ข่าว

"สตูล"นำร่อง มอก.สร้างมั่นใจเกษตรกร เพิ่มค่ายางฯแปรรูป!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย *โต๊ะข่าวเกษตร

 

           ก.อุตสาหกรรม เร่งกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ยางพารา รองรับระเบียบพัสดุกำหนดให้การจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานราชการ เชื่อเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศมากขึ้น มอบ มอก.ชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางสตูล จำกัด นำร่องรายแรกในประเทศไทย 

           ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาทางสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้ทำการมอบใบอนุญาตแสดงเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) แผ่นยางปูพื้น ให้กับชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางสตูลจำกัด ซึ่งเป็นสถาบันเกษตรกรยางพาราไทยที่ผ่านรับรองและได้ใบอนุญาตรายแรก

 

"สตูล"นำร่อง มอก.สร้างมั่นใจเกษตรกร เพิ่มค่ายางฯแปรรูป!

 

          “เป็นความพยายามและตั้งใจของสถาบันเกษตรกรที่ไม่นั่งรอหรืออยู่เฉยๆ เพื่อให้ได้ได้มาตรฐาน ทำให้เกษตรกรแทนที่จะขายแค่วัตถุดิบน้ำยาง หรือยางแผ่นอย่างเดียวก็จะสามารถเพิ่มมูลค่าการผลิตยางที่มีมูลค่าสูงขึ้น เป็นการเพิ่มรายได้ให้กับสมาชิกและเกษตรกร”

          เนื่องจากการส่งเสริมการแปรรูปยางของสถาบันเกษตรกรเป็นเรื่องที่รัฐบาล โดยเฉพาะท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ จะเห็นได้จากการเดินทางมาเปิดรับเบอร์ซิตี้ ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ที่จ.สงขลา ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการในปัจจุบัน

          ขณะนี้ทาง สมอ.ได้ประกาศใช้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยางเกือบครบ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นสถาบันเกษตรกร หรือผู้ประกอบการที่เป็นภาคเอกชน เมื่อได้รับการรับรองผลิตภัณฑ์แล้วก็จะสามารถขายให้กับหน่วยงานราชการได้ และมีส่วนลดพิเศษ 5-7 เปอร์เซ็นต์หากผลิตภัณฑ์ได้รับมอก.

         “เดิมหน่วยราชการจะมีเงื่อนไขว่าผลิตภัณฑ์ที่จะรับซื้อจะต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับมอก.จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องพยามยามสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ ทั้งสถาบันเกษตรกรและเอกชนที่จะได้รับ มอก.”

 

"สตูล"นำร่อง มอก.สร้างมั่นใจเกษตรกร เพิ่มค่ายางฯแปรรูป!

โฟมยางฯกันกระแทก

 

          ฉะนั้น การที่ชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางสตูล จำกัด ได้รับใบอนุญาตแสดงเครื่องหมายมาตรฐาน ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) แผ่นยางปูพื้นนั้นถือเป็นโครงการนำร่องสำหรับสหกรณ์อื่นๆที่จะพยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้ได้มาตรฐาน

         “ปัจจุบันผลผลิตยางพาราไทยมีผลผลิตเกิน 4 ล้านตันต่อปี แต่เรายังแปรรูปได้ไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ อยู่ที่ประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง ในขณะที่การแปรรูปตามไม่ทัน เนื่องจากผลผลิตที่เพิ่มขึ้น”

          ทำให้เราต้องพึ่งพาตลาดต่างประเทศ คือการส่งออกเป็นส่วนใหญ่ เมื่อไหร่ที่ตลาดโลกไม่ดี เหมือนช่วงนี้ ทำให้ราคายางลดลงไปด้วย ในขณะที่เศรษฐกิจโลกก็ไม่ค่อยดี ทำให้ความต้องการยางพาราในต่างประเทศลดลงหรือชะลอ เพราะฉะนั้นหากเราสามารถแปรรุปและใช้ในประเทศมากขึ้น ก็จะช่วยให้เกษตรกรชาวสวนยางสามารถขายวัตถุดิบได้อย่างมีเสถียรภาพมากขึ้น

         นี่คือเหตุผลที่ทำให้กระทรวงอุตสาหกรรม ถึงพยายามสนับสนุนให้สหกรณ์ ชุมนุมสหกรณ์ต่างๆเริ่มแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์มากขึ้น จากเดิมที่แปรรูปเป็นแค่ยางแผ่น ยางแท่งเท่านั้น เพราะในการแปรรูปแบบนั้นในที่สุดก็ยังต้องพึ่งการส่งออก ต้องพึ่งคนอื่น เพราะยังเป็นขั้นกลาง

         ทว่า หากทำเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปได้จะขายได้ราคาดีกว่า เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าปัจจุบันมีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ง่ายๆในภาคใต้ เช่น ถุงมือ หมอนยางพารา ที่นอนยางพารา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหมอนยางพาราได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนขายดีมาก

 

"สตูล"นำร่อง มอก.สร้างมั่นใจเกษตรกร เพิ่มค่ายางฯแปรรูป!

 

         นายธวัช ผลความดี เลขาธิการ สมอ. กล่าวว่า ปัจจุบันสมอ.ประกาศช้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยางพารา จำนวน 164 มาตรฐาน ครอบคลุมผลิตภัณฑ์ที่ทำจากยางมากกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ ของผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน สำหรับในปี 2559 สมอ.ดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์การกำหนดมาตรฐานจำนวน 6 มาตรฐาน ได้แก่ ถุงนิ้วยาง, ยางชะลอความเร็ว, ยางปูพื้นรถยนต์, ยางปัดน้ำฝน, ยางรัดของ และยางโอริง โดยขณะนี้ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว

         นอกจากนี้ สมอ.ได้กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ยางที่มีแนวโน้มการใช้งานในภาครัฐเป็นการเร่งด่วนเพื่อเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราภายในประเทศแล้วเสร็จจำนวน 5 มาตรฐาน ประกอบด้วย มาตรฐานแอสฟัลต์ซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางพารา, แผ่นยางปูสนามฟุตซอล, ฟองน้ำลาเทกซ์สำหรับทำหมอน, และฟองน้ำลาเทกซ์สำหรับทำที่นอน และน้ำยางเคลือบผ้าปูสระกักเก็บน้ำ และคาดว่าสมอ.จะพร้อมให้การรับรองได้ภายในสิ้นเดือน ก.ย.นี้ โดย สมอ.ได้ปรับปรุงกระบวนการกำหนดมาตรฐาน ที่ลดขั้นตอนการทำงานและปรับรูปแบบการดำเนินงานทางวิชาการ ทำให้สามารถกำหนดมาตรฐานได้รวดเร็วขึ้น

         นายชำนาญ เมฆตรง ประธานสหกรณ์ชุมนุมกองทุนสวนยางสตูลจำกัด กล่าวว่า หลังจากได้รับใบอนุญาตแสดงเครื่องหมายมาตรฐาน มอก.เมื่อวันที่ 12 ก.ย.2559 ที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดความเชื่อถือในผลิตภัณฑ์ สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค สามารถขยายช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณ์สินค้าแก่หน่วยงานภาครัฐที่มีระเบียบพัสดุกำหนดให้การจัดซื้อจัดจ้างผลิตภัณฑ์ที่ได้ มอก.

        ล่าสุด หน่วยงานภาครัฐได้สั่งซื้อผลิตภัณฑ์ยางปูพื้นแล้วถึง 7 ล้านบาท และขณะนี้ มีอีกหลายหน่วยงานต้องการให้ยางปูพื้น ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง เกิดการจ้างงานในพื้นที่

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ