ข่าว

ข้าวไทยไปจีน(2)

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย - รศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ

         ข้าวหอมมะลิของไทยที่ขายอยู่ในจีน หรือที่รู้จักกันในชื่อว่าข้าวหอมไทยนั้น มีสัดส่วนประมาณ 70% ภายใต้ยี่ห้อมากกว่า 50 ชื่อ และที่เหลือเป็นข้าวหอมจากที่อื่นเช่นกัมพูชา และยังมีข้าวเลียนแบบที่ตั้งชื่อให้ดูคล้ายๆ ข้าวไทยอีกจำนวนหนึ่ง แต่ในบรรดาข้าวทั้งหลายเหล่านี้ ข้าวหอมไทยมีราคาสูงที่สุด ทำให้กลุ่มลูกค้าที่ให้ความสำคัญกับเรื่องราคาหันไปทดลองข้าวเหล่านี้บ้าง ขณะเดียวกันก็มีเหมือนกันที่ข้าวเลียนแบบราคาสูงกว่าข้าวหอมไทย บางห้างกลายเป็นสินค้าขายดีด้วย แสดงว่าผู้บริโภคของจีนอีกส่วนหนึ่งให้ความสำคัญเรื่องของคุณภาพและความพึงพอใจมากกว่าราคา

         มีข้อสังเกตคือกลุ่มข้าวที่ตั้งชื่อเลียนแบบข้าวไทยนั้น โดยเฉลี่ยแล้วมีราคาถูกกว่าข้าวไทยเกือบครึ่ง ซึ่งหากผู้บริโภคได้หาซื้อไปแล้วไม่ประทับใจ เพราะว่าไม่ใช่ของจริง แต่ก็มีโอกาสที่จะทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อข้าวไทยคุณภาพได้ เพราะว่าลูกค้าแยกไม่ออกว่าอันไหนของจริงหรือของปลอม ปัญหาสำคัญอีกข้อหนึ่งคือ การนำข้าวที่บรรจุถุงใหญ่ส่งไปจากไทย แต่นำไปบรรจุถุงขนาดเล็กใหม่ที่จีน ซึ่งเปิดโอกาสให้มีการผสมข้าวอื่นเข้าไปเพื่อลดต้นทุน แต่ยังใช้ชื่อข้าวไทยอยู่ ตรงนี้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงของข้าวไทย

         ข้อมูลการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคข้าวของคนจีน เป็นสิ่งที่สำคัญที่ผู้ส่งออกและผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการข้าว น่าจะต้องให้ความสนใจ เพราะสามารถนำไปใช้ในการวางแผนการตลาดได้ ในอดีตนั้นคนจีนบริโภคข้าวเป็นอาหารหลักโดยมองว่าเป็นสินค้ามหาชนหรือ Mass product จึงให้ความสำคัญที่ราคา ซึ่งต้องมีราคาถูกและคุณภาพที่สมเหตุผล แต่ว่าปัจจุบัน คนที่มีรายได้สูงทำให้ตลาดเฉพาะกลุ่มหรือ Niche market เติบโตตามขึั้นมา โดยตลาดเฉพาะกลุ่มนี้ไม่ได้มุ่งเพียงแค่กินข้าวแล้วอิ่มในราคาไม่แพง แต่ให้ความสำคัญกับเอกลักษณ์หรือเป็นเครื่องบ่งชี้ความเป็นตัวตนของผู้บริโภค ซึ่งไปผูกโยงกับความพิถีพิถันและรสนิยมของผู้บริโภคด้วย

 

ข้าวไทยไปจีน(2)

 

        จากการสำรวจผู้บริโภคชาวจีนพบว่าเกือบร้อยทั้งร้อยจะรู้จักข้าวไทย และที่รู้จักข้าวหอมไทยมีมากถึงร้อยละ 70 แต่ว่ามีเพียงร้อยละ 17 เท่านั้นที่รู้จักข้าวหอมมะลิไทย กลุ่มหลังสุดนี้ น่าจะเป็นกลุ่มเป้าหมายของข้าวสำหรับตลาดเฉพาะ เพราะว่ามีความเข้าใจและสนใจข้าวไทยค่อนข้างดี

        ส่วนความรู้สึกเมื่อได้รับประทานข้าวหอมมะลิไทยแล้วชอบหรือไม่นั้น ปรากฎว่าประมาณครึ่งหนึ่งรู้สึกว่าอร่อย แต่ประมาณร้อยละ 10 ตอบว่าไม่อร่อย และที่เหลือจะรู้สึกเฉยๆ หรือไม่มีความคิดเห็น แสดงว่ามีเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่ประทับใจข้าวหอมไทย

        จุดนี้มองได้หลายอย่าง อาทิ คนที่ไม่ประทับใจข้าวหอมมะลิไทยนั้น ได้บริโภคข้าวหอมมะลิแท้หรือเปล่า หรือว่าได้เคยชิมของแท้แล้วแต่ไม่ชอบ เรื่องนี้น่าจะเป็นประเด็นที่ควรหารายละเอียดต่อไปเพื่อให้ชัดเจนลงไปว่าเป็นเพราะอะไรแน่  อีกอย่างหนึ่ง คืออาจเป็นเพราะว่าข้าวหอมของไทยอาจไม่จำเป็นต้องถูกปากของทุกคนก็ได้ หรืออาจเป็นไปได้ว่าข้าวที่คนจีนส่วนใหญ่ซื้อไปรับประทานนั้นคือข้าวหอมไทย แต่ไม่ใช่ข้าวหอมมะลิไทย และมีความเข้าใจผิดว่าที่ตนบริโภคนั้นคือข้าวหอมมะลิไทย จึงเกิดทัศนคติที่คลาดเคลื่อนได้

        หากจะผลักดันข้าวหอมของไทยไปตลาดจีนให้ได้มากกว่านี้ ก็คงต้องศึกษาพฤติกรรมการบริโภคของกลุ่มลูกค้าอย่างละเอียด เพื่อจะได้นำมาใช้ในการวางแผนการตลาดได้ถูกต้อง เพราะว่าที่สำคัญคือประชากรของจีนมีมากมหาศาล หากมีผู้บริโภคข้าวหอมมะลิของไทยเพียงร้อยละ 10 เราก็คงไม่มีข้าวพอขายแล้วครับ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ