ข่าว

เร่งดันเกษตรกร4จว.เข้าGAP แก้ปัญหารุกพื้นที่ป่าปลูกข้าวโพด!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย - โต๊ะข่าวเกษตร

 

              เกษตรฯวางมาตรการแก้ปัญหาพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เร่งดันเกษตรกร 4 จังหวัดเข้าสู่มาตรฐาน GAP ปีแรกนำร่อง 50,000 ไร่ ใน 5 ปีตั้งเป้า 1.25 ล้านไร่ พร้อมดึงเอกชนผนึกเกษตรกรเครือข่ายเข้าระบบมาตรฐานยกระดับคุณภาพการผลิต

             นางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญชนิดหนึ่งของไทย   ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกกว่า 7.8 ล้านไร่เป็นพื้นที่ที่ถูกต้องตามกฎหมาย 4.1 ล้านไร่ ขณะเดียวกันยังมีการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่เขตป่าไม้ประมาณ 3.7 ล้านไร่ ส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือโดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดน่าน เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา และตาก เป็นต้น   

             จากปัญหาดังกล่าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้ มกอช.เร่งประสานความร่วมมือกับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.) กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร สภาเกษตรกรแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยและสมาคมพ่อค้าข้าวโพดและพันธุ์พืชไทย เพื่อวางมาตรการแก้ไขปัญหาพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั้งระบบเพื่อบูรณาการแก้ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่า/เขาหัวโล้นตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี

 

เร่งดันเกษตรกร4จว.เข้าGAP แก้ปัญหารุกพื้นที่ป่าปลูกข้าวโพด!

 

             ขณะนี้ มกอช.ได้เตรียมแผนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งส่งเสริมให้เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐานสินค้าเกษตรเรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับข้าวโพดเมล็ดแห้ง (GAP)  พร้อมส่งเสริมให้นำมาตรฐานดังกล่าวไปใช้ในการผลิตอย่างจริงจัง โดยปี 2560 ได้ตั้งเป้าผลักดันเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ถูกกฎหมายเข้าสู่มาตรฐาน GAP นำร่องในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเพชรบูรณ์ นครราชสีมา สระบุรี และลพบุรี รวมกว่า 50,000 ไร่ เกษตรกร 3,000-4,000 ราย เป็นการตรวจประเมินโดยส.ป.ก. ประมาณ 30,000 ไร่ และภาคเอกชน ประมาณ 20,000 ไร่ ภายใน 5 ปีข้างหน้าหรือปี 2564 คาดว่า จะสามารถตรวจรับรองแปลงปลูกข้าวโพดตามมาตรฐาน GAP ครอบคลุมพื้นที่ไม่น้อยกว่า 125,000 ไร่ ขณะที่มีพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รอการรับรองมากถึง 675,000 ไร่

           “กระทรวงเกษตรฯได้มีแผนเร่งถ่ายโอนภารกิจการตรวจรับรองมาตรฐาน GAP ข้าวโพดเมล็ดแห้งให้แก่หน่วยรับรองภาคเอกชน เช่น บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อความรวดเร็วในการตรวจรับรองและสามารถดำเนินการได้ทันกับความต้องการของเกษตรกร โดยผู้ประกอบธุรกิจอาหารสัตว์หรือผู้รับซื้อที่ต้องการใบรับรอง GAP ต้องร่วมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการตรวจรับรองมาตรฐานด้วย” เลขาธิการ มกอช.กล่าว

           นางสาวดุจเดือน กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีภาคเอกชนรายหลายยื่นมือเข้าช่วยแก้ไขปัญหาพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เช่น บริษัท ซี.พี.,เบทาโกร ซึ่งได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ อาทิ ส.ป.ก. กรมวิชาการเกษตร รวมถึงสหกรณ์การเกษตรในพื้นที่ ส่งเสริมให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิต พร้อมเพิ่มปริมาณผลผลิต ที่สำคัญยังมีการเตรียมความพร้อมเกษตรกรเครือข่ายเพื่อขอรับการรับรองมาตรฐาน GAP โดยเกษตรกรประมาณ 75 % อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินของ ส.ป.ก.ส่วนเกษตรกรที่อยู่นอกเขต ส.ป.ก.ทางกระทรวงเกษตรฯได้มีแผนส่งเสริมการตรวจรับรองมาตรฐาน GAP แบบกลุ่ม ซึ่งจะทำได้ง่ายกว่ารายเดี่ยว

          “สำหรับการตรวจรับรองมาตรฐาน GAP ข้าวโพด จะดำเนินการระหว่างการผลิตเท่านั้น ซึ่งเริ่มมีการตรวจรับรองแล้วตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แต่ข้าวโพดส่วนใหญ่จะเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงปลายเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม แปลงที่ตรวจประเมินไม่ทันก็จะตรวจรับรองในรอบการผลิตถัดไปในปีหน้า นอกจากนั้น ยังได้มีการเชื่อมโยงเครือข่ายการตลาดกับทางสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์และภาคเอกชนด้วย คาดว่า จะช่วยยกระดับราคาผลผลิตข้าวโพดจากแปลง GAP เพิ่มสูงขึ้น และทำให้เกษตรกร GAP มีโอกาสทางการตลาดและได้ราคาดีกว่าเกษตรกรทั่วไป” เลขาธิการ มกอช.กล่าว  

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ