ข่าว

เป้า10ปึ"ยโสธร"เมืองต้นแบบเกษตร"ออแกนิกส์"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พ่อเมืองยโสธรเร่งเดินหน้า "ยโสธรโมเดล" ตั้งเป้า 10 ปี เมืองต้นแบบเกษตรออแกนิกส์ ต่อยอดเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ก้าวไกลรุกตลาดโลก

พ่อเมืองยโสธรเร่งเดินหน้า "ยโสธรโมเดล" ตั้งเป้า 10 ปี เมืองต้นแบบเกษตรออแกนิกส์ ต่อยอดเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ก้าวไกลรุกตลาดโลก 

        กระแสการบริโภคในยุคปัจจุบันประชาชนทุกวัยต่างให้ความสนใจเรื่องการดูแลสุขภาพ ความปลอดภัยของอาหารการกินที่เน้นซื้อหาแบบปลอดสารพิษ ทำให้สินค้าในกลุ่มออแกนิกส์ได้รับความนิยม จนผลิตไม่ทันกับความต้องการของตลาด  

        ภาคอีสานเป็นพื้นที่การเกษตรที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะ จ.ยโสธร ที่มีการเพาะปลูกข้าวอินทรีย์ส่งขายทั้งในและต่างประเทศจนเป็นที่ยอมรับ จากความโดดเด่นและศักยภาพในการทำเกษตรแบบออแกนิกส์ ทำให้ จ.ยโสธร ได้รับคัดเลือกจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขับเคลื่อนโครงการพัฒนาให้ทั้งจังหวัดทำเกษตรอินทรีย์ โดยพลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับนายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร ที่ตั้งเป้า 10 ปี ให้เป็นจังหวัดเกษตรอินทรีย์ทั้งจังหวัด

        “เรามีกลุ่มเกษตรอินทรีย์ ปราชญ์ชาวบ้าน ที่มีความรู้การทำเกษตรปลอดภัยอยู่เป็นจำนวนมาก ที่พร้อมจะถ่าย ทอดองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรรายอื่นๆ สำหรับโครงการพัฒนาเกษตรอินทรีย์วิถียโสธร ทางจังหวัดจะขับเคลื่อนการทำเกษตรอินทรีย์ให้ครอบคลุมมีพื้นที่นำร่องทั้งการปลูกพืช ปศุสัตว์ทั้งสัตว์บกสัตว์น้ำ หลังจากหน่วยงานนำแนวคิดไปเผยแพร่ พบว่าเกษตรกรให้ความสนใจ เพราะไม่ได้เปลี่ยนแปลงวิถีการเพาะปลูก เพียงแต่ชาวบ้านต้องปรับตัวในการลดใช้สารเคมี

         ตอนนี้จึงมีกลุ่มเกษตรผู้ปลูกแตงโมอินทรีย์ อบต.ลุมพุก กลุ่มหอมแดงฟ้าห่วน อ.ค้อวัง ถั่วลิสงนาเวียง อ.ป่าติ้ว และไข่ไก่อินทรีย์ ที่เริ่มจาก 76 ครอบครัวตัวอย่าง ส่งเสริมการเลี้ยงปลาแบบอินทรีย์ ในพื้นที่ที่ทำเกษตรอินทรีย์เดิมที่สนใจเริ่มจากกลุ่มเล็กๆแล้วจึงขยายไปยังเกษตรกรที่ต้องการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตกลุ่มอื่นๆให้ครอบคลุมทั้งจังหวัด”พ่อเมืองยโสธรแจง

         พร้อมระบุถึงการดำเนินงานว่า ความร่วมมือกันในการผลักดันให้ทั้งจังหวัดเป็นพื้นที่นำร่องการทำเกษตรอินทรีย์ เริ่มจากการกระตุ้น สร้างกระแสให้เกษตรกรได้เห็นความสำคัญถึงอาหารปลอดภัยที่มีความสำคัญทั้งต่อสุขภาพของผู้ปลูกและผู้บริโภค ปรับเปลี่ยนแนวคิดด้วยการทำการเกษตรที่เน้นการลดต้นทุนการผลิต แต่ขายได้ราคาที่เกษตรกรอยู่ได้

          การทำเกษตรอินทรีย์ทั้งจังหวัดจะปรับเปลี่ยนความคิดของเกษตรกรใหม่ ให้เห็นความสำคัญ และโอกาสในการเพาะปลูกแบบอินทรีย์ เมื่อเกษตรกรพร้อมที่จะปรับเปลี่ยน จะมีเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่จัดเก็บข้อมูลความเหมาะสมในการเพาะปลูกของเกษตรกรแต่ละพื้นที่

          จากนั้นทีมตรวจสภาพดิน จากกรมพัฒนาที่ดินจะนำตัวอย่างดินไปตรวจสอบ เพื่อนำข้อมูลกลับมาแนะนำให้เกษตรกรนำไปปรับปรุงพัฒนาดินให้เหมาะสมกับการเพาะปลูก สำนักงานเกษตรในพื้นที่รับผิดชอบให้คำแนะนำการปรับเปลี่ยนการใช้สารเคมี สู่การใช้สารธรรมชาติทั้งการปราบศัตรูพืช การเพิ่มผลผลิต การขอรับรองมาตรฐานการผลิตเกษตรอินทรีย์ พร้อมจัดทำแผนที่เกษตรอินทรีย์เพื่อเชื่อมโยงกับเส้นทางยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดที่ครอบคลุมรอบด้าน

          อีกทั้ง มีผลการวิจัยออกมาว่า ครอบครัวที่เน้นการทำเกษตรอินทรีย์จะมีชีวิตที่มีความสุขกว่าเกษตรเคมี สภาพแวดล้อมไม่ถูกทำลายที่สำคัญคือการสร้างเกษตรกรอินทรีย์รุ่นใหม่เพิ่มขึ้น เพื่อสนับสนุนระบบการตรวจสอบ สินค้า เช่น การใช้คิวอาร์โค้ท การนำเทคโนโลยีตรวจสอบมาตรฐานการผลิต ใช้อินเตอร์เนตติดต่อซื้อขายกับผู้ประกอบการโดยตรง เพื่อลดปัญหาพ่อค้าคนกลาง เพิ่มช่องทางการทำตลาดด้วยตัวเอง

         “ที่สำคัญคือทุกภาคส่วนต้องเห็นความสำคัญ และพร้อมเดินหน้ายุทธศาสตร์จังหวัดออแกนิกส์ไปด้วยกัน เราจึงต้องลงพื้นที่ พูดคุยทำความเข้าใจกับทุกกลุ่ม ทั้งให้เจ้าคณะตำบล ได้บอกกล่าว เทศน์ให้ประชาชนได้เห็นประโยชน์ วัดเองก็ต้องปลูกพืชผักเกษตรอินทรีย์ ส่วนนักเรียนปลูกฝังค่านิยม จัดทำหนังสือการ์ตูนเรื่องอีเล้งเคล้งโคล้ง ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ พร้อมให้เครือข่ายครูได้จัดหลักสูตรการให้ความรู้ รวมถึงผลักดันภาคเอกชน ทั้งการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรม ผู้ประกอบ การในพื้นที่ ตามความถนัดของแต่ละหน่วยงานให้เข้ามามีส่วนขับเคลื่อนโครงการให้ประสบความสำเร็จ”

         ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร ยังได้กล่าวถึง การขับ เคลื่อนโครงการพัฒนาเกษตรอินทรีย์วิถียโสธร ผลักดันให้เป็นต้นแบบการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ระดับประเทศ ตั้งแต่การผลิต การแปรรูป จนถึงการ ตลาด ในระยะเวลา 3 ปี คือ พ.ศ.2559-2562 ว่า จ.ยโสธร จะสำรวจข้อมูลรายชื่อกลุ่มเกษตรกรที่เข้าสู่ระบบมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แล้ว และกลุ่มเกษตรกรที่มีศักยภาพในการพัฒนาเข้าสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์  

        จากนั้นจะร่วมกับกระทรวงเกษตร จัดทำแผนพัฒนากลุ่มเกษตรกรที่เหมาะสมกับศักยภาพและความต้องการของแต่ละกลุ่มเพื่อพัฒนาการเกษตรอินทรีย์ของไทยให้เป็นที่ยอมรับ ตั้งเป้าขยายพื้นที่การเพาะปลูกเกษตรอินทรีย์ จาก 40,000 ไร่ เป็น 100,000 ไร่ พร้อมรุกตลาดออแกนิกส์ในระดับโลกต่อไป

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ