ข่าว

พลิกที่นาหันปลูก“เมล่อน”ชุบชีวิตเกษตรกร“คู้สลอด”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย - สุรัตน์ อัตตะ

              ความสำเร็จของเกษตรกรบ้านหมู่ใหญ่ใน ต.คู้สลอด อ.ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา ที่เปลี่ยนวิถีอาชีพดั้งเดิมจากการทำนามาปลูกเมล่อนแปลงใหญ่ในระบบโรงเรือนในวันนี้ ไม่เพียงสนองนโยบายรัฐบาลในการปลูกพืชใช้น้ำน้อยเท่านั้น แต่ยังเป็นพืชเศรษฐกิจที่ทำรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ จนสามารถพลิกชีวิตชาวบ้านแบบเดิมๆ มาสู่เกษตรกรยุคใหม่ ด้วยการก้าวทันเทคโนโลยีระบบการผลิตที่ทันสมัยในการปลูกเมล่อนปลอดสารพิษระบบโรงเรือน ภายใต้กลุ่ม "วิสาหกิจชุมชนเมล่อนหมู่ใหญ่ร่วมใจพัฒนา" กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการนำของเกษตรกรหัวก้าวหน้า “สวาท สุขนุ่น” ในฐานะประธานกลุ่ม

 

พลิกที่นาหันปลูก“เมล่อน”ชุบชีวิตเกษตรกร“คู้สลอด”

 

              สวาท สุขนุ่น เป็นคนแรกๆ ในชุมชนที่สนใจการปลูกเมล่อน หลังประสบปัญหาในอาชีพทำนา เหตุยิ่งทำยิ่งเป็นหนี้และมีปัญหาเรื่องน้ำในช่วงหน้าแล้ง ก่อนนำปัญหาดังกล่าวปรึกษาเจ้าหน้าที่สำนักงานปฏิรูปที่ดิน จ.พระนครศรีอยุธยา ต้องการหาพืชตัวใหม่มาปลูกแทนอาชีพทำนา หลังศึกษาพืชที่มีความเป็นไปได้อยู่หลายตัว จนในที่สุดก็มาลงเอยที่เมล่อน น่าจะตอบโจทย์ได้ดีที่สุด หลังพบว่าเป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่นาและใช้น้ำน้อย

              “ชาวบ้านที่นี่มีอาชีพหลักคือทำนาและปลูกผักบุ้งจีน แต่มีปัญหาเรื่องตลาดและราคาที่ไม่แน่นอน ยิ่งทำก็ยิ่งเป็นหนี้ แต่ก็ไม่มีทางเลือกอื่น  อย่างช่วงหน้าแล้งทุกปีก็จะมีปัญหาเรื่องน้ำ ทำนาก็ไม่ได้ ปลูกผักบุ้งก็ต้องใช้น้ำ  คิดว่าถ้าเป็นแบบนี้ต่อไปมีแต่จะสร้างหนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงไปขอคำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก.อยุธยา และเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตร เขาก็แนะนำให้ปลูกเมล่อน พาไปดูงานตามที่ต่างๆ ทั้งพิษณุโลก สุพรรณบุรี แล้วมาทดลองทำดูบนเนื้อที่ 5 ไร่ ช่วงแรกๆ ก็ไปได้ดี หลังจากนั้นก็เริ่มมีโรคแมลงเข้าทำลายจนได้รับความเสียหายหมดทั้งที่ใกล้จะเก็บเกี่ยวแล้ว ตอนนั้นเป็นหนี้ประมาณ 4-5 แสน” สวาทย้อนอดีตอันขมขื่น ก่อนจะพลิกฟื้นชีวิตอีกครั้งหลังรวมกลุ่มเป็นวิสากิจชุมชนเมื่อปี 2554 และปรับเปลี่ยนวิธีการปลูกใหม่จากกลางแจ้งมาสู่ระบบโรงเรือนแบบปิดเพื่อป้องกันโรคและแมลงเข้าทำลาย

 

พลิกที่นาหันปลูก“เมล่อน”ชุบชีวิตเกษตรกร“คู้สลอด”

 

              “ผมเริ่มทดลองปลูกครั้งแรกเมื่ิอปี 2548 พอปี 2554 ก็รวมกลุ่มจัดตั้งเป็นวิสากิจชุนชนแล้วกู้เงิน ธ.ก.ส.มา 10 ล้านในนามกลุ่มมาแบ่งให้สมาชิกนำไปลงทุนสร้างโรงเรือนเบื้องต้นรายละ 3 โรง  ค่าก่อสร้างอยู่ที่ 1.5 แสนบาทต่อโรง อย่างของผมเริ่มจาก 3 โรง ตอนนี้ขยายเพิ่มเป็น 35 โรงแล้ว เมื่อมีกำไรก็จะนำมาลงทุนสร้างเพิ่มเรื่อยๆ พอปลูกในโรงเรือนยาฆ่าแมลงก็ไม่ใช้ ปุ๋ยเคมีใช้บ้าง ส่วนใหญ่จะใช้ปุ๋ยขี้ไก่ ผลผลิตก็ออกมาดีมีพ่อค้ามารับซื้อถึงที่ด้วย” 

               สวาทอธิบายขั้นตอนการปลูกเมล่อนในระบบโรงเรือนแบบปิด โดยเริ่มจากการเพาะกล้าประมาณ 10 วัน จากนั้นย้ายเข้ามาปลูกในโรงเรือนขนาดกว้าง 7 เมตร ยาว 41 เมตร สูง 5 เมตร ภายในยกเป็นร่องเตรียมไว้ใช้พลาสติกคลุมพร้อมการติดตั้งระบบน้ำหยด โดยในหนึ่งโรงเรือนจะมีจำนวน 5 แถว แถวละ 110 ต้น รวม 550 ต้นต่อโรงเรือน ใช้ระยะเวลาการปลูกตั้งแต่เพาะกล้าจนถึงเก็บเกี่ยวประมาณ 80 วัน โดยเริ่มจากการใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ 21-21-21 จากนั้นประมาณ 20-30 วันหลังผสมเกสรก็จะใส่ปุ๋ยสูตร 5-10-40 อัตรา 0.8-1 กรัมต่อต้นต่อวัน จากนั้นประมาณ 37-39  วันก็ใส่ปุ๋ยสูตร 0-0-50 อัตรา 150 กรัมต่อต้นต่อวันจนกว่าจะมีการเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยก่อนเก็บเกี่ยวผลผิตประมาณ 7-10 วัน จะต้องงดการให้น้ำเพื่อเพิ่มความหวานให้ผลผลิต

 

พลิกที่นาหันปลูก“เมล่อน”ชุบชีวิตเกษตรกร“คู้สลอด”

 

               “พันธ์ที่ปลูกก็มี 115, 128, 51 และ 99 ที่เพิ่มเข้ามาก็มีสีทองตาข่ายนำเข้ามาจากไต้หวัน  ตอนนี้เราส่งห้างท็อปส์อยู่ที่ กิโลกรัมละ 85 บาททุกสายพันธุ์ เป็นราคาที่เราพอใจ  ที่ผ่านมาทุกพ่อค้า ท็อปส์ให้ดีที่สุด จ่ายเงินตรงเป็นกันเอง ไม่เอารัดเอาเปรียบเกษตรกร ที่สำคัญผู้บริหารระดับสูงลงมาดูพื้นที่จริงเลย  น้ำหนักผลเฉลี่ยอยู่ที่ 1.2-2.4 กิโลกรัม ให้ผลผลิตปีละ 3 ครั้ง ลูกค้าส่วนใหญ่จะชอบสีเขียว เขาบอกว่าสีเขียวหวานกรอบดี” ประธานกลุ่มคนเดิมเผย พร้อมเตรียมเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้และท่องเที่ยวเชิงเกษตรแห่งใหม่ ของ จ.พระนครศรีอยุธยา หลังได้รับการประสานจากสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด ซึ่งคาดกว่าจะเปิดรับนักท่องเที่ยวและผู้สนใจมาเยี่ยมชมศูนย์อย่างเป็นทางการในเร็วๆ นี้ อีกด้วย สนใจผลผลิตเมล่อนหรือเยี่ยมชมแปลงปลูกโทร.08-6086-6930 ประธานกลุ่มยินดีต้อนรับ

                                                                  

           

      

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ