ข่าว

เริ่ม4จังหวัด!"QR Code"ต่อยอดการันตี"พืชผัก-ผลไม้"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย - โต๊ะข่าวเกษตร

 

          กรมวิชาการเกษตรสร้าง QR Code ต่อยอดระบบ GAP การันตีคุณภาพสินค้า นำร่องมังคุด ทุเรียน หอมแดง พืชผัก เมล่อน โดนใจตลาดโมเดิร์นเทรดดึงขึ้นห้างฯ แถมออนไลน์ขายดี เพิ่มโอกาสการค้า-ส่งออก

          นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ขณะที่กรมวิชาการเกษตรได้พัฒนาระบบการผลิตสินค้าพืชผักและผลไม้ให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และมีความปลอดภัยสูงขึ้น โดยส่งเสริมให้เกษตรกรนำแหล่งผลิตเข้าสู่มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีหรือจีเอพี (GAP) ซึ่งมีแปลงปลูกพืชได้รับการรับรองมาตรฐานจีเอพีจากกรมวิชาการเกษตรแล้วประมาณ 200,000 แปลง รวมพื้นที่กว่า 1.1 ล้านไร่ทั่วประเทศ

 

เริ่ม4จังหวัด!"QR Code"ต่อยอดการันตี"พืชผัก-ผลไม้"

 

         ปัจจุบันยังได้พัฒนาต่อยอดเพื่อการันตีคุณภาพสินค้าจากแหล่งผลิต GAP และสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยให้กับตลาดและผู้บริโภคเพิ่มขึ้น โดยส่งเสริมให้เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกพืชผักและผลไม้ใน 4 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด และบุรีรัมย์ จัดทำคิวอาร์โค้ด (QR Code) ติดบนสินค้านำร่องในมังคุด ทุเรียน หอมแดง พืชผัก และเมล่อน ซึ่งผู้บริโภคสามารถตรวจสอบย้อนกลับสินค้าได้ด้วยตนเอง โดยใช้สมาร์ทโฟนเรียกดูข้อมูลแหล่งที่มาของสินค้า ชื่อสินค้า รวมถึงมาตรฐานที่ได้รับการรับรองจาก QR Code ที่ติดบนบรรจุภัณฑ์สินค้าได้ทันที

          เบื้องต้นกรมวิชาการเกษตรได้ส่งเสริมให้เครือข่ายผู้ผลิตมังคุด GAP ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี 12 กลุ่ม สมาชิก จำนวน 60 ราย พื้นที่ประมาณ 1,500 ไร่ นำ QR Code มาใช้ในการตรวจสอบย้อนกลับสินค้า สามารถยกระดับมาตรฐานการผลิตของกลุ่มเกษตรกรได้ เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าได้ ซึ่งเครือข่ายมังคุดดังกล่าวสามารถส่งออกสินค้าไปต่างประเทศได้ปีละไม่น้อยกว่า 1,300 ตัน

 

เริ่ม4จังหวัด!"QR Code"ต่อยอดการันตี"พืชผัก-ผลไม้"

 

          นอกจากนั้น ยังได้ขยายผลการใช้ QR Code ไปยังกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ ได้แก่ กลุ่มผู้ปลูกทุเรียน ประมาณ 30 ราย และกลุ่มผู้ปลูกหอมแดงกว่า 20 ราย  พร้อมขยายผลไปสู่กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกพืชผักในจังหวัดร้อยเอ็ด 21 ราย และเครือข่ายผู้ผลิตเมล่อนในจังหวัดบุรีรัมย์รวมกว่า 30 รายด้วย อนาคตกรมวิชาการเกษตรได้มีแผนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเสริมให้แหล่งผลิตพืชผักและผลไม้ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจีเอพีแล้วใช้ QR Code แพร่หลายมากขึ้น

         “การนำ QR Code มาใช้ในสินค้าเกษตร  นอกจากช่วยให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของสินค้าได้ทันทีแล้ว ยังสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดและผู้บริโภคได้มากขึ้น ที่สำคัญ ยังทำให้เกษตรกรมีโอกาสทางการค้า และมีช่องทางจำหน่ายสินค้าเพิ่มขึ้น โดยตลาดโมเดิร์เทรด เช่น ห้างเทสโก้ โลตตัสได้นำสินค้าที่ใช้ QR Code เข้าไปวางจำหน่ายแล้ว ขณะเดียวกันเกษตรกรบางกลุ่ม เช่น ทุเรียน ยังมีการพัฒนาต่อยอดจำหน่ายสินค้าผ่านทางออนไลน์ และผลักดันส่งออกไปยังต่างประเทศได้อีกด้วย” อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าว

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ