ข่าว

70 ปีฉลองราชย์ ร่วมขยายผลศาสตร์ของพระราชา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

Sustainable Development Challenges in Asia

นายสเตฟาโนส โฟทีโอ ผู้อำนวยการด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (ESCAP) กล่าวในงานเสวนาวิชาการหัวข้อ "ความท้าทายต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของเอเชีย" (Sustainable Development Challenges in Asia) เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2559 ว่า หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สอนให้ตระหนักถึงความสุขที่ไม่ได้ผูกพันกับเงินเพียงอย่างเดียว แต่ให้นึกถึงความสามารถและความเหมาะสมในการดำเนินชีวิตอย่างเป็นประโยชน์และรับผิดชอบ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาให้ได้อย่างยั่งยืน พร้อมทั้งส่งเสริมให้เกิดความเสมอภาคและเท่าเทียมกันในด้านต่าง ๆ

นายสเตฟาโนสชี้ให้เห็นว่า หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนอกจากจะเป็นแนวทางการพัฒนาที่สำคัญยังมีความสอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมของเอเชีย เนื่องจากแนวคิดนี้เล็งเห็นคุณค่าของทรัพยากรมนุษย์และสิ่งแวดล้อม อีกทั้งกลไกของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงยังส่งเสริมการมีส่วนร่วมในทุกระดับและเชื่อมโยงตั้งแต่ระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน จนถึงระดับชาติ จึงเป็นแนวทางที่จะช่วยนำเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของโลกไปสู่ความสำเร็จได้

นอกจากนี้ นายสเตฟาโนสได้ตั้งข้อสังเกตว่า การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพเป็นประเด็นสำคัญของประเทศต่างๆ ในเอเชีย/แปซิฟิค ที่ต้องให้ความสำคัญมากที่สุด เนื่องจากเป็นรากฐานของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

            "วันนี้ทั่วโลกมีความต้องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้เกิดความเสื่อมโทรม ในขณะเดียวกันเราพบว่า มีความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงทรัพยากร สุดท้ายจึงส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำ”

นายสเตฟาโนสกล่าวปิดท้ายว่า การลงมือทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนประกอบด้วยชุดกิจกรรมที่หลากหลาย แต่อย่างไรก็ตามการปรับทัศนคติเป็นปัจจัยสำคัญ เกี่ยวข้องกับทุกคน ทุกบริษัท ทุกหน่วยงาน เพราะจะต้องทำทุกด้าน ตั้งแต่การบริโภคอย่างรับผิดชอบ การพัฒนาด้านการศึกษา และด้านสิ่งแวดล้อม

 

มุมมองในการพัฒนาอย่างยั่งยืน

            ...ดิศนัดดา ดิศกุล ประธานกรรมการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์และรองประธานกรรมการมูลนิธิมั่นพัฒนา กล่าวในงานเดียวกันว่า เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติเน้นในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนตามความสามารถในการฟื้นตัว ความเป็นธรรมที่ทุกคนมีส่วนร่วม เป็นเวลากว่า 70 ปีมาแล้วที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงงานอย่างไม่หยุดหย่อนและทรงศึกษาเพื่อเป็นตัวอย่างของการพัฒนาโครงการตามเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน

             ม.ร.ว.ดิศนัดดา ยกตัวอย่างการทำงานบนพื้นที่ดอยตุง ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ผู้ทรงนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการทรงงานพัฒนาพื้นที่บนภูเขาที่ห่างไกลทางภาคเหนือ ตั้งแต่ 4 ทศวรรษที่แล้ว ในขณะที่ดอยตุงเป็นพื้นที่สุ่มเสี่ยงด้านความมั่นคง เนื่องจากเป็นพื้นที่ห่างไกลความเจริญ ประชาชนไม่มีความรู้ และประกอบอาชีพทำไร่ฝิ่นเลื่อนลอย ปลูกฝิ่นเก็บผลผลิตแล้วเผาทำลายหน้าดิน ส่งฝิ่นขายเพื่อประทังชีวิต ประชาชนในพื้นที่ก็อยู่อย่างไม่มีความหวังและอนาคต

            พันธกิจหลักของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ฯ คือ การเข้าไปช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ให้เขาช่วยเหลือตัวเองได้ ทำให้เขาสามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้ โดยใช้หลัก 3S หรือโมเดล 3S เพื่อขจัดทุกข์ให้กับประชาชนชาวเขาดอยตุง ซึ่งเป็นหลักการในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่แม้จะต้องใช้เวลาอย่างมากจึงจะเห็นผลสำเร็จ           

“ดอยตุงมีสภาพเป็นภูเขาหัวโล้น ต้นไม้ถูกตัดโค่น สิ่งแวดล้อมถูกทำลายและทั้งหมดนั้นคือป่าต้นน้ำ สมเด็จย่าท่านทรงวิเคราะห์สภาพพื้นที่ และชาวเขาที่อยู่บนดอย ทรงนำแนวทางหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในการทรงงานโดยมุ่งสร้างชีวิต ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับประชาชนเป็นหลักก่อน"

             ม.ร.ว.ดิศนัดดา เล่าว่า กระบวนการพัฒนาพื้นที่ดอยตุงตั้งอยู่บนพื้นฐานของความยั่งยืน โดยแบ่งการพัฒนาออกเป็น 3 ส่วน  (โมเดล 3S) เริ่มจาก S ตัวแรกคือ ความอยู่รอด (Survival) เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำให้ประชาชนนั้นตอบสนองความต้องการของการดำรงชีวิตเพื่อความอยู่รอดก่อน เริ่มจากการทำ ชลประทาน เพื่อการเกษตร การพัฒนาคุณภาพดิน เพื่อให้การปลูกพืชทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และให้ทีมนักวิชาการทดลองปลูกพืชเศรษฐกิจที่จะกลายเป็นสินค้าเพิ่มมูลค่าให้กับประชาชนในพื้นที่ เช่น การปลูกแมคาเดเมีย          สตอเบอรี่ และกาแฟ โดยมีการจ้างชาวเขาเข้ามาปลูกและดูแลพืชในโครงการพระราชดำริ เพื่อให้มีรายได้สำหรับเลี้ยงชีพ

            พอคนมีรายได้ประจำ ชีวิตพวกเขาก็ดีขึ้น S ตัวที่สองคือ ความพอเพียง (Sufficiency) ด้วยการสร้างมาตรฐานการครองชีวิตให้ สร้างอาชีพอื่นๆ เช่น หัตถกรรม การถนอมอาหาร สอนทำเครื่องปั้นดินเผา ในขณะที่การเกษตรยังเป็นอาชีพหลัก คือเราสร้างมาจากฐานการครองชีพจากสิ่งที่มีในพื้นที่ และส่งนักพัฒนาเข้ามาช่วย

            ท้ายที่สุดโครงการดอยตุงเป็นโครงการที่เติบโตขึ้นอย่างมั่นคง โดย S ตัวที่สามคือ ความยั่งยืน (Sustainability) ความสามารถในการฟื้นตัว เนื่องจากวันนี้ พื้นที่ดอยตุงที่เคยเป็นภูเขาหัวโล้น กลับกลายเป็นสีเขียวชอุ่ม ชาวเขามีอาชีพที่มั่นคงมีรายได้สม่ำเสมอ มีภูมิคุ้มกันความไม่พอดี จากการซึมซับแนวพระราชดำริในการดำเนินชีวิต พวกเขามีความสุข ไม่ย้ายถิ่นฐานและทำอาชีพสุจริต" 

 

ม.ร.ว.ดิศนัดดา กล่าวต่อว่า นี่คือหนึ่งในความสำเร็จของกระบวนการพัฒนาพื้นที่ ซึ่งเกิดความยั่งยืน และเห็นควรที่จะนำเสนอให้เป็นแบบอย่างกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ให้นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปปรับใช้

            นอกจากโครงการดอยตุงในพระราชดำริแล้ว ในงานเสวนาวิชาการครั้งนี้ยังมีตัวอย่างจากองค์กรชั้นนำของต่างประเทศ ได้แก่ ธนาคารกรามีน ผลงานของศาสตราจารย์โมฮัมเหม็ด ยูนุส นักวิชาการเจ้าของรางวัลโนเบลด้านเศรษฐศาสตร์ โดยยูนุสเซ็นเตอร์ประเทศบังคลาเทศ โดย ลามิยา มอร์เชด ผู้อำนวยการศูนย์ยูนุสเซ็นเตอร์ บังคลาเทศ  กล่าวว่า ธนาคารกรามีนเองก็มีจุดเริ่มต้นมาจากความต้องการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมให้กับชาวบังคลาเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงซึ่งเป็นแม่บ้าน ที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงสถาบันการเงิน ธนาคารกรามีนให้เงินกู้แก่คนจนโดยไม่ต้องใช้หลักประกัน เพื่อให้ชาวบ้านนำเงินไปลงทุนทำธุรกิจ โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องเป็นธุรกิจที่จรรโลงสังคม และขยับขยายบนพื้นฐานของความพอดี

            "ยูนุสได้พัฒนาแนวคิดเรื่องไมโครเครดิต ผ่านธนาคารกรามีน ให้เป็นเครื่องมือที่สำคัญยิ่งในการต่อสู้กับความยากจน ธนาคารกรามีนได้กลายเป็นแหล่งผลิตไอเดียและโมเดลสำหรับสถาบันไมโครเครดิตที่เกิดขึ้นมากมายทั่วโลก เราเชื่อว่า ทุกคนในโลกล้วนมีทั้งศักยภาพและสิทธิที่จะใช้ชีวิตอย่างพอเหมาะพอควร ยูนุสและธนาคารกรามีนได้พิสูจน์ว่า แม้กระทั่งผู้ยากไร้ที่ยากจนที่สุด ก็สามารถช่วยเหลือตัวเองให้หลุดพ้นจากความยากจนได้ ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ในสภาพแวดล้อมทางสังคมและวัฒนธรรมใด ๆ  โดยเฉพาะผู้หญิงที่ต้องต่อสู้กับสถานภาพทางสังคมและเศรษฐกิจที่กดขี่พวกเธอ

            ไมโครเครดิตได้แสดงให้โลกเห็นพลังแห่งการปลดปล่อยที่สำคัญ วิสัยทัศน์อันกว้างไกลของยูนุส คือการขจัดความยากจนให้หมดไปจากโลก วิสัยทัศน์นี้ไม่สามารถเป็นจริงได้ด้วยไมโครเครดิตเพียงอย่างเดียว แต่ มูฮัมหมัด ยูนุส และธนาคารกรามีน ได้แสดงให้โลกเห็นว่า ไมโครเครดิตจะต้องเป็นส่วนสำคัญของความพยายามดังกล่าว” ลามียา กล่าว

            ท้ายที่สุด โมนิกา ซี ตัวแทนจากมูลนิธิพุทธเมตตาฉือจี้ องค์กรที่ให้ความช่วยเหลือในด้านการบรรเทาภัยสากล จากประเทศไต้หวัน บอกเล่าเรื่องราวการทำงานบนพื้นฐานแห่งพลังศรัทธาในความรักของสมาชิกมูลนิธิพุทธเมตตาฉือจี้ ที่มีอยู่หลายล้านคนทั่วโลก เธอเล่าให้ฟังว่าสิ่งที่เป็นอุปสรรคมากที่สุดในการทำงานของนักพัฒนา คือการต่อสู่กับความหิวกระหาย ความอยากได้ที่ไม่พอดีของคน เช่นเดียวกับที่ ม.ร.ว. ดิศนัดดากล่าว

            “บนพื้นฐานของการให้ในการทำงานของมูลนิธิ เราเชื่อมั่นในความเท่าเทียมกันของมนุษย์ ทุกครั้งเวลาเกิดภัยธรรมชาติ สมาชิกของมูลนิธิเราจะลงพื้นที่ช่วยเหลือทันที ไม่ว่าจะเป็นประเทศไหน ใกล้หรือไกล เราได้รับเงินบริจาคมาจากสมาชิกทั่วโลก เป็นเงินที่ใช้ "บรรเทา" ความทุกข์แต่ไม่ใช่ขจัดความทุกข์ เพราะการขจัดทุกข์ ผู้ที่ประสบเหตุ หรือประสบภัยจะต้องลุกขึ้นมาทำด้วยตัวเอง"

            โมนิกายกตัวอย่างให้ฟังว่า ในเหตุการณ์ภัยพิบัติครั้งล่าสุดในประเทศฟิลิปปินส์ ตัวแทนมูลนิธิได้ลงพื้นที่ไปให้ความช่วยเหลือ และชักชวนให้ประชาชนลุกขึ้นมาเก็บกวาด จัดการกับซากปรักหักพังและให้ผลตอบแทนเป็นเงินบรรเทาทุกข์ ซึ่งนอกจากเงินบริจาคจะช่วยทำให้ชีวิตของผู้ประสบภัยดีขึ้นแล้ว ประชาชนเองก็มีความภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูชุมชนของตัวเองอีกด้วย

เนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 70 ปี ใน พ.ศ. 2559 นี้       6 องค์กรสำคัญ ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)  สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิมั่นพัฒนา มูลนิธิปิดทองหลังพระ     สืบสานแนวพระราชดำริ บริษัทเนชั่นมัลติมีเดียกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และบริษัท ช.การช่างจำกัด (มหาชน) ร่วมกันจัดงานเสวนาวิชาการหัวข้อ "ความท้าทายต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของเอเชีย" (Sustainable Development Challenges in Asia) เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2559 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ โดยภายในงานได้มีตัวแทนระดับอาวุโสจากองค์กรจากภาครัฐ และเอกชนเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก เพื่อรับฟังกระบวนการทำงานขององค์กร หรือสถาบันที่มีแนวคิด และการปฏิบัติที่นำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในเอเชียอย่างเป็นรูปธรรมได้  

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ