ข่าว

ปัญหาพัฒนากิจการ“กล้วยไม้”ไทย ตอน3

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย - ศ.ระพี สาคริก

(ต่อจากอาทิตย์ที่แล้ว)  

               จึงขอกล่าวสรุปในประเด็นนี้ว่า หากชีวิตเป็นไปอย่างปกติวิสัยแล้ว แต่ละคนต้องมีความเพี้ยนในด้านการคิดอ่าน แต่ความเพี้ยนจะต้องมีเหตุผลและหลักความจริงเสมอ นอกจากนั้น ความเพี้ยนที่เกิดขึ้นโดยมีหลักความจริงเป็นเหตุผล อาจเรียกได้ว่า “ประสบการณ์” อันเป็นสิ่งที่มีค่ามากต่อการปฏิบัติงานในอนาคต

               เรื่องที่จะกล่าวต่อไปนี้ จึงเป็นความรู้ที่ได้จากการปฏิบัติงานในการพัฒนากิจการกล้วยไม้ของประเทศไทย ซึ่งเป็นผลสะท้อนมาจากปัญหาขั้นพื้นฐานของสังคมไทย เพิ่มพูนมาเป็นลำดับ ก่อนที่เราจะกล่าวว่า จะแก้ปัญหาอย่างไร จึงควรจะได้หาความรู้เสียก่อนว่า ปัญหาพื้นฐานของวงการกล้วยไม้ของเรานั้นเป็นอย่างไร และผู้เขียนยังเชื่อว่า ไม่ว่าวงการกล้วยไม้ วงการพืชผลอื่นๆ หากพิจารณาลึกลงไปสู่ระดับพื้นฐานแล้ว จะตั้งอยู่บนพื้นฐานปัญหา อันเดียวกัน ตราบใดที่เราอยู่ในสังคมไทยด้วยกัน มีระบบและโครงสร้างเดียวกัน เรื่องนี้ย่อมสะท้อนให้เห็นปัญหาในเรื่องอื่นๆ ได้เช่นกัน ปัญหาการศึกษาของชาติ

               ปัญหาเรื่องการศึกษานี้ เป็นปัญหาหลักสำคัญประการหนึ่งที่ควรแก่การหยิบยกมาวิเคราะห์ก่อน ปัญหานี้มีอยู่สองรูปแบบ รูปแบบแรกได้แก่ คนมีการศึกษาและคนขาดการศึกษา ซึ่งไม่เพียงแต่ขาดความรู้ทางวิชาการเท่านั้น แต่การเหลื่อมล้ำกันในด้านการศึกษา ยังมีผลก่อให้เกิดช่องว่างทางด้านความรู้อีกด้วย เนื่องจากการกระจายการศึกษาขาดความสมดุล รูปแบบของปัญหาที่เกี่ยวกับการศึกษาอีกรูปแบบหนึ่งได้แก่ ความเหมาะสมของรูปแบบการศึกษาที่สังคมได้รับบริการ เช่น การให้การศึกษาโดยมุ่งวิชาการเป็นหลัก ไม่ได้มุ่งสู่การสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวมเป็นหลัก แล้วนำวิชาการไปใช้เป็นเพียงเครื่องมือการสร้างสรรค์ เพื่อการนำเอาความรู้ไปใช้ในแนวทางที่บังเกิดประโยชน์เพื่อความเจริญในระยะยาวของส่วนรวม

                ระบบการศึกษาของไทย ได้รับงบประมาณมาจากภาษีอากรของประชาชนทั้งหลายโดยไม่มีการละเว้น และในทางปฏิบัตินั้น ในสังคมไทยมีความเหลื่อมล้ำกันในอิทธิพลทางเศรษฐกิจและสังคมอยู่อย่างกว้างขวางมาก ยิ่งถ้าเป็นชาวนาชาวสวนที่ยากจน ย่อมถูกทั้งภาษีตามกฎหมายและภาษีมืดซึ่งกระจายอยู่ในระบบสังคมไทยมากมาย โดยเฉพาะยังอยู่ในกระบวนการผลิตการค้าทางเกษตรกรรม ผู้มีอิทธิพลย่อมมีช่องทางการเลี่ยงภาษีได้มาก

                 เงินภาษีอากรส่วนหนึ่งถูกนำมาใช้จ่ายในการบริการการศึกษาแก่ประชาชน แต่ผู้ที่มีโอกาสได้รับการศึกษาทุกระดับซึ่งมิได้เป็นไปโดยทั่วถึง ยิ่งระดับสูง ย่อมเป็นโอกาสของคนส่วนน้อยลงไป คนเหล่านี้ เมื่อสำเร็จการศึกษาไปแล้ว ได้รับความรู้ทางวิชาการไป คงหมกมุ่นกับวิชาการที่ตนได้เรียนมาและพยายามเอาดีเอาเด่นในทางแคบๆ กันอย่างจริงจัง มีบางคนเท่านั้นที่จะคิดว่าตนเองไม่ได้มีหน้าที่เพียงแต่การค้นความทางวิจัยวิชาการนั้น แต่ยังมีหน้าที่รับใช้และปกป้องผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ นักวิชาการจำนวนไม่น้อยที่ไม่สนใจศึกษาและพัฒนาโครงสร้างสังคมที่ตนนำวิชาการไปใช้บริการ และไม่คำนึงว่าวิชาการนั้นจะถึงมือใครบ้าง ด้วยโครงสร้างและระบบสังคมที่ล้าสมัย จึงทำให้คนเหล่านี้ตกเป็นผู้รับใช้คนส่วนน้อยไปโดยปริยาย ทั้งๆ ที่ได้รับโอกาสการศึกษามาด้วยทุนของคนทั้งประเทศ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ