ข่าว

SUFFICIENCY THINKING

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

Thailand’s gift to an unsustainable world ส่งต่อแนวคิดของความพอเพียงเพื่อยั่งยืนสู่สากล

“...เป็นเวลากว่า 4 ปี หลังจากที่นักวิจัยชาวไทย ได้นำเสนอถึงผลงานวิจัยการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในมิติต่างๆ ที่งานประชุมวิชาการ ณ กรุงโรม ครั้งนั้น ส่งผลให้ ศาสตราจารย์ ดร. แกลย์ ซี เอเวอรี เห็นถึงคุณค่า “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” จนเกิดการรวบรวมผลงานวิจัยเป็นหนังสือ SUFFICIENCY THINKING: Thailand’s gift to an unsustainable world ซึ่งจะเป็นของขวัญที่สามารถส่งต่อให้ชาวโลก ได้น้อมนำหลักคิดดังกล่าวไปใช้ในการพัฒนาประเทศของตนเองให้เกิดความยั่งยืนต่อไป...”

  เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม ที่ผ่านมา มูลนิธิมั่นพัฒนา ร่วมด้วยกระทรวงการต่างประเทศ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล และ สถาบันเพื่อภาวะผู้นำที่ยั่งยืน (Institute for Sustainable Leadership) ร่วมกันจัดงานเปิดตัวหนังสือ แนวคิดของความพอเพียง: ของขวัญจากประเทศไทยแด่โลกที่ไม่ยั่งยืน (Sufficiency Thinking: Thailand's gift to an unsustainable world)  และการประชุมนานาชาติ เรื่อง “ภาวะผู้นำแบบยั่งยืน” ครั้งที่ 11 เพื่อเป็นการเปิดมุมมอง พร้อมทั้งเน้นย้ำและเผยแพร่ให้สาธารณชนได้เข้าใจถึงความสำคัญของหลักคิดดังกล่าว ซึ่งจะนำไปสู่การขับเคลื่อนในระดับปัจเจก หน่วยงาน องค์กร สังคม ประเทศ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวในการเปิดงานว่า “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้ เพราะหลักคิดดังกล่าวจะเป็นส่วนช่วยให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและเกิดความสมดุลต่อการพัฒนาคุณภาพของประชากรควบคู่กันไป โดยปัจจุบันในภาคส่วนต่างๆ ได้น้อมนำหลักคิดดังกล่าวเข้าไปผนวกกับการดำเนินงาน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน เริ่มก้าวเข้าสู่การขับเคลื่อนเชิงนโยบาย เกิดผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรม และสามารถเป็นตัวอย่างให้กับประเทศอื่นได้ ในขณะเดียวกัน ทางกระทรวงการต่างประเทศก็ได้นำเรื่องนี้เข้าสู่การประชุม G-77 ซึ่งเป็นการประชุมนานาชาติเพื่อนำเสนอให้เห็นถึงความสำคัญของหลักคิดซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ตอบโจทย์ของแต่ละประเทศและเป้าหมายสากลได้”

รศ.ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ประธานกรรมการมูลนิธิมั่นพัฒนา อธิบายว่าแท้จริงแล้วหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีมายาวนานกว่า  40 ปีแล้ว เกิดจากการริเริ่มของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงสร้างแนวทางในการพัฒนาที่ยั่งยืนให้กับประเทศ แต่หลักคิดดังกล่าวเริ่มเป็นที่รู้จักอย่างจริงจังเมื่อช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย หรือ วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง เมื่อปี พ.ศ. 2540 หรือกล่าวได้ว่า กว่า 2 ทศวรรษ ที่เราชาวไทยได้เริ่มน้อมนำหลักคิดนี้มาปฏิบัติอย่างจริงจัง ในวันนี้เห็นว่าเป็นเรื่องดีและน่าภูมิใจ ที่หลักคิดดังกล่าวได้ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นภาษาอังกฤษเพื่อให้ประเทศอื่นๆ ได้รับทราบและนำไปเป็นแนวทางหนึ่งในการพัฒนาประเทศให้เกิดความยั่งยืนเช่นกัน

“หนังสือเล่มนี้ไม่เพียงเป็นการอธิบายเพื่อสร้างความเข้าใจ แต่ได้หยิบยกงานวิจัยที่เกิดขึ้นจริง มีการเก็บข้อมูลจริง จากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นภาคเกษตรกรรม ธุรกิจ การศึกษา หรือสาธารณสุขก็ตาม เพื่อดูผลลัพธ์จากการนำหลักคิดดังกล่าวไปใช้ ทั้งในระดับบุคคล สังคม และประเทศ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถพิสูจน์หลักฐานอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ได้ ควรค่าแก่การศึกษาและทำความเข้าใจสาระสำคัญ เพราะแนวคิดและความรู้ที่ได้ จะเป็นประโยชน์และเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะนำไปประยุกต์ใช้ในภาคส่วนอื่นๆ ต่อไป”

ศาสตราจารย์ ดร. แกลย์ ซี เอเวอรี และศาสตราจารย์ ดร. ฮาราลด์ เบิร์กสไตเนอร์ ผู้ก่อตั้งสถาบันเพื่อภาวะผู้นำที่ยั่งยืน นักวิชาการที่ใช้เวลาศึกษาศาสตร์เศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และบรรณาธิการหนังสือ Sufficiency Thinking: Thailand's gift to an unsustainable world” บอกเล่าถึงที่มาของหนังสือเล่มนี้ไว้อย่างน่าสนใจ

   “จริงๆ แล้วประเทศไทยมีข้อมูลซึ่งถือว่าเป็นความสำเร็จจากการนำหลักคิดดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ในภาคส่วนต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการศึกษา ภาคธุรกิจ ในภาคเกษตรกรรมเองก็เช่นกัน แต่ด้วยลักษณะของคนไทยที่เป็นคนถ่อมตัว อีกทั้งการรับรู้จากคนภายนอกก็มองว่าเป็นประเทศที่สวยงามเน้นเรื่องการท่องเที่ยว ศิลปวัฒนธรรม มากกว่าเรื่องของเศรษฐกิจ เลยกลายเป็นประเทศที่ไม่ได้ถูกคาดหวังว่าจะมีต้นแบบของการพัฒนาระบบเศรษฐกิจหรือประเทศที่สำคัญ แต่แท้จริงแล้วประเทศไทยกลับมีแนวคิดที่มีคุณค่าอย่างยิ่งต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และควรนำความสำเร็จนี้แบ่งปันให้กับสังคมโลก”

  “ประเทศไทยถือเป็นผู้นำของโลกในแง่ของการนำหลักปรัชญาฯ มาใช้ เพื่อสร้างความยั่งยืนในภาคส่วนต่างๆ ทั่วประเทศ อย่างจริงจัง มีผลเชิงประจักษ์ให้เห็น ต่างจากประเทศอื่นๆ ที่พูดเรื่องความยั่งยืนแต่ไม่ได้ลงมือทำจริง ตัวอย่างเช่น การพัฒนาผืนที่ดินที่แห้งแล้งให้กลับมาเป็นผืนดินที่มีความอุดมสมบูรณ์อย่างที่ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ นอกจากนั้นในภาคธุรกิจขนาดใหญ่ก็มีการนำไปประยุกต์ใช้ และที่สำคัญคือ การพัฒนาประชากรของประเทศ โดยการผลักดันให้กระบวนการเรียนรู้โดยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้เข้าไปในภาคการศึกษาอย่างแท้จริง ซึ่งถือว่าประเทศเดินมาถูกทาง”  ศาสตราจารย์ ดร. แกลย์ ซี เอเวอรี กล่าว

 

ทางด้านศาสตราจารย์ ดร. ฮาราลด์ เบิร์กสไตเนอร์ ซึ่งเป็นนักวิชาการอีกท่านหนึ่งที่ร่วมพัฒนาเนื้อหาของหนังสือ Sufficiency Thinking: Thailand's gift to an unsustainable world” กล่าวว่า หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นกรอบแนวคิดเพื่อการตัดสินใจ บนพื้นฐานของคุณธรรม และมีความเป็นวิทยาศาสตร์ที่สามารถนำมาปรับใช้ได้กับทุกกิจกรรมของชีวิต และล้วนแล้วแต่เป็นแนวทางที่เหมาะสม โดยมีเป้าหมายในการยกระดับความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน สามารถพึ่งพาตนเอง เผชิญปัญหาและปรับตัวตามสถานการณ์ต่างๆได้

 

 

 

 

            “ในขณะเดียวกันการบริหารองค์กรต่างๆ ก็จะต้องยึดถือหลักความพอเพียงเป็นองค์ประกอบ เพื่อให้มีผลประกอบการทางการเงินที่เข้มแข็ง สามารถรับมือกับปัญหาและอุปสรรคต่างๆที่จะเข้ามาได้ทั้งในเชิงสังคมและเศรษฐกิจ หนังสือเล่มนี้ ถือเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการนำหลักการนี้ ไปใช้ปฏิบัติในองค์กรต่างๆ ได้อย่างกว้างขวางและแพร่หลายมากขึ้น

 

ดร.สุขสรรค์ กันตะบุตร กรรมการสถาบันมั่นพัฒนา และ อาจารย์ประจำวิทยาลัยการจัดการ ม.มหิดล เล่าว่า หนังสือเล่มนี้จะสามารถบอกได้ว่า “ทำไมโมเดลหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” จึงประสบผลสำเร็จ นอกจากนั้นภายในหนังสือยังได้ยกตัวอย่างของการนำหลักปรัชญาฯ ไปประยุกต์ใช้ในภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาคการศึกษา ภาคธุรกิจ หรือแม้กระทั่งกับผู้ที่อยู่ในเรือนจำเองก็ตาม รวมถึงงานวิจัยที่ใช้เวลาศึกษาค้นคว้าอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน โดยในแต่ละเรื่องจะสามารถชี้ให้เห็นจุดเด่นและคำตอบที่เป็นประโยชน์กับทุกภาคส่วน

ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา กรรมการสถาบันมั่นพัฒนา และหนึ่งในผู้แต่ง กล่าวว่ากว่า 20 ปีแล้วที่เราน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เพื่อสร้างความยั่งยืนในการพัฒนา หลายคนอาจสงสัยว่าเราเดินทางถูกหรือไม่ แต่วันนี้เมื่อเรา “มองไทยมองโลก มองโลกมองไทย” ก็จะพบว่าทั่วโลกต่างก็กำลังให้ความสำคัญกับ เป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เช่นกัน แต่สิ่งที่ประเทศไทยมองมากกว่านั้นคือ มิติทางวัฒนธรรม ที่เป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาให้เกิดความยั่งยืน

นอกจากนั้นสิ่งที่น่าจะเป็นของขวัญสำคัญจากหนังสือเล่มนี้ คือ เราได้บอกถึงวิธีการที่จะไปถึงยังเป้าหมาย ซึ่งนั่นก็คือการเริ่มต้นที่การเปลี่ยนวิธีคิดของเรา ทำอะไรต้องไม่มากไป ไม่น้อยไป ไม่เร็วไป ไม่ช้าไป ทำอะไรต้องมีเหตุมีผลอยู่บนหลักวิชาการ ต้องไม่ประมาท สุดท้ายความรู้กับคุณธรรมจะเป็นฐานของการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน”

นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ปิดท้ายว่า “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เป็นเรื่องที่นานาประเทศต่างกำลังให้ความสนใจ เพราะสามารถตอบโจทย์ในเรื่องของการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ เนื่องจากหลายประเทศในประชาคมโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายต่างๆ มากมาย ทั้งทางด้านสังคม และเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในกลุ่มของประเทศกำลังพัฒนา โดยประเทศเหล่านี้เริ่มสนใจเข้ามาดูงานที่ประเทศไทย ในส่วนของกระทรวงการต่างประเทศเองก็มีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศที่ทำหน้าที่ประสานกับกลุ่มประเทศเหล่านี้อยู่ นอกจากนั้นทางกระทรวงฯ ยังจะช่วยเผยแพร่หลักคิดและหนังสือเล่มดังกล่าวไปยัง คณะทูตานุทูต สถานทูต และสถานกงสุลใหญ่ทั่วโลก ต่อไป

สามารถติดตามรายละเอียดของหนังสือ “แนวคิดของความพอเพียง: ของขวัญจากประเทศไทยแด่โลกที่ไม่ยั่งยืน” (Sufficiency Thinking: Thailand's gift to an unsustainable world) และการประชุมนานาชาติ เรื่อง “ภาวะผู้นำแบบยั่งยืน” ในครั้งต่อๆ ไป ได้ที่เว็บไซต์สถาบันเพื่อภาวะผู้นำที่ยั่งยืนwww.instituteforsustainableleadership.com  เว็บไซต์วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล www.cmmu.mahidol.ac.th และเว็บไซต์มูลนิธิมั่นพัฒนา www.tsdf.or.th

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ