ข่าว

ยกศูนย์ปราชญ์ฯติวเข้มเกษตรกร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โต๊ะข่าวเกษตร

 "เกษตรกรต้องการความรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียงเป็นอย่างมาก สิ่งที่จะช่วยได้คือการเสียสละเวลามาเรียนรู้ และบางครั้งอาจจะต้องเสียกำลังทรัพย์ เพื่อให้รู้ถึงคุณค่าของการเรียนรู้ไม่ใช่ให้ราชการสนับสนุนงบประมาณเพียงอย่างเดียว”

           โอภาศ กลั่นบุศย์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวระหว่างนำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมการดำเนินงานศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน หมู่ 2 ต.แม่น้ำคู้ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง โดยระบุว่าการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยสำนักปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ใช้ศูนย์ปราชญ์เกษตรพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่เป็นศูนย์การเรียนรู้ โดยคัดเลือกเกษตรกรที่มีประสบการณ์จริงที่ชำนาญด้านเกษตรผสมผสาน การปศุสัตว์ การเลี้ยงสัตว์ ที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ให้เป็นตัวแทนศูนย์ปราชญ์ขึ้นมา ขณะนี้ทั้งหมดโดยมีศูนย์ปราชญ์ 140 ศูนย์ ซึ่งทำมาตั้งแต่ปี 2550 มีเกษตรกรที่ผ่านการเรียนรู้จากศูนย์ปราชญ์จำนวนกว่า 3 แสนราย โดยในปี 2560 กระทรวงเกษตรฯ จะดำเนินการให้ความรู้เกษตรกรผ่านศูนย์ปราชญ์ทั้ง 140 ศูนย์ โดยมีเป้าหมายให้เกษตรกรมาเรียนรู้ 15,000 ราย เข้ามาเรียนรู้จากผู้รู้ ซึ่งงบประมาณผ่านวาระแรกของสภานิติบัญญัติแห่งชาติไปแล้ว 

            รองปลัดกระทรวงเกษตรฯ ระบุอีกว่า จากแนวคิดดังกล่าวนำมาสู่การปฏิบัติจริง ซึ่งเกษตรกรจะต้องผ่านการเรียนจากปราชญ์ชาวบ้านที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นเหมืองคลังความรู้ที่พร้อมจะถ่ายทอดให้แก่เกษตรกร ซึ่งที่ศูนย์บริการพัฒนาปลวกแดงตามแนวพระราชดำริ จ.ระยอง ถือเป็นศูนย์กลางอีกแห่งหนึ่ง บริการฝึกอาชีพและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวด้านเกษตรในพระราชดำริ ที่เป็นเส้นทางความรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียงได้เดินทางศูนย์ปลวกแดงไปยังชุมชนรอบข้างที่ส่วนใหญ่มีอาชีพทำสวนผลไม้และยางพารา ซึ่งต้องเผชิญกับราคาผลผลิตที่ไม่แน่นอนทำให้เกษตรกรหลายรายขาดทุนและต้องจมอยู่กับหนี้ ปรัชญาเศรษฐกิพอเพียง จึงถือเป็นทางออกให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน

           ขณะที่ วินัย สวัสดิ์วิเชียร เกษตรกรตัวอย่างบ้านหนองมะปริง อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ยอมรับว่าได้น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำรงชีวิตและรวมกลุ่มคนในชุมชนปลูกผัก พืชสมุนไพร เลี้ยงกบในกระชังบก เลี้ยงชันโรง โดยเข้าอบรมที่ศูนย์ปลวกแดงเมื่อปี 2554 หลังจากทำสวนยางพาราแล้วประสบความสำเร็จ เมื่อไปเรียนรู้ที่ศูนย์กลับมาก็นำความรู้มาถ่ายทอดให้เพื่อนบ้าน แรกๆ เขาหาว่าผมบ้า ที่ทำเกษตรผสมผสาน แต่พอเราทำจริงเขาเห็นผลผลิตที่ออกมา หลายคนก็หันมาทำตาม จนตอนนี้มีสมาชิกในกลุ่มกว่า 50 คน 

            “ที่นี่จะปลูกทุกอย่างที่กินได้และกินทุกอย่างที่ปลูก รายได้หลักมาจากการขายผัก ขายปลา ขายไก่ กบ ที่เราเลี้ยงไว้ โดยมีพ่อค้ามารับถึงที่” เกษตรกรรายเดิมกล่าว

            ด้าน สมศักดิ์ เครือวัลย์ เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติและเจ้าของศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีตำบลสองสลึง อ.แกลง ยืนยันว่า เขาถอดความรู้จากตำรามาไว้บนดินเพื่อทำให้เห็นว่าความรู้ในตำรานั้นทำได้จริง และบางครั้งก็ทำนอกตำรา โดยมีหลักคิดว่าเดินทีละก้าว กินข้าวที่คำ ทำทีละขั้น เกษตรพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตรัสไว้มี 2 ขั้น คือ ขั้นพื้นฐานและขั้นก้าวหน้า ที่นี่เน้นการสร้างขั้นพื้นฐานผ่านฐานเรียนรู้ 10 ฐาน เป็นสถานที่ดูงานให้ความรู้เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ สอนการทำปุ๋ยหมักชีวภาพ พลังงานทางเลือก ปศุสัตว์ โดยศูนย์แห่งนี้ก่อตั้งเมื่อปี 2555 โดยยึดแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต จนเป็นที่เรียนรู้และสามารถถ่ายทอดให้เกษตรกรที่สนใจ ซึ่งปัจุบันมีเกษตรกรให้ความสนใจจำนวนมากในแต่ละวัน

            การใช้ศูนย์ปราชญ์เกษตรพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ เป็นแหล่งเรียนรู้และฝึกประสบการณ์ให้แก่เกษตรกรถือเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรฯ เพื่อก้าวไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนในอนาคต

                                                      ..................................................................

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ