Lifestyle

ยินดีกับ 'ม.ล.วีรอร วรวุฒิ' นายกสมาคมนักแปลฯ คนใหม่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ยินดีกับ 'ม.ล.วีรอร วรวุฒิ' นายกสมาคมนักแปลฯ คนใหม่ : คอลัมน์...  ชานชาลานักเขียน  โดย... วรรณฤกษ์

 


          00 ขอแสดงความยินดีแก่ ม.ล.วีรอร วรวุฒิ ที่ได้รับเลือกขึ้นดำรงตำแหน่ง นายกสมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทยคนใหม่ ในวันประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2561 เมื่อ 11 พฤศจิกายน พร้อมกับ อุปนายก 3 คน ได้แก่ สถาพร ฉันท์ประสูตร คนที่ 1 จิตติ หนูสุข คนที่ 2 อิฏฐพร ภู่เจริญ คนที่ 3 และกรรมการฝ่ายต่างๆ 5 คน ดังนี้ วิฑูรย์ ภูริปัญญาวณิช, พรทิตา พลทะกลาง, มณพัช วาณิชสำราญ, ปภาดา ศิริวรสิน และ ปฏิมา รัชตะวรรณ...

 


          00 ม.ล.วีรอร วรวุฒิ นั่งตำแหน่งนายกสมาคมนักแปลฯ ถัดจาก รศ.ดร.ถนอมวงศ์ ล้ำยอดมรรคผล เธอจบอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ปริญญาโทภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร และปริญญาโทการแปลภาษาอังกฤษ-ไทย จาก มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้รับวุฒิบัตร Mini MBA มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอื่นๆ ผู้แปลวรรณกรรมเยาวชน “ดัสต์ ซิตี้” โดยสำนักพิมพ์อิ่มอ่าน, อดีตกรรมการบริหารสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และเพิ่งเกษียณจาก บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ในตำแหน่ง รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารงานลูกเรือ เมื่อปี 2560 ขอแสดงความยินดีอีกครั้งครับ...

 

ยินดีกับ 'ม.ล.วีรอร วรวุฒิ' นายกสมาคมนักแปลฯ คนใหม่

 


          00 นับเป็นความตั้งใจและใจรักสูงยิ่ง สำหรับเจ้าสำนักพิมพ์นาคร เจน สงสมพันธุ์ ในการเสาะหา วรรณกรรมโลก มาจัดพิมพ์ให้นักอ่านชาวไทยได้อ่านกันไม่ขาดสาย ซึ่งส่วนใหญ่ สำนักพิมพ์ทำงานร่วมกับนักแปลอย่างใกล้ชิด เอาแค่เฉพาะวรรณกรรมโลกชุด ‘เรื่องสั้นโนเบล’ ก็ทยอยพิมพ์สู่สายตานักอ่าน 27 เล่มแล้ว! เล่มล่าสุด (ชุดที่ 27) เพิ่งพิมพ์ออกมาคือรวมเรื่องสั้น “ลูกสาวเฮสเสะ” (The fairy tales of Hermann Hesse) ของ แฮร์มานน์ เฮสเสะ หรือ เฮอร์มานน์ เฮสเส นักเขียนรางวัลโนเบลชาวเยอรมัน แปลโดย วิมล กุณราชา นักแปล/อดีตครู ร.ร.เวียงเจดีย์วิทยา อ.ลี้ จ.ลำพูน...


          00 รวมเรื่องสั้นชุดนี้ของ ‘เฮสเสะ’ ทาง สำนักพิมพ์นาคร และ วิมล กุณราชา ผู้แปลจงใจคัดสรรงานที่นำเสนอในแบบเดียวกับ นิทาน/เทพนิยาย ทั้งนี้มิได้เป็นเทพนิยายขนบดั้งเดิมที่เรารู้จักกันดี แต่เป็น ‘งานทดลอง’ ซึ่งเปี่ยมด้วย พลังทางวรรณกรรมอย่างยิ่ง ที่จริง..ความจริงในข้อนี้ “วรรณฤกษ์” คงไม่ต้องเอามะพร้าวมาขายสวน เอาเป็นว่า..เนื่องด้วยวิธีการเขียนแบบนิทาน/เทพนิยายโดยมาก ตัวละครหญิงมักเป็นใหญ่ จึงเป็นที่มาของชื่อหนังสือ “ลูกสาวเฮสเสะ” นั่นเอง...

 

 

ยินดีกับ 'ม.ล.วีรอร วรวุฒิ' นายกสมาคมนักแปลฯ คนใหม่

 


          00 ภาพประกอบภายในเล่ม The fairy tales of Hermann Hesse นั้นก็ล้วนคือผลงานของ ‘เฮสเสะ’ เพราะเราต้องไม่ลืมว่านอกจากเป็น กวี-นักเขียน’ ที่โลกจารึกแล้ว แฮร์มานน์ เฮสเสะ ยังเป็น จิตรกร อีกด้วย ดังนั้นอีกด้านหนึ่ง ประวัติชีวิตของเขา ซึ่งผสานความเป็น โลกตะวันตกกับโลกตะวันออก (ปรากฏในเนื้องานหลายเล่มชัดเจน) จึงน่าสนใจไม่น้อยเช่นกัน! พูดถึงชื่อหนังสือเล่มนี้ทำให้นึก ‘สดใส’ (ผศ.สดใส ขันติวรพงษ์) นักแปลอาวุโสผู้ได้รับสมญา ‘ลูกสาวเฮสเสะ’ เพราะท่านได้แปลงานสำคัญๆ ของ เฮอร์มานน์ เฮสเสะ ไว้จำนวนมาก เข้าใจว่ามากที่สุดในจำนวนผู้แปลเป็นภาษาไทยทั้งหมด อาทิ “สิทธารถะ” “ท่องตะวันออก” “เดเมียน” “เกมลูกแก้ว” เป็นต้น...

 

 

ยินดีกับ 'ม.ล.วีรอร วรวุฒิ' นายกสมาคมนักแปลฯ คนใหม่

 


          00 ไฟไม่เคยมอด บุหลัน รันตี นักเขียนสารคดีแนวป่าผจญภัย เขาชอบการท่องป่าเป็นชีวิตจิตใจ ทั้งได้แรงบันดาลใจมาเขียนหนังสือ งานเขียนส่วนใหญ่จึงมาจาก ประสบการณ์ตรง ที่เขาผจญมา และการนอนค้างอ้างแรมได้พบเจอสิ่งแปลกประหลาดต่างๆ นานา ขณะเดียวกันก็ได้เห็นความงาม-ความบริสุทธิ์ของป่านำมาฝากนักอ่าน บุหลัน รันตี มีผลงาน หลายสิบเล่ม เล่มล่าสุดที่จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์บ้านหนังสือ เป็นลำดับที่ 35 ภายใต้ชื่อ “ดงดิบแดนอาถรรพณ์ป่าโป่งเชือก” ถือเป็นการ ย้อนรอยวิถีพรานแห่งป่าโป่งเชือก เพราะ ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ นักเขียนอาวุโสผู้ล่วงลับ (ครบ 100 ปีชาตกาลปีนี้) เคยเขียนไว้แล้ว...


          00 จากปี 2513 ที่ “ลุงชาลี” เขียนใช้ชื่อ “ป่าโป่งเชือก” ซึ่งพิมพ์ซ้ำหลายครั้งในเวลาต่อมา จนกระทั่งถึง 2561 วันเวลาทิ้งระยะห่างเกือบ 50 ปี บุหลัน รันตี นำมาเขียนถึงอีกครั้งจากประสบการณ์ตรงเช่นเดียวกัน แต่ต่างยุค ต่างมุมมอง ต่างสไตล์ ในชื่อ “ดงดิบอาถรรพณ์ป่าโป่งเชือก” ดังกล่าว งานอันเป็นเอกลักษณ์ของ บุหลัน รันตี คือเปี่ยมสาระ สนุก ตื่นเต้น ด้วยชั้นเชิงการเล่ารื่องที่มีเสน่ห์ มีอารมณ์สุนทรีย์ โดยที่ไม่ลืมอารมณ์ขัน อ้อ..ใครที่ยังไม่รู้ ป่าโป่งเชือกแห่งนี้อยู่ในเขตปกครองเท็นนาสเซอร์ริม อุทยานแห่งชาติตานินตะยี เมืองมะริด ประเทศพม่า ครับ...


          00 ขอแสดงความเสียใจต่อการจากไปของ คัทลียา นุดล (ป้อม ดอยปุย) หรือที่รู้จักกันดีในนามปากกา ‘คัทลียา’ คอลัมนิสต์ดังสังคมไฮโซ เจ้าของคอลัมน์ “คัทลียา จ๊ะจ๋า” ประจำหน้าสตรี ‘ไทยรัฐ’ จากไปด้วยอาการสงบในวัย 67 ปีเมื่อ 10 พฤศจิกายน หลังล้มป่วยด้วยอาการอัลไซเมอร์ (และโรคเบาหวาน) มานานร่วม 8 ปี ถือเป็นการสูญเสียของวงการสื่อสารมวลชนอีกครั้งหนึ่ง เพราะ คัทลียา นุดล (ชาวนครศรีธรรมราช) หรือ “พี่ป้อม” ของพี่น้องวงการสื่อ เขียนคอลัมน์ “คัทลียา จ๊ะจ๋า” มาเกือบ 30 ปี เคยได้รับความนิยมสูงสุดจากผู้อ่าน จนได้รับการโหวตให้เป็นคอลัมนิสต์ข่าวสังคมชั้นสูง “ผู้ทรงอิทธิพล” มากที่สุดคนหนึ่งแห่งยุค...


          00 วงการน้ำหมึกสูญเสีย อีกท่านหนึ่งคือ รศ.มาลิทัต พรหมทัตตเวที นักเขียน-นักแปล/ราชบัณฑิต ด้านวรรณศิลป์ สาขาวิชาการแปลและการล่ามสำนักศิลปกรรม จากไปขณะวัยย่าง 76 ปี ท่านได้แปลงานวรรณกรรมไทยเป็นภาษาอังกฤกษไว้จำนวนมาก อาทิ “เงาะป่า” ในรัชกาลที่ 5 “ธรรมาธรรมะสงคราม” ในรัชกาลที่ 6 “พระอภัยมณี” ของสุนทรภู่ “การเมืองเรื่องรัก” ของ ม.ล.ปิ่น มาลากุล จนตลอดวรรณกรรมของ นักเขียนสมัยปัจจุบัน เช่นผลงานของ วินทร์ เลียววาริณ, ประชาคม ลุนาชัย, เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์, จันที เดือนสะหวัน (นักเขียนซีไรต์ลาว) เป็นต้น พิธีสวดพระอภิธรรมมีถึง วันเสาร์นี้ (17 พ.ย.) เวลา 19.00 น. ณ วัดธาตุทอง กรุงเทพฯ จากนั้นบรรจุศพเพื่อรอกำหนดพิธีฌาปนกิจต่อไป ขอแสดงความเสียใจครับ...


          พบกันใหม่เสาร์-อาทิตย์หน้า สวัสดีครับ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ