Lifestyle

จาก ERNESTO ถึง อาจินต์ (ตอนที่ 2)

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

จาก ERNESTO ถึง อาจินต์ (ตอนที่ 2) : คอลัมน์...  ตำข่าวสารกรอกหม้อ  โดย... จักรกฤษณ์ สิริริน

 


          ไม่ต้องมีโครงการ “หนังสือดี 100 เล่ม ที่คนไทยควรอ่าน” คอวรรณกรรมต่างทราบกันมานานแล้วว่า “เหมืองแร่” คือภาคบังคับของคนอ่านหนังสือ


          คอวรรณกรรมรู้จัก “เหมืองแร่” ดี ในฐานะรวมเรื่องสั้นจากประสบการณ์ชีวิตของ “อาจินต์ ปัญจพรรค์”

 

 

          ชื่อ “เหมืองแร่” มีที่มาจากหนังสือ “ตะลุยเหมืองแร่” ซึ่งเสมือนอัตชีวประวัติ “อาจินต์” ในรูปแบบวรรณกรรมที่ถูกยกระดับขึ้นชั้น “คลาสสิก” มาหลายสิบปีแล้ว


          “เหมืองแร่” เป็นบันทึกในรูปแบบเรื่องสั้น นำเสนอเรื่องราวในวัยหนุ่มของ “อาจินต์” ที่ถูกคุณพ่อส่งไปดัดนิสัยที่ “เหมืองแร่” จังหวัดพังงา ความที่ “อาจินต์” ถูกรีไทร์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


          ความรู้และประสบการณ์วัยเยาว์ช่วยอะไร “อาจินต์” แทบไม่ได้ เมื่อเขาต้องเผชิญหน้ากับสภาพแวดล้อมที่ไม่เคยเจอมาก่อน ทั้งบรรยากาศบ้านป่าเมืองเถื่อน ทั้งการกรำงานหนัก และทั้งผู้คนหลากหลายพื้นฐาน


          “อาจินต์” ต้องปรับตัวอย่างหนักและต้องปรับตัวให้เร็วที่สุด เพื่อเอาชีวิตรอดท่ามกลางสภาพแวดล้อมใหม่นี้


          วรรณกรรมชุด “เหมืองแร่” นำเสนอในรูปแบบเรื่องสั้น มิใช่นิยาย ลักษณะของเรื่องสั้นคือต้องจบในตอน แน่นอนว่า ความเป็นเรื่องสั้น ทำให้แต่ละเรื่องแทบจะไม่มีจุดเชื่อมร้อยกัน


          ทว่า หลายคนพยายามอ่าน “เหมืองแร่” อย่างนิยาย คืออ่านอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มองเห็นภาพรวมของ “เหมืองแร่”


          คนหนึ่งซึ่งทำเช่นนั้นก็คือ “จิระ มะลิกุล”


          “จิระ” นำเรื่องสั้น 142 เรื่องของ “ตะลุยเหมืองแร่” เชื่อมร้อยกันให้กลายเป็นบทภาพยนตร์ ตั้งชื่อว่า “มหา’ลัย เหมืองแร่”




          เนรมิตทศวรรษ 2490 ให้กลายเป็นฉากและชีวิตของเด็กหนุ่มคนหนึ่งซึ่งใช้เวลา 4 ปีใน “เหมืองแร่” โดยเปรียบเทียบกับเวลาของการศึกษาระดับปริญญาตรี 4 ปีในมหาวิทยาลัย


          สำหรับคนทั่วไปซึ่งมีอายุราว 18-22 ปี ถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตวัยรุ่นก่อนก้าวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ เปรียบได้กับการเรียนในระดับอุดมศึกษาชั้นปีที่ 1 ถึง 4


          วัยรุ่นในช่วงนี้หลายคนค้นพบอาชีพ มากคนค้นพบความชอบ และมีไม่น้อยที่ค้นพบตัวเอง


          “อาจินต์” ก็ไม่ต่างจากวัยรุ่นทั่วไป


          4 ปีใน “เหมืองแร่” เปรียบได้กับการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย ดังที่ “จิระ” ตั้งชื่อภาพยนตร์เอาไว้ เพราะหลังจากที่ “อาจินต์” จบการศึกษาจากพังงา ไม่เพียงสังคมไทยจะได้วรรณกรรมชั้นดีที่ชื่อ “เหมืองแร่” วงการนักเขียนยังได้นิตยสารคุณภาพที่ขึ้นชั้น “คลาสสิก” มาแล้วหลายสิบปีเช่นกัน นั่นคือนิตยสาร “ฟ้าเมืองไทย”


          งานวรรณกรรมและนิตยสาร ที่ “อาจินต์” กลั่นจากประสบการณ์ชีวิตวัยหนุ่มนี้เองที่มีส่วนเปลี่ยนแปลงแวดวงวรรณกรรมไทยและวงการนิตยสารไทย มีส่วนสร้างนักเขียน นักศิลปกรรมนิตยสารและหนังสือเล่ม บรรณาธิการ นักพิสูจน์อักษร ช่างภาพ และอีกหลากหลายอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการทำหนังสือ


          หากเปรียบ “เหมืองแร่” และ “ฟ้าเมืองไทย” กับการปฏิวัติ จุดเปลี่ยนที่ทำให้วัยรุ่นที่ชื่อ “อาจินต์ ปัญจพรรค์” กลายมาเป็นนักเขียนผู้ได้รับการยกย่องนับถือจากนักเขียนด้วยกันมากที่สุดคนหนึ่งในวงวรรณกรรมไทย 


          ดูเหมือนจะเกิดขึ้นที่ “เหมืองแร่” นั่นเองครับ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ