ข่าว

ชาวนาระวัง! เพลี้ยกระโดดทำลายนาข้าว!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย - โต๊ะข่าวเกษตร

              กรมส่งเสริมการเกษตร เตือนเกษตรกรปลูกข้าว ระยะนี้ให้หมั่นตรวจสอบแปลงนาเฝ้าระวังการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพราะสภาพภูมิอากาศช่วงนี้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตและแพร่ขยายพันธุ์ การสังเกตลักษณะการทำลาย กรณีที่ข้าวยังไม่แสดงอาการ ให้สังเกตบริเวณโคนต้นข้าวเหนือน้ำ หากมีเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลจะพบเป็นกลุ่มเกาะดูดกินน้ำเลี้ยงอยู่บริเวณโคนต้น และกรณีระบาดรุนแรงต้นข้าวจะแห้งตายเป็นหย่อมๆ หรือทั้งแปลง

             แนวทางป้องกัน เกษตรกรควรปลูกข้าวพันธุ์ต้านทาน เช่น สุพรรณบุรี1 สุพรรณบุรี2 สุพรรณบุรี90 สุพรรณบุรี60 และพิษณุโลก2 และไม่ควรปลูกพันธุ์เดียวติดต่อกันเกิน 4 ฤดูปลูก ควรปลูกสลับกันระหว่างพันธุ์ต้านทานสูงกับพันธุ์ทนทานหรือพันธุ์อ่อนแอปานกลาง โดยพิจารณาอายุเก็บเกี่ยวให้ใกล้เคียงกัน เพื่อลดความเสียหายเมื่อเกิดการระบาดรุนแรง

 

ชาวนาระวัง! เพลี้ยกระโดดทำลายนาข้าว!

 

             นอกจากนี้ ให้ใช้กับดักแสงไฟเพื่อล่อตัวเต็มวัยมาทำลาย กรณีที่พบการระบาดน้อยกว่า 10 ตัวต่อจุด ให้ใช้เชื้อราบิวเวอร์เรียฉีดพ่นกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล หรือใช้สารสกัดจากสะเดาฉีดพ่น เพื่อยับยั้งการลอกคราบ สำหรับในแหล่งที่มีการระบาดและควบคุมระดับน้ำในนาได้ หลังปักดำหรือหว่าน 2-3 สัปดาห์จนถึงระยะตั้งท้อง ให้ควบคุมน้ำในแปลงนาให้พอดินเปียก หรือมีน้ำเรี่ยผิวดินนาน 7-10 วัน แล้วปล่อยขังทิ้งไว้ให้แห้งเองสลับกันไป จะช่วยลดการระบาดของเพลี้ยได้

             เมื่อตรวจพบสัดส่วนของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลตัวเต็มวัยต่อมวนเขียวดูดไข่ระหว่าง 6 : 1 - 8 : 1 หรือ ตัวอ่อนระยะ 1-2 เมื่อข้าวอายุ 30-45 วัน จำนวนมากกว่า 10 ตัว/ต้น ให้ใช้สารฆ่าแมลงบูโพรเฟซิน (แอปพลอด 10% ดับบลิวพี) อัตรา 25 มิลลิกรัม/น้ำ 20 ลิตร พ่นหรือใช้สารอีโทเฟนพรอกซ์ (ทรีบอน 10% อีซี) อัตรา 20 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร หรือบูโพรเฟซิน/ไอโซโปรคาร์บ (แอปพลอด/มิพซิน 5%/20% ดับบลิวพี) อัตรา 50 กรัม/น้ำ 20 ลิตร พ่นเมื่อพบแมลงส่วนใหญ่เป็นตัวเต็มวัยจำนวนมากกว่า 1 ตัว/ต้น

             ระยะข้าวตั้งท้องถึงออกรวงใช้สารอิมิดาโคลฟริด (คอนฟิดอร์ 10% เอสแอล) อัตรา 15 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร ไม่ควรใช้สารฆ่าแมลงที่ทำให้เกิดการระบาดเพิ่มของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล (resurgence) หรือสารกลุ่มไพรีทรอยด์สังเคราะห์ เช่น แอลฟาไซเพอร์มิทริน ไซเพอร์มิทริน ไซแฮโลทริน เดคาเมทริน เอสเฟนแวเลอเรต เพอร์มิทริน ไตรอะโซฟอส ไซยาโนเฟนฟอส ไอโซซาไทออน ไฟริดาเฟนไทออน ควินาลฟอส และเตตระคลอร์วินฟอส เป็นต้น                                                                                                                                                                                                                                                                                         

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ