ข่าว

"รางจีด"ราชาแห่งการถอนพิษ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย - นายสวีสอง

           รางจืด เป็นพืชที่รู้จักกันดีในจำนวนพืชที่สามารถแก้พิษ และกำจัดสารพิษในร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนได้ขื่อว่าเป็น "ราชาแห่งการถอนพิษ" นอกจากนั้น คนโบราณยังนิยมใช้สำหรับแก้พิษจากสัตว์ต่างๆ มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียตะวันนอกเฉียงใต้ อาทิ ไทย และพม่า บ้านเราพบมากตามป่าดงดิบหรือป่าดิบชื้นทั่วไป แต่ปัจจุบัน เป็นที่ทราบกันดีว่ามีสรรพคุณเด่นในการขจัดพิษต่างๆ ทั้งพิษจากพืช พิษจากสัตว์ และพิษจากสารเคมี จึงนิยมนำมาปลูกตามบ้านเรือนทั่วไป

            เป็นพืชเถาที่มีอายุนานหลายปี ในวงศ์ เหงือกปลาหมอ ACANTHACEAE ชื่อวิทยาศาสตร์Thunbergia laurifolia Lindl. ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า รางเย็น คาย (ยะลา), ดุเหว่า (ปัตตานี), ทิดพุด (นครศรีธรรมราช), ย่ำแย้ แอดแอ (เพชรบูรณ์), น้ำนอง (สระบุรี), จอลอดิเออ ซั้งกะ ปั้งกะล่ะ พอหน่อเตอ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), กำลังช้างเผือก ยาเขียว เครือเขาเขียว ขอบชะนาง (ภาคกลาง), ว่านรางจืด เป็นต้น

            ลำต้น จะเลื้อยพาดพันไปตามต้นไม้หรือเสารั้ว ขนาดเถาส่วนโคน 0.8-1.5 เซนติเมตร และค่อยๆลดขนาดลงตามความยาวของเถา ส่วนความยาวจะยาวได้มากกว่า 10 เมตร เถามีลักษณะค่อนข้างกลม และเป็นข้อปล้อง เถาส่วนโคนมีสีเขียวอมน้ำตาล เถาอ่อนหรือเถาส่วนปลายมีสีเขียวเข้ม มีขนปกคลุม เนื้อไม้เป็นไม้เนื้ออ่อน หักง่าย แต่ค่อนข้างเหนียว แก่นในสุดเป็นเยื่ออ่อนเป็นวงกลม

 

"รางจีด"ราชาแห่งการถอนพิษ

 

         ใบ ออกเป็นคู่ๆ ซ้าย-ขวา ตามข้อของเถา ก้านยาว 2-4 เซนติเมตร รูปหัวใจแหลม โคนมน ปลายแหลม และมีติ่งแหลมที่ส่วนปลาย กว้าง 4-8 เซนติเมตร ยาว 5-20 เซนติเมตร ใบใหญ่จะอยู่โคนก้าน และค่อยๆลดขนาดลงตามความยาวของเถา ตัวใบจะมีแผ่นใบ และขอบเรียบ ด้านบนมีสีเข้มกว่าด้านล่างมีขน มีเส้นใบมี 3 เส้น เป็นร่องตื้น ยาวจากโคนใบมาปลายใบ 2 เส้น และอีก 1 เส้นใบอยู่กลางใบ ยาวจากโคนใบจนถึงปลายสุดของใบ

         ดอก ออกเป็นช่อ ตามข้อบริเวณซอกใบ ประกอบด้วยกลีบดอก 5 กลีบ สีม่วงอ่อน มีโคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว คล้ายรูปแตร ปลายกลีบแยกเป็นแฉกออกเป็นรูปจาน เมื่อดอกบานจะมีขนาด 5-10 เซนติเมตร ภายในดอกมีเกสรตัวผู้ 5 อัน โดยรางจืดจะออกดอกในช่วงเดือนพฤศจิกายน-มกราคม

         ผล ออกเป็นฝัก จะเริ่มติดฝักให้ผลหลังจากที่ดอกร่วงไป ทรงกลมเป็นหลอด กว้าง 1-1.5 เซนติเมตร ยาว 4-5 เซนติเมตร ปลายฝักแหลม และโค้งเล็กน้อยเป็นจะงอยคล้ายปลายปากนก ฝักอ่อนมีสีเขียว เมื่อแก่มีสีน้ำตาลอมดำ เมื่อแก่ และแห้งเต็มที่จะปริแตกออกเป็น 2 ซีก มีเมล็ดด้านในสีน้ำตาล

         ขยายพันธุ์ เพาะเมล็ด ขึ้นได้ทุกสภาพดิน ความชื้นปานกลาง แสงแดดเต็มวัน

 

"รางจีด"ราชาแห่งการถอนพิษ

 

การประโยชน์ : 
1. นิยมนำใบ ราก และเถา มาใช้ประโยชน์ในหลายลักษณะ เช่น การตากแห้ง แล้วนำมาบดอัดใส่แคปซูลกิน การนำมาต้มกับน้ำดื่ม รวมไปถึงการนำรากหรือใบสดมาขยี้ประคบแผลที่ถูกสัตว์มีพิษกัด
2. ใช้ต้มน้ำอาบ แก้อาการแพ้ ผื่นคัน ลดการเกิดโรคผิวหนัง โดยใช้ใบหรือเถาสด 10-15 ใบหรือเถาขนาดยาว 10 ซม. ต้มในน้ำประมาณ 10 ลิตร อาบทุกวัน ประมาณ 5-7 วัน
3. นำใบ 5-10 ใบ มาโคกให้ละเอียด ก่อนผสมน้ำ 1 แก้ว แล้วคั้นเอาเฉพาะน้ำสำหรับดื่ม
4. นำใบมาตากแห้ง แล้วสับเป็นชิ้นเล็กๆ ก่อนใช้ชงน้ำร้อนเป็นชาดื่ม
5. นำใบ 10-20 ใบ หรือ ใช้เถาตัดเป็นชิ้นๆยาว 1-2 นิ้ว ก่อนนำไปแช่สุราดื่ม
6. ดอกรางจืด นำมาบดให้ละเอียดผสมกับน้ำ แล้วกรองแยกกาก ก่อนนำน้ำที่ได้ใช้ทำของหวาน ใช้หุงข้าว หรือใช้ทำสีผสมอาหารอื่นๆ ซึ่งจะให้สีม่วงอ่อนหรือสีคราม หรือสีอื่นตามชนิดสีของดอก
7. คนโบราณมีความเชื่อว่า การดื่มน้ำต้มจากรางจืดสามารถช่วยแก้คุณไสย ยาสั่งหรือมนต์ดำที่ผู้อื่นทำแก่ตนได้
8. ใบรางจืดตากแห้งแล้ว นำมาบดให้ละเอียด ใช้ผสมในอาหารสัตว์ อาทิ อาหารหมู อาหารไก่ เป็นต้น ช่วยเสริมภูมิต้านทานต่อโรค และช่วยรักษาให้สัตว์มีอัตราการรอดสูงขึ้นหลังจากที่ได้รับเชื้อโรค

 

"รางจีด"ราชาแห่งการถอนพิษ

 

สรรพคุณ : ราก เถา และใบ รวมถึงดอก พบองค์ประกอบของสารเคมีที่คล้ายกัน ซึ่งมีสรรพคุณทางยาหลายด้าน ได้แก่
• ทุกส่วนมีสารต้านอนุมูลอิสระ และสามารถออกฤทธิ์กำจัดสารตั้งต้นของเซลล์มะเร็ง ทำให้ช่วยต้านการเกิดเซลล์มะเร็ง และลดจำนวนเซลล์มะเร็งจนหายได้
• พบสารสำคัญหลายชนิดออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอการเสื่อมของเซลล์ ช่วยป้องกันเซลล์จากสารพิษ ทำให้ผิวพรรณสดใส ผิวพรรณเต่งตึง และช่วยต้านความแก่
• นำทุกส่วนมาต้มดื่ม ใช้แก้พิษยาเบื่อ ทำลาย และกำจัดพิษยาฆ่าแมลงให้ออกจากร่างกาย
• ทุกส่วนนำมาตำหรือบดผสมน้ำ ใช้สำหรับพอกแผล ระงับอาการปวด ลดอาการบวม และกำจัดพิษจากสัตว์ต่อย อาทิ งูกัด แมงป่อง ตะขาบ แมงดาทะเล เป็นต้น
• ทุกส่วนช่วยในการลด และกำจัดสารพิษของเห็ดพิษ ทำให้บรรเทาอาการจากพิษเห็ด และรักษาพิษจากเห็ดพิษได้
• ทุกส่วนออกฤทธิ์ต้านการอักเสบ เพิ่มประสิทธิภาพการรักษาแผล เช่น รักษาไวรัสเริม ด้วยการบดผสมน้ำเล็กน้อย ก่อนนำไปประคบบริเวณรอยแผลเริม
• ทุกส่วนนำมาบดผสมน้ำเล็กน้อย ก่อนนำมาประคบหรือทาแผลสด แผลเป็นหนอง ซึ่งจะช่วยให้แผลแห้งเร็ว ลดการติดเชื้อ ลดอาการบวมของแผล
• ทุกส่วนนำมาต้มน้ำอาบ ช่วยบรรเทาอาการผื่นคัน ต้านเชื้อรา รักษาโรคผิวหนัง
• ทุกส่วนนำมาต้มน้ำดื่มหรือคั้นน้ำดื่มสำหรับใช้เป็นยาแก้ร้อนใน และช่วยบรรเทาอาการกระหายน้ำ
• ทุกส่วนช่วยลดพิษจากแอลกอฮอล์ กำจัดแอลกอฮอล์ออกจากร่างกาย ช่วยบำบัดผู้ติดสุราได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการเมาค้าง ให้นำใบมาต้มน้ำดื่มทุกๆ 3-5 ชั่วโมง จะช่วยคลายอาการเมาค้างได้เป็นอย่างดี ส่วนผู้ที่ติดสุรา ให้นำใบหรือเถามาต้มน้ำดื่มเป็นประจำ โดยใช้แทนน้ำดื่มหลังรับประทานอาหาร และดื่มก่อนนอนทุกวัน ตลอด 3 เดือน ซึ่งจะช่วยคลายอาการอยากดื่มสุราได้

"รางจีด"ราชาแห่งการถอนพิษ


• สำหรับผู้ที่ติดบุหรี่หรือสารเสพติด ให้นำใบหรือเถายางจืดมาต้มน้ำดื่มเป็นประจำ โดยดื่มแทนน้ำหลังรับประทานอาหารเหมือนกับการแก้อาการเมาค้าง และดื่มก่อนนอนเป็นประจำทุกวัน ติดต่อกัน 1 เดือน ซึ่งจะช่วยลดอาการอยากสูบบุหรี่ได้ แต่ทั้งนี้ผู้สูบจะต้องลดจำนวนสูบหรือไม่สูบขณะรักษา ซึ่งจะช่วยให้เลิกบุหรี่หรือสารเสพติดได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ การดื่มน้ำต้มใบรางจืดเป็นประจำจะช่วยในการขับสารนิโคติน และสารพิษอื่นๆที่สะสมในเลือด และปอดออกไปด้วย ส่งผลดีสำหรับลดความเสี่ยงมะเร็งปอดหลังการเลิกบุหรี่ได้
• การดื่มน้ำต้มจากใบหรือเถาร้อนๆ ช่วยในการขับปัสสาวะ นอกจากนั้น ยังทำให้รู้สึกอยากอาหารได้อีกด้วย
• ทุกส่วนใช้ในการต้านเชื้อแบคทีเรีย และไวรัสบางชนิด สามารถต้าน และฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ในกระแสเลือด ช่วยลดความรุนแรงของโรคติดเชื้อ และรักษาโรคติดเชื้อต่างๆ
• น้ำต้มจากทุกส่วน นำมาดื่มอุ่นๆ สำหรับรักษา และบรรเทาอาการท้องเสียหรืออาหารเป็นพิษ
• น้ำต้มหรือน้ำคั้นสดจากใบหรือเถา ช่วยปกป้องเซลล์ตับ และไตจากพิษของสารเคมีชนิดต่างๆ และมีส่วนกระตุ้นการทำงานของไตในการกำจัดสารพิษ ลดภาระการกรองสารพิษของไตด้วยการทำลายพันธะของสารเคมีที่มีพิษให้กลายเป็นสารอนุพันธ์ที่ไร้พิษ และทำให้สามารถขับสารพิษเหล่านั้นออกจากร่างกายได้ง่ายขึ้น
• น้ำต้มใบหรือเถาอุ่นๆ นำมาดื่มสำหรับการรักษาไข้หวัด รักษาโรคติดเชื้อในกระแสเลือด เพราะสามารถต้าน และกำจัดเชื้อโรคบางชนิดที่อยู่ในกระแสดเลือดได้
• ช่วยลดความดันโลหิต ปรับระดับการเต้นของหัวใจให้เป็นปกติ
• ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยกระตุ้นระบบการหลั่งอินซูลินให้เป็นปกติ ลดความเสี่ยงการเป็นโรคเบาหวาน และลดอาการของโรคเบาหวาน
• ช่วยลดระดับไขมันในเส้นเลือด ป้องกันไขมันอุดตัน และลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ
• ช่วยกระตุ้นระบบควบคุมการเต้นของหัวใจให้เป็นปกติ ป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดในสมอง
• ทุกส่วนนำมาต้มน้ำดื่มเพื่อปรับประจำเดือนให้มาปกติ หรือสำหรับหญิงที่คลอดบุตรใหม่ ให้ต้มดื่มสำหรับดับน้ำคาวปลา ช่วยฟื้นฟูร่างกายให้กลับมาสภาพเดิมโดยเร็ว

        แม้ว่ารางจืดจะมีสรรพคุณที่ดีต่อร่างกายในการช่วยขับล้างสารพิษ แต่การนำมาใช้หรือนำมารับประทานก็ควรใช้อย่างพอดีและสมเหตุสมผล หากพิจารณาดูตัวเองหรือได้รับการวินิจฉัยจากผู้เชี่ยวชาญว่าร่างกายมีสารพิษมากเกินไป คุณก็สามารถรับประทานได้ แต่ก็ต้องรับประทานในปริมาณที่เหมาะสมถูกต้องและถูกเวลา

 

"รางจีด"ราชาแห่งการถอนพิษ

คำแนะนำ :

  • รางจืดวิธีใช้ประโยชน์จากใบสดรางจืดในการรักษาพิษ หากใช้สำหรับคนให้ใช้ประมาณ 10-12 ใบ (แต่ถ้าใช้สำหรับวัวควายให้ใช้ 20-30 ใบ) เมื่อได้ใบสดให้นำมาตำจนละเอียดผสมกับย้ำซาวข้าวประมาณครึ่งแก้ว ว่านรางจืดวิธีรับประทานก็ง่าย ๆ เพียงนำมาคั้นเอาแต่น้ำมาดื่มให้หมดทันทีที่มีอาการ และอาจจะต้องดื่มซ้ำอีกภายในครึ่งชั่วโมงถึงหนึ่งชั่วโมงถัดมา
  • การใช้ประโยชน์จากรากรางจืดในการรักษาพิษ หากใช้สำหรับคนให้ใช้ 1-2 องคุลี (แต่ถ้าหากใช้กับวัวควายให้ใช้ประมาณ 2-4 องคุลี) เมื่อได้รากมาแล้วให้นำมาฝนหรือนำมาตำเข้ากับน้ำซาวข้าว แล้วนำมาดื่มให้หมดทันทีที่มีอาการ และอาจจะต้องใช้ซ้ำอีกภายในครึ่งชั่วโมงถึงหนึ่งชั่วโมงเช่นเดียวกับการใช้ใบรางจืด
  • สำหรับการใช้รางจืดเพื่อถอนพิษยาฆ่าแมลง สำหรับผู้ป่วยที่ดื่มยาฆ่าแมลง ใช้ถอนยาพิษ ยาเบื่อ และพิษจากสตริกนินนั้น ต้องใช้ยารางจืดให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ จึงจะได้ผลดี เพราะถ้ายาซึมเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมากหรือทิ้งไว้ข้ามคืนรางจืดก็จะได้ผลน้อยลงนั่นเอง
  • ข้อควรระวังในการใช้รางจืดก็คือ การใช้รางจืดมันร่วมกับตัวยาชนิดอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาในการรักษาอย่างต่อเนื่องก็ควรจะระวังไว้ด้วย เพราะรางจืดอาจจะไปขับยาเหล่านั้นออกจากร่างกายได้นั่นเอง
  • สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน การใช้ก็ควรจะระมัดระวังด้วยเพราะอาจจะทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้

แหล่งที่มาข้อมูล : เว็บไซต์หมอชาวบ้าน (ภกญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร), สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล,เว็บไซต์สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี,หนังสือสมุนไพรกับวัฒนธรรมไทยตอนที่ 2 ไม้ริมรั้ว (เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์,คู่มือประชาชนในการดูแลสุขภาพด้วยการแพทย์แผนไทย (กันทิมา สิทธิธัญกิจ,พรทิพย์ เติมวิเศษ)
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ