Lifestyle

วีระ ธีรภัทร : คนไร้ราก หรือรากลึกเกินหยั่ง (2)

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วีระ ธีรภัทร : คนไร้ราก หรือรากลึกเกินหยั่ง (2) : คอลัมน์...   สัปดาห์นี้มีอะไร?  โดย...  อิสรีอิน 

 

 

          00 ต่อจากตอนที่แล้วที่บอกเล่าถึงมุมมองและตัวตน “วีระ ธีรภัทร” จากสายตาของกัลยาณมิตรต่างวัยทั้ง 3 ท่านที่ถือว่ามีส่วนสำคัญต่อ อ.วีระ ธีรภัทร ต่างๆ กันไปแล้ว คราวนี้มาดูกันว่าแต่ละท่านวิเคราะห์หนังสือ “คนไร้ราก” อย่างไรกันบ้าง


 

          00 อ.ชาญวิทย์ หนึ่งในผู้เขียนคำนำหนังสือ “คนไร้ราก” เล่าให้ฟังว่าตอนแรกที่ได้รับการร้องขอให้เขียนคำนำนั้นนึกอยากปฏิเสธ คิดหนักว่าจะเขียนอย่างไร แต่พอได้อ่านเนื้อหาสาระแล้วเกิดความปีติร่ายยาวได้หลายหน้ากระดาษ ที่ประทับใจที่สุดคือ “คนไร้ราก” สะท้อนความเป็นตัวตนของเด็กบ้านนอกคนหนึ่ง เป็นงานประวัติศาสตร์ท้องถิ่นชิ้นเอกชิ้นหนึ่งก็ว่าได้ โดยที่ “ตะพานหินของวีระสะท้อนความเป็นไปของประเทศชาติ...” ในสายตาของ อ.ชาญวิทย์ มองลูกศิษย์คนนี้ว่า “เป็นคนที่เก่ง กล้า แปลก และไร้ราก” อีกทั้งเป็นคนที่ “ไม่ถูกลืม” เพราะด้วยงานหนังสือที่เขาทำ “พูดเป็นหนังสือ” ยกตัวอย่างเช่น การนำเรื่องราว “มหาภารต” มาสู่การรับรู้ของคนไทยจนเป็นที่รู้จักกว้างขวาง รวมถึงต่อไปในอนาคตก็ยังทำงานไม่หยุด ในฐานะ Digital Nomad หรือ “เผ่าพเนจรดิจิทัล” ที่ไม่ว่าอยู่แห่งใดในโลกก็ยังสามารถเล่าเรื่องเป็นหนังสืออย่างต่อเนื่อง

 

 

วีระ ธีรภัทร : คนไร้ราก หรือรากลึกเกินหยั่ง (2)

 


          00 ด้าน อ.สุเนตร มองว่าหนังสือเล่มนี้สะท้อนความเป็น “ผู้ไร้ซึ่งพันธะผูกพัน” (No Attachment) อย่างแท้จริง โดยฟื้นความทรงจำวัยเยาว์และการให้ความเห็นต่อเหตุการณ์ต่างๆ อย่าง อ.พานหิน จ.พิจิตร ถิ่นเกิดอย่างไม่ฟูมฟายและไม่ผูกพันกับพื้นที่ แต่สิ่งเดียวที่รู้สึกผูกพันคือ “ผู้คน” ซึ่งการเป็นผู้ไร้ซึ่งพันธะผูกพันนี้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เกิดจากสภาวะแวดล้อมที่พบเจอโดยเฉพาะสองช่วงวัยของเด็กต่างจังหวัดคนหนึ่งช่วงวัยเก้าขวบที่ต้องจากบ้านมาอยู่โรงเรียนประจำและวัยสิบสองปีที่มาอยู่บ้านญาติในกรุงเทพฯ ทำให้เด็กต่างจังหวัดคนนี้ต้องยืนหยัดให้ตัวเองอยู่ให้ได้ด้วยขาของตัวเองอย่างเต็มที่ ทำให้การอ่านหนังสือเล่มนี้เป็นเล่มที่อ่านแล้วได้บทเรียน “ชีวิตที่ไม่ได้เป็นไปตามแผน ไม่ใช่ชีวิตที่ไม่ประสบความสำเร็จเสมอไป” นอกจากนี้ยังให้ทางออกบางอย่างที่น่าสนใจคือ “การทำปัจจุบันของตัวเองให้ดีที่สุด ถึงแม้จะยังไม่รู้ว่าจะเกิดดอกออกผลอย่างไร เช่นตอนที่อ่านหนังสือในห้องสมุด เมื่อถึงเวลาเหมาะสม จึงรู้ว่าได้นำต้นทุนเหล่านั้นมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพเพราะทุกวินาทีที่ผ่านมานั้นได้ทำอย่างเต็มที่แล้ว”

 

 

วีระ ธีรภัทร : คนไร้ราก หรือรากลึกเกินหยั่ง (2)


          00 ส่วนกัลยาณมิตรคนใหม่ ชาติ กอบจิตติ ได้มอง “คนไร้ราก” ค่อนข้างเข้าใจในฐานะ “คนไม่มีรากเหมือนกัน” ที่ออกจากบ้านพ่อแม่มาอยู่กับยายตั้งแต่อายุสิบสองปีแล้วไม่เคยกลับไปบ้านอีกเลย แต่ชีวิตต้องไปต่อเรื่อยๆ โดยไม่ผูกชีวิต ดั่งเช่นที่ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ในคำนำ “ในฐานะนักอ่านคนหนึ่ง” ว่า “คนเราล้วนมีชะตากรรม” จึงถือว่า “คนไร้รากเป็นหนังสือที่สามารถอ่านได้ทุกวัย” ทั้งในแง่ปลุกใจให้สู้ และสะท้อนถึงแผนการทำงานที่รัดกุม “โดยส่วนตัวชื่นชมเจ้าของชีวิตทำให้คนรากหญ้ามีกำลังใจและไม่ยอมแพ้แก่ชีวิต” ทั้งหมดจึงเป็นประโยชน์ต่อผู้ได้อ่านทั้งสิ้น

 

วีระ ธีรภัทร : คนไร้ราก หรือรากลึกเกินหยั่ง (2)
 

          00 สำหรับ “เจ้าของชีวิต” ผู้เขียน “คนไร้ราก” วีระ ธีรภัทร ได้กล่าวขอบคุณทั้งแฟนรายการที่มาร่วมงานและผู้ร่วมเสวนา พร้อมทิ้งท้ายด้วยว่า “วันนี้เป็นอีกวันที่มีความสุข” ซึ่งเสียงหัวเราะที่ประสานกึกก้องในห้องประชุมบ่ายวันนั้น น่าจะยืนยันได้เป็นอย่างดี ติดตามอ่านงานเขียนต่างๆ ของ วีระ ธีรภัทร ต่อเนื่องได้ที่ Line@Veera2017 หรือซื้อผลงานการเขียนทุกเล่มได้ที่สำนักพิมพ์โรนิน Line@ronin5

 

 

วีระ ธีรภัทร : คนไร้ราก หรือรากลึกเกินหยั่ง (2)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ