ข่าว

ธนาคารปูม้าของชุมชน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย - รศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ

          เมื่อก่อนนี้เวลาไปตลาดหาซื้อปูม้า ก็จะเห็นปูม้าตัวใหญ่ๆ วางขายกันทั่วไป แต่ว่าปัจจุบันปูม้ามีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ เพราะไม่ทันโตก็จับขายแล้วและนับวันจะหายากมากขึ้นทุกที อย่างเมื่อ 20 ปีก่อน จับปูม้าได้ปีละณ 4 หมื่นตัน พอมาอีก 10ปี ปริมาณปูม้าที่จับได้ลดลงไปเกือบครี่ง สาเหตุเพราะการจับปูเป็นไปโดยขาดความรู้ที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือประมงของชาวประมง หรือความรู้ของชาวประมงที่ไม่สามารถแยกแยะคัดขนาดปูและประเภทของปูได้ หมายความว่าจับอะไรขึ้นมาได้ก็ส่งขายหมด แทนที่จะปล่อยปูขนาดเล็กหรือปูไข่กลับลงทะเลไป

 

ธนาคารปูม้าของชุมชน

 

          จากการศึกษาของ ผศ. อภิรักษ์ สงรักษ์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย พบว่าปูม้าที่ชาวประมงจับขึ้นมาได้นั้นประมาณร้อยละ 40 เป็นปูขนาดเล็ก และยังพบว่าปูม้าเพศเมียที่จับขึั้นมาได้ เกินกว่าครึ่งหนึ่งเป็นปูที่อยู่ในระยะสืบพันธุ์วางไข่ หากจะแก้ปัญหาเรื่องปูม้าให้มีความยั่งยืน ก็คงต้องจัดการประมงปูม้าด้วยการกำหนดมาตรการทำประมงด้วยความรับผิดชอบ แต่ต้องได้รับความร่วมมือและเป็นที่ยอมรับของชาวประมงในพื้นที่ชุมชนชายฝั่ง ที่จะต้องมีความตระหนักและมีจิตสำนึกเห็นคุณค่าความสำคัญของทรัพยากรปูม้า เพื่อจะได้ร่วมกันรักษาไว้ให้ย่ี่งยืน ซี่งเรื่องนี้ทีมวิจัยมีความพยายามในการผลักดันให้เกิดขึ้น โดยใช้วิธีการที่เรียกว่า “ธนาคารปูม้า” เป็นเครื่องมือ

         ธนาคารปูม้า เป็นการจัดการทรัพยากรปูม้าโดยการนำเอาปูม้าไข่นอกกระดอง มาปล่อยในกระชัง เพื่อให้แม่ปูมีโอกาสปล่อยไข่กลับไปสู่ทะเล และคาดหวังว่าจะสามารถเพิ่มปริมาณลูกปูม้าให้เจริญเติบโตไปทดแทนที่ถูกจับไปได้ ซึี่งรูปแบบธนาคารปูม้านี้ได้รับความสนใจของชุมชนประมงชายฝั่งที่ประกอบอาชีพจับปูม้าขาย โดยมีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาร่วมด้วย ทั้งภาครัฐ เอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผลก็คือธนาคารปูม้าได้ขยายผลไปยังชุมชนชายฝั่งทะเลทั้งแถบอันดามันและอ่าวไทยอย่างรวดเร็ว

 

ธนาคารปูม้าของชุมชน

 

         ข้อจำกัดบางอย่างที่เกิดขึ้น อย่างเช่นบางพื้นที่ไม่เหมาะสมที่จะสร้างกระชังลอย จึงเกิดการปรับตัวและพัฒนาขึ้นมาเป็นธนาคารปูม้าแบบโรงเพาะฟัก ซี่งเป็นการสร้างโรงเพาะฟักขึ้นมาโดยนักวิชาการ แล้วให้คนในชุมชนฝึกปฏิบัติและดำเนินการเอง ที่มีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก ระบบการเพาะฟักแบบนี้ทำให้ได้ลูกปูที่แข็งแรง มีคุณภาพ พร้อมที่จะปล่อยลงทะเลได้

         จากการเพาะฟักไข่ปูม้า 1 ตัว จะให้ไข่ได้ประมาณ 1 ล้านฟอง และมีอัตราฟักไข่ได้มากกว่าครึี่งหนึี่ง ซึี่งหมายความว่าแม่ปู 1 ตัว สามารถให้ลูกปูได้มากกว่า 5 แสนตัว ในบรรดาลูกปูเหล่านี้หากรอดตายและเติบโตเป็นปูขนาดใหญ่ได้เพียงร้อยละ 0.001 หมายความว่าจะมีปูม้าเพิ่มขึ้นในธรรมชาติประมาณ 50 กิโลกรัม จากการเพาะฟักแม่ปูม้าเพียง 1 ตัว

         ความสำเร็จของงานนี้จะส่งผลต่อทรัพยากรปูม้าของไทย ทำให้เรามีโอกาสกินปูม้าได้โดยไม่ขาดแคลน ทั้งหมดนี้เป็นความร่วมมือระหว่างงานวิชาการและชุมชน โครงการธนาคารปูม้าแบบโรงเพาะฟักชุมชนคือจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่ทำให้ชุมชนยอมรับองค์ความรู้ทางวิชาการ และยอมเปลี่ยนแนวความคิดเดิม กลายเป็นส่ิ่งที่ชุมชนคาดหวังให้เป็นเครื่องมือในการประสานการทำงานร่วมกัน เกิดการทำงานร่วมกันโดยชุมชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

 

ธนาคารปูม้าของชุมชน

 

        ปัจจุบันเครือข่ายการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจังหวัดตรัง ได้มีการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้าและการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งขึ้นมา โดยมีความร่วมมือระหว่างนักวิชาการและชุมชน

       ที่สำคัญคือในแผนการทำงานของคณะกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจังหวัดตรัง ได้บรรจุเรื่องธนาคารปูม้าเข้าไว้ในแผนเรียบร้อยแล้ว หมายความว่างานด้านนี้จะได้รับการผลักดันให้เดินหน้าต่อไป

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ