดรคลอร์ไรด์ ไตรเบซิคคอปเปอร์ซัลเฟต    

        3.โรคไหม้ข้าวระบาด ที่สาเหตุเกิดจากเชื้อรา ลักษณะอาการ ใบมีแผลจุดสีน้ำตาลลักษณะคล้ายรูปตา หรือกระสวย มีสีอยู่ตรงกลาง แผลมีขนาดแตกต่างกัน และลุกลามติดต่อกันทั้งใบ ถ้าอาการรุนแรงข้าวจะแห้งและฟุบตายในที่สุด 

        การป้องกัน ให้เกษตรกรใส่ใจหมั่นตรวจแปลงข้าวของตนเองเป็นประจำ ถ้าพบลักษณะอาการข้างต้น แนะนำให้ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่าชนิดสด 100 กรัม ผสมน้ำ 20 ลิตร กรองเอาเฉพาะน้ำฉีดพ่นให้ทั่วแปลงที่มีการระบาด และให้หยุดการใช้ปุ๋ยเคมีที่มีธาตุไนโตรเจนสูง เพราะจะทำให้โรคระบาดอย่างรวดเร็วขึ้น และสร้างความเสียหายกับเกษตรกรได้

 

"หนอน-โรค-เพลี้ย"รุมเล่นงาน"ข้าว"

 

       4.เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ลักษณะการเข้าทำลาย ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณโคนต้นข้าวเหนือระดับน้ำ ขณะเดียวกันจะคอยถ่ายมูลน้ำหวาน (honey dew) ออกมา เป็นสาเหตุให้เกิดโรคราดำ จะทำให้ต้นข้าวแสดงอาการใบเหลืองแห้ง คล้ายถูกน้ำร้อนลวก เรียกว่า "อาการไหม้เป็นหย่อม"ซึ่งมันจะทำลายทุกระยะการเจริญเติบโต ทำให้ข้าวได้รับความเสียหาย

        การป้องกัน ควรงดการปลูกข้าวนาปรัง และปลูกพืชอื่นทดแทน เพื่อเป็นการตัดวงจรชีวิตของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล, ควรปลูกข้าวพันธุ์ที่มีความต้านทาน หรือค่อนข้างต้านทานต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ,ควรปลูกข้าวหลายๆพันธุ์ และพยายามหลีกเลี่ยงการปลูกข้าวพันธุ์เดียวตลอดในท้องที่เดียวกัน, ลดการใช้ปุ๋ยยูเรีย, ใช้เมล็ดพันธุ์ในอัตราที่แนะนำ คือ 10-15 กิโลกรัม/ไร่,หมั่นสำรวจตรวจนับเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลตามโคนกอข้าวอย่างสม่ำเสมอ ไร่ละ 10 จุด ๆ ละ 10 ต้น (นาหว่าน) ถ้าเป็นนาดำไร่ละ 10 กอ เมื่อพบ 1 ตัวต่อต้น หรือ 10 ตัวต่อกอ ให้พิจารณาศัตรูธรรมชาติ และสภาพแวดล้อมในนาก่อนตัดสินใจใช้สารเคมี ,ควรใช้สารเคมี และพ่นสารเคมีในจุดที่มีการระบาดเท่านั้น โดยพิจารณาถึงสมดุลย์ของศัตรูพืช และศัตรูธรรมชาติ ตลอดจนการวิเคราะห์ระบบนิเวศน์วิทยาด้วย

       ทั้งนี้ หากต้องการคำแนะนำเพิ่มเติม สอบถามได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอ หรือศูนย์ฯถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตรตำบล ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น!
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ