Lifestyle

จาก Ernesto ถึง อาจินต์ (ตอนจบ)

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...   ตำข่าวสารกรอกหม้อ  โดย... จักรกฤษณ์ สิริริน


 

          ข้อเขียนชุด “จาก Ernesto ถึง อาจินต์” ได้เดินทางมาถึงตอนจบในสัปดาห์นี้ พอดีกับเป็นเสาร์สุดท้ายปลายปี 2561


          "จาก Ernesto ถึง อาจินต์” ได้แรงบันดาลใจจากการรำลึกถึงภาพยนตร์สองเรื่องคือ “มหา’ลัยเหมืองแร่” และ The Motorcycles Diaries

 

 

          ผมจับประเด็นความเหมือนที่แตกต่างระหว่าง “อาจินต์ ปัญจพรรค์” คนต้นเรื่อง “มหา’ลัยเหมืองแร่” กับ Ernesto ‘Che’ Guevara ต้นฉบับ The Motorcycles Diaries ในแง่ของปรับปรุงมุมมองความคิดจากประสบการณ์วัยรุ่น


          ซึ่งทั้งคู่ได้ผ่านพบเหตุการณ์อันยิ่งใหญ่หรือสถานการณ์ที่แหลมคม อันนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงทัศนคติในการมองโลกมองชีวิตของเด็กหนุ่มทั้งสอง


          หากวัยหนุ่มของ “อาจินต์ ปัญจพรรค์” ไปปรากฏตัวที่ “เหมืองแร่” จ.พังงา หลังจากที่ถูกพ่อส่งไปดัดนิสัยเพราะ “อาจินต์” ถูกรีไทร์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


          วัยหนุ่มของ “เช เกวารา” ก็เป็นการใช้ชีวิตช่วงปิดเทอมของนักศึกษาแพทย์ ขี่มอเตอร์ไซค์ตระเวนไปในหมู่ประเทศอเมริกาใต้

 

          ทั้ง “อาจินต์” และ “เช” ต่างก็ได้เผชิญหน้ากับสภาพแวดล้อมที่ไม่เคยเจอมาก่อน ทั้งบรรยากาศบ้านป่าเมืองเถื่อน ทั้งการกรำงานหนัก และทั้งผู้คนหลากหลายพื้นฐาน


          สำหรับคนทั่วไปซึ่งวัยใกล้เคียงกับ “อาจินต์” และ “เช” คือมีอายุราว 18-22 ปี ถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตวัยรุ่นก่อนก้าวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ คนหนุ่มในช่วงนี้หลายคนค้นพบอาชีพ มากคนค้นพบความชอบ และมีไม่น้อยที่ค้นพบตัวเอง


          หลังจาก “อาจินต์” กลับจาก “เหมืองแร่” เขาไม่กลับไปสู่เส้นทาง “วิศวกร” อีกเลย


          เช่นเดียวกับ “เช” ที่ก็ละทิ้งเสื้อกาวน์ “แพทย์” มุ่งสู่การเป็น “นักปฏิวัติ”


          อีกส่วนหนึ่งในข้อเขียนชุด “จาก Ernesto ถึง อาจินต์” ผมเรียบเรียงจากความทรงจำที่ตนเองได้เคยพบ “อาจินต์ ปัญจพรรค์”

 

          ครั้งแรกที่บ้านพักย่านสุทธิสาร ราวปลายปี พ.ศ.2546 อันเป็น พ.ศ.ที่ “อาจินต์ ปัญจพรรค์” อายุครบ 76 ปี เข้าพบเพื่อสัมภาษณ์ “อาจินต์ ปัญจพรรค์” นำตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน เซกชั่นอาทิตย์ทอดวง โดยใช้นามปากกา “นกป่า อุษาคเณย์”

 

          ตอนหนึ่งจำได้ว่าคุยกันเรื่องวรรณกรรมไทยยุค “ศรีบูรพา” และจำได้แม่นตอนที่ถามว่า “ลุงอาจินต์” ชอบหนังสือเล่มไหนของ “ศรีบูรพา”

 

          “ลุงอาจินต์” ตอบว่า ชอบหลายเล่ม หนึ่งในนั้นคือ “เขาถูกบังคับให้เป็นขุนโจร”


          ในช่วงปี พ.ศ.2548 ผมมีโอกาสไปช่วย “สำนักช่างวรรณกรรม” จัดงาน “ชุมนุมช่างวรรณกรรม” ประจำปี 2548

 

          ในงานดังกล่าวทำให้ได้พบ “อาจินต์ ปัญจพรรค์” อีกครั้ง ซึ่งวันนั้นมีการจัดฉายหนัง เรื่อง Ned Kelly หรือ “เขาถูกบังคับให้เป็นขุนโจร”

 

          ลุงอาจินต์ กล่าวกับผมว่า “เขาถูกบังคับให้เป็นขุนโจร สังคมเลวทำให้คนกลายเป็นผี สังคมดีทำให้ผีกลายเป็นคน”

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ