Lifestyle

"รำวงเร็กเก้" Creative Thinking "มงคล อุทก" (ตอนจบ)

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"รำวงเร็กเก้" Creative Thinking "มงคล อุทก" (ตอนจบ) : คอลัมน์...  เซาะร่องเสียง  โดย... นกป่า อุษาคเณย์


 

          ความ Creative Thinking ของ “มงคล อุทก” ที่ประยุกต์ “เพลงรำวง” ให้กลายเป็น “รำวงเร็กเก้” คือการบูรณาการความชอบส่วนตัว ถึงขนาดอาจพูดได้ว่า “เร็กเก้” คือความถนัดของเขาก็คงจะไม่ผิดนัก


          เป็นการบูรณาการดนตรีจังหวะ “เร็กเก้” กับเพลง “รำวง” ซึ่งแม้เขาจะคัดสรรเฉพาะ “เพลงรำวงในเขตป่าเขา” เมื่อครั้งที่ “มงคล อุทก” ได้เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยก็ตาม

 

 

          แม้จะมีหลายคนมองว่า การประยุกต์ดนตรีแนวหนึ่งจากประเทศหนึ่งให้เข้ากับบริบทหรือเนื้อร้องของเพลงของอีกชนชาติหนึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด เหมือนกับที่ “สุนทราภรณ์” ได้ประยุกต์เพลง “แทงโก” หรือจังหวะ “บีกิน”


          หรือคล้ายกับที่วงการเพลงลูกทุ่งได้นำดนตรี “ชะชะช่า” มาใช้กับเนื้อร้องภาษาไทย และต่อมา “คาราบาว” นำ “ชะชะช่า” สู่ความสำเร็จทางธุรกิจ


          แต่สำหรับ “รำวงเร็กเก้” แล้ว อาจมีบริบทต่างกันตรงที่ “รำวง” ถือเป็นหนึ่งในกระแสวัฒนธรรมไทยร่วมสมัย อีกทั้งเนื้อหาเพลงรำวงของ “มงคล อุทก” และ “สหาย” ก็เป็นเพลงที่ฟังกันเฉพาะกลุ่ม


          เมื่อมาผนวกกับความรักที่เขามีต่อ “เร็กเก้” ซึ่งเป็นแนวดนตรีที่ “มงคล อุทก” หลงใหลมาตั้งแต่ก่อนเป็น “คาราวาน” หรือ “บังคลาเทศแบนด์” ด้วยซ้ำ (บทสัมภาษณ์ “มงคล อุทก” รายการ “หนังสือคือเพื่อน” โดย “นกป่า อุษาคเณย์” FM 105 พ.ศ.2553)


          ดังจะเห็นได้จากร่องรอย “เพลงเร็กเก้” ของ “ฅาราวาน” ไม่ว่าจะเป็น “โป๊กเป๊ก - ปลาไร้วัง” หรือ “เสือร้องไห้” รวมถึงอัลบั้มเดี่ยวของเขา ที่บรรจุเพลง “เร็กเก้” ไว้เป็นจำนวนมาก


          โดยเฉพาะ “คนไร้ราก” ซึ่งถือเป็น “อัลบั้มเร็กเก้” ที่ดีที่สุดชุดหนึ่งของวงการเพลงไทย


          และสามารถกล่าวได้ว่า “มงคล อุทก” เป็นผู้สร้างดนตรีเร็กเก้ภาคภาษาไทยขึ้นมาเป็นคนแรกๆ ยิ่งในสายเพลงเพื่อชีวิต เขาโดดเด่นมาก แม้ “แอ๊ด คาราบาว” หรือ “พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ” ก็มีเพลงเร็กเก้ ทว่า ภาพลักษณ์ของ “มงคล อุทก” กับดนตรีเร็กเก้นั้นมีความชัดเจนที่สุด


 

          หากเราย้อนกลับไปฟังอัลบั้ม “ตำนานเพลงประวัติศาสตร์ สปท.” ซึ่งออกเผยแพร่ในรูปแบบเทปคาสเซ็ตจำนวน 11 ม้วน ชุดเพลงรำวงใช้ท่วงทำนองในไลน์ลูกทุ่งเป็นหลัก


          แม้ในระยะหลายปีก่อนเสียชีวิต “มงคล อุทก” ได้ประยุกต์ “เพลงรำวง” เหล่านั้นเข้ากับ “ดนตรีเร็กเก้” เพื่อออกแสดงในคอนเสิร์ตต่างๆ

 

          ทว่า การนำชุดเพลงรำวงในเขตป่าเขา ทั้งเพลงที่เขาประพันธ์ขึ้นและเพลงของ “สหาย” มาเรียบเรียงดนตรีและบันทึกเสียงใหม่ ในอัลบั้ม “รำวงเพลงป่า กินตั๊บกินตั๊บ กินพุง กินตับ” คือความชัดเจนของการก่อเกิดแนวเพลง “รำวงเร็กเก้” ขึ้น


          จึงต้องกล่าวว่า “รำวงเร็กเก้” คือ Creative Thinking ของ “มงคล อุทก” ที่สามารถประยุกต์ “เพลงรำวง” ให้กลายเป็น “รำวงเร็กเก้” ได้อย่างสมบูรณ์นั่นเอง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ