ข่าว

หอมแดงไทยกลิ่นฉุน ...สร้างโอกาสในตลาดอาเซียน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บายไลน์ -รศ.สมพร อิศวิลานนท์

               หอมแดง เป็นพืชผักที่ครัวเรือนในอาเซียนนำมาใช้ปรุงอาหารในชีวิตประจำวันมาอย่างยาวนาน เพราะเป็นพืชสมุนไพรและเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านที่มีมาแต่โบราณ แม้ในทางประวัติศาสตร์ได้มีการกล่าวถึง หอมแดง ว่าเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในตะวันออกกลาง ต่อมาได้แพร่กระจายมาในเอเชียใต้ ในแหลมมลายู และในหมูเกาะชวา ตามเส้นทางการค้าระหว่าง พ่อค้าชาวมุสลิมจากตะวันออกกลาง ซึ่งในยุคนั้นจะมีอิทธิพลทั้งทางการค้าเหนือกว่าชนชาติพื้นเมือง และรวมถึงการแพร่กระจายไปในภูมิภาคอื่นๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

             ในประชาคมอาเซียนมีตำรับอาหารพื้นเมืองของครัวเรือนในประเทศต่างๆ ที่ใช้หอมแดงเป็นองค์ประกอบในการปรุงอาหารมากมาย แม้ลักษณะและวิธีการปรุงอาหารของแต่ละประเทศจะแตกต่างกันไป เพราะเป็นที่เชื่อกันในภูมิภาคว่า หอมแดงมีสรรพคุณในการช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย สำหรับข้อมูลตามหลักวิชาการได้อธิบายถึงคุณค่าด้านโภชนาการของหอมแดงไว้ว่าอุดมไปด้วยธาตุ อาหาร ได้แก่ ธาตุฟอสฟอรัส แคลเซียม แมกนีเซียม เหล็ก นอกจากนี้ยังอุดมด้วยวิตามินต่างๆ โดยเฉพาะ วิตามินบี 6 ซึ่งช่วยการทำงานของระบบประสาทและภูมิคุ้มกัน และวิตามินบี 9 หรือ กรดโฟลิค ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการสังเคราะห์และซ่อมแซมสารพันธุกรรม เป็นต้น

             ข้อมูลขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ รายงานว่า ในปี 2556 มีการผลิตหอมและหอมแดงในภูมิภาคอาเซียนประมาณ 2.6 ล้านตัน ทั้งนี้ โดยมีเมียนมาร์เป็นผู้ผลิตรายสำคัญ หรือร้อยละ 43.82 ของผลผลิตในอาเซียน รองมาได้แก่ อินโดนิเซีย และเวียดนาม คิดเป็นร้อยละ 36.82 และ 12.67 ตามลำดับ สำหรับการผลิตหอมแดงของไทยมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 1.53 ของผลผลิตในอาเซียน

             หอมแดง เป็นพืชหลังนา ในประเทศไทยจะมีการปลูกหลังการทำนาในฤดูนาปีเสร็จแล้ว และปลูกกันมากในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ โดยแหล่งผลิตส่วนใหญ่อยู่ใน จ.เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน พะเยา อุตรดิตถ์ ศรีสะเกษ ชัยภูมิ เป็นต้น หอมแดงที่ปลูกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมักเรียกันว่า “พันธุ์ศรีสะเกษ” พันธุ์นี้จะมีเปลือกนอกหนาสีม่วงแดง หัวกลมป้อม กลิ่นฉุน ส่วนหอมแดงที่ปลูกในภาคเหนือมักเรียกกันว่า “พันธุ์เชียงใหม่” ซึ่งมีเปลือกบาง สีส้มอ่อน หัวกลมรี มีกลิ่นฉุนน้อยกว่าพันธุ์ศรีสะเกษ ปริมาณการผลิตหอมแดงของไทยในปี 2557 มีปริมาณผลผลิตโดยรวม 128,832 ตัน ในจำนวนนี้เป็นผลผลิตในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 53.7 และเป็นผลผลิตในภาคเหนือร้อยละ 46.5

             อุปทานผลผลิตหอมแดงของไทยนั้น นอกจากจะใช้เพื่อเป็นส่วนประกอบในการปรุงอาหารของครัวเรือนแล้ว ยังมีการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมผลิตเครื่องแกงแต่งๆ ทำให้การใช้หอมแดงในประเทศมีสัดส่วนถึงร้อยละ 80.3 ในขณะที่มีการส่งออกเพียงร้อยละ 19.7 หรือประมาณ 25,323 ตัน โดยได้ส่งออกไปยังอินโดนีเซียถึงร้อยละ 77 ของปริมาณการส่งออกทั้งหมด รองลงมาได้แก่ สิงคโปร์ จีน และมาเลเซีย

             แต่เดิมเป็นที่เชื่อกันว่า ภายใต้การเปิดเสรีการค้า พืชหอมแดงไทยจะแข่งขันไม่ได้ในตลาดการค้าอาเซียน แต่เพราะการที่หอมแดงไทยมีกลิ่นฉุนที่เป็นลักษณะจำเพาะ โดยเฉพาะพันธุ์ศรีสะเกษ ทำให้เป็นที่ต้องการในตลาดอาเซียน

             การยกเลิกการจำกัดโควตาการนำเข้าหอมแดงของอินโดนีเซียเมื่อปีที่ผ่านมา ได้เป็นแรงขับเคลื่อนให้โอกาสการส่งออกหอมแดงไปยังอินโดนีเซียได้ขยายตัวมากขึ้น

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ