ข่าว

"ปุ๋ยหมัก"เพื่อเกษตรกรไทยทั่วหล้า

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย - โต๊ะข่าวเกษตร

"ปุ๋ยหมัก"เพื่อเกษตรกรไทยทั่วหล้า

        "ต้นไม้ทุกชนิดต้องการอาหาร เพื่อการเจริญเติบโต พูดง่ายๆ เราต้องใส่ปุ๋ย ไร่นา สวนของเรา พืชผลจึงจะงามดี เดี๋ยวนี้ปุ๋ยที่ซื้อตามท้อง ตลาดแพงเหลือเกิน เรามาทำปุ๋ยหมักใช้เองดีกว่า"

 

"ปุ๋ยหมัก"เพื่อเกษตรกรไทยทั่วหล้า

      

       พระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีฯ ที่ทรงพระราขทานสูตรและวิธีการทำปุ๋ยหมัก ด้วยกรมพัฒนาที่ดิน ได้สนองพระราชดำริ พัฒนาสูตรปุ๋ยดังกล่าว เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวไทย 

วิธีทำ

ของที่ต้องเตรียม

          1.ซากพืช ได้แก่ ใบไม้ ผักตบชวา หญ้าแห้ง ลำต้นถั่ว ลำต้นข้าวโพด ใบ และต้นมันสำปะหลัง กระดูกปอ ตามที่มี สับเป็นท่อน ๆ  สั้น ๆ ให้เปื่อยเร็ว

          2.ปุ๋ย

           ก.ปุ๋ยคอก คือ มูลสัตว์ ขี้วัว ขี้ควาย ขี้เป็ด ขี้ไก่ ขี้ค้างคาว อะไรก็ได้ 

           ข.ปัสสาวะคน หรือสัตว์ 

           ค.กากเมล็ดนุ่น,กากถั่ว ,ซากต้นถั่วชนิดต่าง ๆ (พืชตระกูลถั่ว) 

          3.ดินร่วน พอสมควร ถ้าเป็นหน้าดินยิ่งดี  

 

"ปุ๋ยหมัก"เพื่อเกษตรกรไทยทั่วหล้า

 

การกองปุ๋ย      

          1.กองในหลุม ต้องขุดหลุมขนาดกว้างราว 1 เมตร ยาว 1 เมตร ลึก 1 เมตร ระวังดินพังทลายลงในหลุม ถ้ามีการระบายน้ำได้ยิ่งดี       

         2.กองในคอก ปรับดินบริเวณที่จะกองปุ๋ยหมักให้แน่น ใช้ไม้ไผ่หรือไม้อื่นที่ทำได้ กั้นเป็นคอกกว้าง 2 เมตร ยาว 4 เมตร สูง 1 เมตร แบ่งคอกเป็น 2 ส่วน ครึ่งหนึ่งใส่ปุ๋ยหมัก อีกครึ่งหนึ่งไว้กลับกองปุ๋ย ทำหลังคาใบจากหรือใบมะพร้าวคลุมหลังคา ถ้ามีถุงพลาสติกคลุมกันฝนชะปุ๋ยก็ดี

          3.เอาซากพืชที่เตรียมไว้กองเกลี่ยในคอก (หรือในหลุม) ให้เป็นชั้น เหยียบตามขอบให้แน่นขนาดคนเหยียบแล้วไม่ยุบอีก ชั้นหนึ่งๆ สูงราว 1 คืบ (30 ซม.) รดน้ำให้ชุ่ม แล้วเอาปุ๋ยคอกโรยทับให้ทั่วกัน สูง 2 องคุลี (5 ซม.) ถ้ามีปุ๋ยเคมี (สูตร 16-20-0 หรือ 14-14-14,แอมโมเนียมซัลเฟต หรือยูเรีย) ก็โรยบางๆ ให้ทั่ว แล้วทับด้วยดินละเอียดหนาประมาณ 1 องคุลี สลับด้วยซากพืชแล้วรดน้ำทำเป็นชั้นๆ อย่างนี้จนปุ๋ยเต็มคอก (น้ำที่รดจะผสมด้วยปัสสาวะด้วยก็ได้)   

 

"ปุ๋ยหมัก"เพื่อเกษตรกรไทยทั่วหล้า        

 

ข้อควรระวัง

           1.อย่าให้มีน้ำขัง การรดน้ำมากไปจะทำให้ระบายอากาศไม่ดี

           2.ปุ๋ยกองใหญ่ไปจะเกิดความร้อนสูง ปุ๋ยจะเสีย ถ้าในกองปุ๋ยมีความร้อนสูงให้เติมน้ำบ้าง

           3.ปุ๋ยกองเล็กไป จะสลายตัวช้า

           4.อย่าใช้ปุ๋ยเคมีพร้อมกับใส่ปูนขาว จะทำให้ธาตุไนโตรเจนสลายตัว

การกลับปุ๋ย

           ทุก 30 วัน ควรกลับกองปุ๋ย โดยเอาชั้นบนสุดของกองนำไปเกลี่ยในอีกส่วนของคอกเป็นชั้นล่างสุด แล้วเอาชั้นสองเกลี่ยทับแล้วรดน้ำ ควรกลับปุ๋ย (ทุก 30 วัน) จนกว่าซากพืชจะเปื่อยผุหมดทั้งกอง กินเวลา 3-4 เดือน เมื่อปุ๋ยใช้ได้ สังเกตุจากความร้อนในกองจะใกล้เคียงกับความร้อนของอากาศ ปุ๋ยหมักจะเป็นสีน้ำตาลแก่ เอาตะแกรงร่อนปุ๋ยหมักเก็บไว้

การใช้ประโยชน์

          ประหยัดการใช้ปุ๋ยเคมีได้ครึ่งหนึ่ง ทำให้ดินร่วน อุดมสมบูรณ์ เพิ่มธาตุไนโตรเจน ไม่เป็นอันตราย รักษาความชุ่มชื้นของดิน

 

"ปุ๋ยหมัก"เพื่อเกษตรกรไทยทั่วหล้า

  

        ดังนั้น กรมพัฒนาที่ดิน ได้สนองพระราชดำริ โดยได้ทำการศึกษา คิดค้น นวัตกรรม วิจัยจุลินทรีย์ ที่เป็นประโยชน์ทางการเกษตร ผลิตสารเร่งซุปเปอร์ พด.1 เพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถผลิตปุ๋ยหมักได้ในระยะเวลาอันสั้น ประหยัด สะดวก ง่าย ตรงกับความต้องการของเกษตรกร

          ทว่า มีปัญหาในเรื่องปริมาณธาตุอาหารหลักในปุ๋ยหมักไม่เพียงพอกับความต้องการ ธาตุอาหารของพืช กรมพัฒนาที่ดิน จึงได้มีการศึกษาวิจัยต่อยอดเพื่อเพิ่มปริมาณธาตุอาหารในปุ๋ยหมักให้มากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของเกษตรกร จึงได้ผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่มีธาตุอาหารสูง

         โดยใช้วัตถุดิบ ที่มีปริมาณธาตุอาหารสูง เช่น มูลไก่ มูลสุกร มูลนกกระทา มูลกระบือ มูลวัว กระดูกป่น และหินฟอสเฟต ฯลฯ ทำให้สามารถลดต้นทุนการผลิต ลดต้นทุนในการใช้ปุ๋ยเคมี สามารถปรับปรุงสมบัติทางกายภาพ ชีวภาพ ทางเคมีในดินให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืช

         ผลจากการ ทดลองพบว่า สามารถเพิ่มผลผลิตพืชได้ 20 – 30 % ต่อมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้นำความกราบบังคมทูล สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขอพระราชทาน พระราชานุญาตนำสูตรปุ๋ยดังกล่าว ไปขยายผลเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่เกษตรกร ปรับใช้ในการทำการเกษตรแบบพึ่งพาตนเองในวงกว้าง                

 

"ปุ๋ยหมัก"เพื่อเกษตรกรไทยทั่วหล้า

 

        นอกจากนี้ กรมพัฒนาที่ดิน ยังมีแผนงานส่งเสริมการผลิตปุ๋ยสูตรพระราชทานที่มีธาตุอาหารสูง โดยมีการอบรม สาธิต ส่งเสริม ให้องค์ความรู้ รวมทั้งสนับสนุนวัตถุดิบ/ปัจจัยการผลิต เพื่อผลิตปุ๋ยสูตรพระราชทานที่มีธาตุอาหารสูง ให้กับกลุ่มเกษตรกรที่ลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร และหมอดินอาส

        โดยในปีงบประมาณ 2557 กรมพัฒนาที่ดิน ได้ดำเนินงานส่งเสริมการผลิตปุ๋ยสูตรพระราชทาน จำนวน 1,000 ตัน เป็นโครงการนำร่องในพื้นที่ที่มีความเหมาะสม ซึ่งกรมพัฒนาที่ดิน ได้มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต สถานีพัฒนาที่ดินที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ต่อเนื่องกระทั่งถึงปัจจุบัน

 

ที่มา : กรมพัฒนาที่ดิน

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ