ข่าว

แปลงน้ำยางข้นสู่ ‘บุรีพารา’หมอนคุณภาพส่งออก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย - สุรัตน์ อัตตะ

                  ผลกระทบจากราคายางพาราตกต่ำอย่างต่อเนื่อง ทำให้กลุ่มเกษตรกรในหลายพื้นที่หันมาหาทางออกด้วยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าทดแทนรายได้ที่ขาดหายไป กลุ่มวิสากิจชุมชนหมอนยางพาราบุรีรัมย์ก็เป็นอีกตัวอย่างความสำเร็จในการใช้วัตถุดิบน้ำยางข้นมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หมอนจากยางพารา  ภายใต้สัญลักษณ์ทางการค้า “บุรีพารา” จนสามารถสร้างรายได้เพิ่มให้แก่เกษตรกรสมาชิกได้เป็นอย่างดี

 

แปลงน้ำยางข้นสู่ ‘บุรีพารา’หมอนคุณภาพส่งออก

 

                    ธนินท์ วัฒนวงศ์สันติ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหมอนยางพาราบุรีรัมย์ ถือเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการผลักดันการจัดตั้งกลุ่มหมอนยางพาราบุรีรัมย์ จนกลายมาเป็นผลิตภัณฑ์เด่นของจังหวัด ผ่านกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพได้มาตรฐานการส่งออกสามารถเพิ่มมูลค่ายางพาราและสร้างได้เสริมให้แก่เกษตรกรสมาชิกชาวสวนยางได้เป็นอย่างดี แม้ทุกวันนี้ทางกลุ่มได้นำวัตถุดิบน้ำยางข้นจากต่างพื้นที่ แต่เป็นการจุดประกายให้เกษตรกรมีการตื่นตัวหาวิธีแปรรูปเพิ่มมูลค่าจากยางพารามากกว่าหวังพึ่งราคาที่ไม่แน่นอนจากราคายางแผ่นดิบ ยางก้อนถ้วยและน้ำยางสดอีกต่อไป

 

แปลงน้ำยางข้นสู่ ‘บุรีพารา’หมอนคุณภาพส่งออก

 

                    “เริ่มก่อตั้งกลุ่มเมื่อต้นปี 2559 จากนั้นตระเวนไปดูงานตามที่ต่างๆ กว่าจะเป็นรูปเป็นร่าง ผ่านการตรวจสอบคุณภาพ มาตรฐานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนเสร็จสมบูรณ์และสามารถดำเนินการผลิต 100% เพิ่มทำตลาดได้ประมาณ 3 เดือนที่ผ่านมานี่เอง ตลาดหลักก็ออกตระเวนขายตามงานโอท็อปต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ส่วนต่างประเทศตอนนี้เริ่มมีออเดอร์จากต่างประเทศเข้ามาแล้วทั้งจีนและเวียดนาม สนนราคาขายส่งใบละ 390 บาทโดยจะผลิตอยู่ที่เฉลี่ย 200-300 ใบต่อวัน ส่วนใหญ่จะผลิตตามออเดอร์มากกว่า” ประธานกลุ่มคนเดิมเผย

 

แปลงน้ำยางข้นสู่ ‘บุรีพารา’หมอนคุณภาพส่งออก

 

                      ส่วนขั้นตอนการผลิตนั้น ธนินท์อธิบายว่า เริ่มจากนำน้ำยางพาราข้นที่ผ่านกระบวนการคัดกรองเรียบร้อยแล้วมาเข้าสู่ขั้นตอนการปั่นตีฟองในถัง ซึ่งบรรจุน้ำยางข้นประมาณ 10 กิโลกรัมพร้อมเติมน้ำยาบางชนิด (ไม่เป็นอันตรายต่อสุภาพ) ลงไปเช่นน้ำยาเซตตัว น้ำยากันเหลือง น้ำยากันแบคทีเรียจากนั้นใช้เวลาปั่นประมาณ 25 นาทีแล้วเทลงบล็อก หลังจากน้ำยางเซตตัวแล้วทิ้งไว้ 15 นาที จึงนำเข้าตู้อบ อุณหภูมิที่ 90 องศาเซลเซียสประมาณ 40 นาที จากนั้นเข้าสู่กระบวนการล้างสารเคมีออกด้วยน้ำอุ่นด้วยอุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส เสร็จแล้วนำมาล้างน้ำสะอาด 3 น้ำเพื่อลดปริมาณกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ จากนั้นเข้าสู่ขั้นตอนการรีดประมาณ 3 ครั้งและเป่าด้วยพัดลม แล้วเข้าสู่กระบวนการตัดแต่งหมอนและการแพ็กเกจจิ้งเพื่อจำหน่ายต่อไป ส่วนเศษยางที่เหลือใช้ก็จะนำไปทำผลิตภัณฑ์อื่นๆ อาทิ หมอนอิง ปลอกสวมคอ เป็นต้น ส่วนในอนาคตก็แปรรูปเป็นที่นอนยางพาราด้วย

                     ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวระหว่างนำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหมอนยางพาราบุรีรัมย์ ภายใต้สัญลักษณ์ทางการค้า “บุรีพารา” หมู่ 2 ต.สะแกซำ อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ โดยระบุว่าในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือโดยเฉพาะจ.บุรีรัมย์มีศักยภาพด้านการผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์จากน้ำยางพาราในหลากหลายรูปแบบตามนโยบายการขับเคลื่อนและเพิ่มประสิทธิภาพด้านการส่งเสริมและสนับสนุนด้านยางพาราอย่างครบวงจรเพื่อให้สามารถตอบสนองกับนโยบายภาครัฐบาลในการเร่งพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรชาวสวนยางพราและมุ่งส่งเสริมให้เกษตรกรชาวสวนยางพาราในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีโอกาสที่จะก้าวเข้าประตูการค้ายางพาราของตลาดอินโดจีน หรือซีแอลเอ็มวี ที่ต้องการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและแปรรูปยางพาราในระดับภูมิภาคอีกด้วย

 

แปลงน้ำยางข้นสู่ ‘บุรีพารา’หมอนคุณภาพส่งออก

 

                        “หมอนจากยางพารา ของกลุ่มบุรีพาราก็เป็นอีกผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้เพิ่มให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางมาทดแทนส่วนรายได้ที่ขาดหายไปจากราคายางตกต่ำ ก็เป็นที่น่ายินดีขณะนี้มีออเดอร์จากจีนและเวียดนามเข้ามาแล้ว” ผู้ว่าการกยท.กล่าว พร้อมเชิญชวนพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางเร่งหาวิธีสร้างมูลค่าเพิ่มจากยางพารา หรือหารายได้เสริมด้วยการปลูกพืชเศรษฐกิจแซมในสวนยางเพื่อเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่งด้วย

                       หมอนจากยางพารา ภายใต้สัญลักษณ์ทางการค้า “บุรีพารา” ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหมอนยางพาราบุรีรัมย์ นับเป็นอีกทางเลือกในการเพิ่มมูลค่าในยุคที่ราคายางพาราตกต่ำ สนใจผลิตภัณฑ์คุณภาพจากยางพาราโทร.0-4462-5201 และยินดีให้คำแนะนำกระบวนการผลิตในทุกขั้นตอน

         

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ