ข่าว

น้ำยางแทนซีเมนต์! ไอเดียเพิ่มค่ายางนักวิจัย มทร.อีสาน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย - โต๊ะข่าวเกษตร

        การส่งเสริมให้เกษตรกรในภาคอีสาน ปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกยางพาราเมื่อผลผลิตออกสู่ตลาดพร้อมกัน ส่งผลให้เกิดวิกฤติราคายางพาราตกต่ำขึ้น เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน ทำให้หลายหน่วยงานออกมาร่วมกันหาแนวทางในการเพิ่มช่องทางในการนำน้ำยางมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ

        จากวิกฤติปัญหาราคายางพาราทำให้ ดร.เจริญชัย ฤทธิรุทธ หัวหน้าสาขาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น และนักศึกษา จึงมีแนวคิดเพิ่มมูลค่าให้น้ำยางมาใช้เป็นส่วนผสมในคอนกรีต

 

น้ำยางแทนซีเมนต์! ไอเดียเพิ่มค่ายางนักวิจัย มทร.อีสาน

 

        ดร.เจริญชัย กล่าวว่า ยางพาราเป็นสารประกอบที่มีโมเลกุลขนาดใหญ่ จัดเป็นสารประกอบพอลิเมอร์ ที่มีคุณสมบัติด้านความยืดหยุ่นสูง จากการรวบรวมข้อมูลการใช้งานปูนในประเทศปี 57-58 อุตสาหกรรมการก่อสร้างใช้ปูนซีเมนต์กว่า50 ล้านตันต่อปี ขณะที่การใช้ยางพาราทั้งประเทศในปัจจุบันอยู่ที่ 0.6 ล้านตันหากทดแทนสารซีเมนต์ด้วยน้ำยางพาราเพียงร้อยละ 1 ยางพาราจะถูกใช้สูงถึง 0.5 ล้านตัน เชื่อว่าหากใช้น้ำยางพาราทดแทนสารซีเมนต์ เป็นส่วนผสม สามารถนำไปสู่การแก้ปัญหาราคาน้ำยางพาราตกต่ำได้ ขณะที่คอนกรีตที่มีส่วนผสมของน้ำยางพาราก็มีความแข้งแรง มีคุณภาพสูงขึ้นด้วย

        ปัจจุบันการทำคอนกรีตจะใช้วัสดุที่ผสมกันระหว่างสารซีเมนต์หรือ หิน ทรายและน้ำ ในส่วนของภาควิชา จึงเน้นเรื่องการวิจัยคิดค้นผลิตภัณฑ์ที่นำมาใช้ในงานก่อสร้าง ที่เน้นเรื่องความแข็งแรง ทนทาน น้ำหนักเบา จากสภาพปัญหาราคายางพาราที่ตกต่ำจึงมีแนวคิดในการนำน้ำยางพาราเข้ามาเป็นส่วนผสม เชื่อว่าจะส่งผลให้เพิ่มการใช้ยางพาราในประเทศได้มาก ช่วยแก้ปัญหาเรื่องราคายางพาราตกต่ำและลดความเดือดร้อนของชาวสวนยาง

 

น้ำยางแทนซีเมนต์! ไอเดียเพิ่มค่ายางนักวิจัย มทร.อีสาน

ดร.เจริญชัย ฤทธิรุทธ (ขวามือ)

       อย่างไรก็ตาม การเริ่มงานวิจัยนี้ถือเป็นก้าวแรกของการนำยางพารามาผสมกับสารซีเมนต์ จึงต้องพัฒนาคุณสมบัติและทดสอบหาสูตรที่เหมาะสมในการใช้งานจริงและทดลองใช้งานจริง

        “ตามความเข้าใจยางพาราและปูนซีเมนต์ อาจจะเข้ากันไม่ได้ เราสามารถสังเคราะห์ซีเมนต์ตัวใหม่เพื่อผสมกับยางพาราได้ พร้อมกับทดสอบคุณสมบัติทางกล ทั้งความยืดหยุ่น ความอ่อนตัว กำลังรับแรงอัด ระยะเวลาในการก่อตัวความสามารถในการเข้าแบบที่ดีกว่าคอนกรีตทั่วไป ถือว่าเป็นการดึงคุณสมบัติของยางพาราออกมาใช้ทำให้ได้คอนกรีตที่มีคุณภาพมากขึ้น เมื่องานวิจัยสำเร็จ ชาวบ้านสามารถนำข้อมูลไปใช้ในงานก่อสร้างได้ โดยมาขอคำแนะนำได้ที่ คณะวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น”ดร.เจริญชัย 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ