Lifestyle

"รำวงเร็กเก้" Creative Thinking "มงคล อุทก" (ตอนที่ 4)

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"รำวงเร็กเก้" Creative Thinking "มงคล อุทก" (ตอนที่ 4) : คอลัมน์... เซาะร่องเสียง  โดย...  นกป่า อุษาคเณย์


 

          ผลงานเพลงชุด “รำวงเพลงป่า กินตั๊บกินตั๊บ กินพุง กินตับ” ของ “มงคล อุทก” เป็นผลงานที่น่าศึกษา ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของประวัติศาสตร์เพลงป่า ทฤษฎีดนตรี โดยเฉพาะกลวิธีการประยุกต์ “เร็กเก้” เข้ากับ “รำวง”

 

 

          แน่นอนว่า ชื่ออัลบั้ม “รำวงเพลงป่า กินตั๊บกินตั๊บ กินพุง กินตับ” สื่อถึงการบรรจุเพลง “รำวง” เอาไว้ทั้งชุด ดังนั้น เมื่อเป็น “รำวง” จังหวะ “เร็กเก้” ของอัลบั้มนี้ จึงเป็น “เร็กเก้” ในความเร็วระดับกลาง


          ขอเริ่มที่ Title Track กันก่อนคือ “กินตับกินพุง” ผลงานการเขียนของ “ศิลา โคมฉาย” น่าแปลกที่อัลบั้มนี้มีชื่อว่า “รำวงเพลงป่า กินตั๊บกินตั๊บ กินพุง กินตับ” แต่กลับเอาเพลงที่เป็นที่มาของชื่ออัลบั้มไปไว้ใน Track ที่ 9


          เพลงออกไลน์ลูกทุ่ง Intro ด้วยเสียงลีดกีตาร์ไฟฟ้า เนื้อหาบรรยายถึงบรรยากาศในเขตงานจังหวัดน่าน ภูแว มีลำน้ำว้าเป็นฉากหลัง เสียงกีตาร์คอร์ดและเพอร์คัสชั่นบรรเลงในจังหวะเร็กเก้หนักแน่นด้วยเสียงเบสและกลองชุด ท่อน Solo เปลี่ยนจากกีตาร์ไฟฟ้ามาเป็นแอคคอเดี้ยนตอกย้ำอารมณ์ลูกทุ่งสนุกสนาน


          ต่อกันด้วย Track ที่ 10 “จ่างป่าง” ผลงานการเขียนของ “สุรชัย จันทิมาธร” เพลงนี้เป็นไลน์ลูกทุ่งจะเล่นจังหวะสามช่าหรือจะดึงจังหวะลงมา “รำวงเร็กเก้” ก็ได้ สัดส่วนที่ปรากฏจึงช้ากว่าเพลงอื่นในอัลบั้ม เนื้อหาพูดถึงบรรยากาศงานรื่นเริงบนเวทีของนักดนตรีรำวงเพลงป่า

 

          Track ที่ 11 เพลง “7 สิงหาจงเจริญ” ซึ่งถือเป็นผลงานระดับมาสเตอร์พีซเพลงหนึ่งของ “มงคล อุทก” เนื้อหาพูดถึง “วันเสียงปืนแตก” 7 สิงหาคม พ.ศ.2508 เพลงนี้มีแอคคอเดี้ยนเป็นพระเอกเล่นฮาร์โมนีผสานด้วยริฟกีตาร์ในสไตล์เร็กเก้ เพอร์คัสชั่นใช้เครื่องรำวงฉิ่งฉาบกลองคองก้าจังหวะสนุกสนาน


          Track ที่ 12 เพลง “เมืองเลย” ใช้ไลน์ลำผู้ไทเป็นพื้นขยับจังหวะให้เร็วขึ้นกลายเป็นรำวงเร็กเก้ เนื้อหาพูดถึงบรรยากาศการต่อสู้ของพี่น้องชาวบ้านทหารป่าเมืองเลย ดนตรีใช้แอคคอเดี้ยนตีคู่กับลีดกีตาร์สไตล์ฮาวาย ส่วนเครื่องเคาะคล้าย “จ่างป่าง”


          Track ที่ 13 “หน่อไม้บ่ใส่เกลือ” ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง “มงคล อุทก” ให้เครดิต “สหาย ทปท.” เนื้อหาพูดถึงการใช้ประโยชน์จากไผ่ทั้งไม้ไผ่โดยเฉพาะหน่อไม้โดยเปรียบเทียบกับขบวนการต่อสู้ของ พคท. ดนตรีหนักด้วยกลองเบสและกีตาร์ แม้จะเป็นเร็กเก้แต่ก็มีกลิ่นร็อกสละสลวย ลูก Solo เป็นไลน์ลูกทุ่งอีสาน


          Track ที่ 14 Track สุดท้ายของอัลบั้ม ชื่อเพลง “จักจั่น” ซึ่งใช้ท่วงทำนองและสัดส่วนเดียวกันกับ “เพลงรักจักจั่น” ใน Track ที่ 4 ทว่า มีการบิดเนื้อร้องให้แตกต่าง โดย “จักจั่น” มุ่งไปที่อุดมการณ์ทางการเมือง ขณะที่ “เพลงรักจักจั่น” ออกมาในเชิงปัจเจก ทั้งสองเพลงใช้กีตาร์ Solo เป็นตัวขับเคลื่อน ผสานชุดเพอร์คัสชั่นฉิ่งฉาบคองก้า และเบสกลองริฟกีตาร์เร็กเก้ขนานแท้

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ