Lifestyle

จาก Ernesto ถึง อาจินต์ (ตอนที่ 4)

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  ตำข่าวสารกรอกหม้อ  โดย...  จักรกฤษณ์ สิริริน


 

          ผมเคยมีโอกาสติดตาม “สิงห์สนามหลวง” หรือ “สุชาติ สวัสดิ์ศรี” (ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ประจำปีพุทธศักราช 2554) เข้าเยี่ยมคารวะ “อาจินต์ ปัญจพรรค์” นักเลงเรื่องสั้นชั้นครู ในวาระดังกล่าว “สุชาติ สวัสดิ์ศรี” ได้ถือโอกาสมอบหนังสือ “เรื่องสั้นสันติภาพ” อันปรากฏบทประพันธ์ชั้นเยี่ยมของ “อาจินต์ ปัญจพรรค์” บรรจุอยู่ในนั้นของ “นักเลงเรื่องสั้น” ด้วย

 


          ที่บ้านพักย่านสุทธิสาร ราวปลายปี 2546 อันเป็นพ.ศ.ที่ “อาจินต์ ปัญจพรรค์” อายุครบ 76 ปี เพื่อนำตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน เซกชั่นอาทิตย์ทอดวง โดยใช้นามปากกา “นกป่า อุษาคเณย์”


          และขณะนี้ วีระยศ สำราญสุขทิวาเวทย์ กำลังจัดทำหนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ “อาจินต์ ปัญจพรรค์” ตั้งชื่อไว้เบื้องต้นว่า “อาจินต์อาลัย” ซึ่งจะตีพิมพ์บทสัมภาษณ์ฉบับเต็ม


          ในโอกาสนี้คอลัมน์ “ตำข่าวสารกรอกหม้อ” สัปดาห์นี้จึงขอนำบรรยากาศมาฝากแฟน “คม ชัด ลึก” เพื่อรำลึกถึง “อาจินต์ ปัญจพรรค์” ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปีพุทธศักราช 2534 ซึ่งจากพวกเราไปเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ครับ


          นกป่า: อยากเรียนถามว่าบรรยากาศเรื่องสั้นในปัจจุบันกับเมื่อสมัยที่นักเลงเรื่องสั้นเขียนหนังสือใหม่ๆ นั้น เหมือนหรือต่างกันมากน้อยแค่ไหนครับ


          อาจินต์: นักเขียนเรื่องสั้นมันเป็นคนแต่งโลก มันประพันธ์ ก่อนที่จะเป็นนักประพันธ์ได้นั้นต้องเป็นนักเขียนก่อน นักเขียนยังไม่นับเป็นนักประพันธ์จนกว่าจะได้แต่งเรื่องยาวคือประพันธ์โลกขึ้นมาเลย ประพันธ์แปลว่าแต่ง นักเขียนมันต้องเขียนเรื่องที่เรารู้ นักประพันธ์มันเป็น Author ส่วนนักเขียนนี่ Writer ใครๆ ก็เป็นนักเขียนได้ คนเขียนใบเซียมซีก็เป็นนักเขียน แต่อย่างหม่อมเจ้าอากาศดำเกิงนี่ท่านเป็น Author อย่างผมนี่เดิมเขียนบทบรรณาธิการกับ “ห้องรับแขก” ใน “ฟ้าเมืองไทย” แล้วก็คอลัมน์ “เหลียวมองรอบกาย” ซึ่งผมนำมาจากเพลงนกขมิ้นเหลืองอ่อนนั่นล่ะ ผมเป็นนักคอลัมน์ เป็นนักสังเกตชีวิต ต่อมา สุรพงษ์ บุนนาค แกมาเยี่ยมผม แกบอกว่า “...นี่คุณ เขียนเรื่องยาวสักทีสิ นักประพันธ์น่ะถ้าไม่ได้เขียนเรื่องยาวก็ไม่ได้เป็นนักประพันธ์...” ผมก็วางทุกอย่างหมด ก่อน “ฟ้าเมืองไทย” เลิกสัก 2 ปี ผมเริ่มเขียน “เจ้าพ่อ-เจ้าเมือง” ยาวมาจน “ฟ้าเมืองไทย” เลิก แล้ว “น้อย” (แน่งน้อย ปัญจพรรค์) เขาออก “ฟ้า รายเดือน” ผมก็ยังเขียนต่อ แล้วผมก็ไปเขียนที่ “กุลสตรี” เรื่อง “เจ้าแม่”


          นกป่า: คำว่า “ตะกร้าสร้างนักเขียน” ยังจำเป็นไหมครับสำหรับยุคปัจจุบัน


          อาจินต์: ผมใช้ตะกร้ามา 13 ปี ตั้งแต่ ม.ศ.5 จนถึงกลับจาก “เหมืองแร่” อายุ 26 ผมอยู่ ม.ศ.5 อายุ 13 กลับจาก “เหมืองแร่” ผมเขียน “สัญญาต่อหน้าเหล้า” ลงใน “สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์” ฉบับปฐมฤกษ์ ภูมิใจมาก ถึงบก.จะ Say no! ก็ขอให้ Try again คือ “ปีนขึ้นมาจากตะกร้าให้ได้”

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ