Lifestyle

คนล่าจันทร์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คนล่าจันทร์ : คอลัมน์...  ข้าวโพดคั่วกับตั๋วหนัง  โดย...  คอนแทค เลนส์


 

          ประเด็นโต้แย้งเกี่ยวกับ “การเหยียบดวงจันทร์” ที่แม้ว่าจะมีผู้สนับสนุนความเห็นหลายฝ่ายต่อเหตุการณ์เมื่อ 20 กรกฎาคม ค.ศ.1969 ซึ่งเป็นวันที่ นีล อาร์มสตรอง ก้าวเท้าลงบนดวงจันทร์

 

 

          แน่นอนว่า กองเชียร์มีหลายฝ่าย อาทิ ฝ่ายที่เชื่อว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นความจริงแท้แน่นอน 100% กับฝ่ายที่ไม่เชื่อว่าคนเดินดินกินข้าวแกงจะสามารถลงไปเดินบนดวงจันทร์ได้ และฝ่ายที่มีความเห็นกลางๆ คือพร้อมจะเชื่อทั้งสองฝ่าย หากฝ่ายใดมีข้อมูลสนับสนุนที่ดีพอ

 

          “ทฤษฎีสมคบคิด” เรื่อง “การเหยียบดวงจันทร์” เกิดขึ้นเมื่อราวกลางทศวรรษที่ 1970 โดยกลุ่มที่รวมตัวกันหลวมๆ แต่ยังคงติดต่อสื่อสารกันอยู่ในทุกวันนี้ ที่พวกเขาไม่เชื่อว่า One Giant Leap For Mankind ที่ Neil Armstrong กล่าวถึงเหตุการณ์ที่เขาและเพื่อนอีกสองคนคือ Buzz Aldrin และ Michael Collins ในปฏิบัติการเหยียบดวงจันทร์โดยยานอพอลโล 11 นั้นเป็นความจริง


          โดยบรรดา “นักทฤษฎีสมคบคิด” ได้ตั้งข้อสังเกตสำคัญๆ ไว้หลายประการ และในเวลาต่อมา นาซ่าก็ได้ออกมาตามแก้ต่างหักล้างข้อสังเกตดังกล่าวทุกประการเช่นกัน


          หลังจากนั้น เหล่านักดาราศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ นักบินอวกาศ และนักวิชาการหลากหลายสาขา ได้พากันออกมาสนับสนุนทั้งฝ่ายที่เชื่อและฝ่ายที่ไม่เชื่อกันมากมายหลายกรณี ถึงขนาดเขียนเป็นหนังสือ และมีการจัดสัมมนากันอย่างเป็นเรื่องเป็นราว

 

          หนึ่งในหนังสือที่เขียนถึง EVENT “เหยียบดวงจันทร์” คือ James R. Hansen เจ้าของผลงาน First Man: The Life of Neil A. Armstrong ที่ได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์ชื่อเดียวกันคือ First Man ซึ่งผมตั้งชื่อเล่นๆ ให้ว่า “คนล่าจันทร์” ที่จะเข้าฉายในบ้านเราในวันที่ 18 ตุลาคม นี้
 




          หากเอ่ยถึง EVENT “เหยียบดวงจันทร์” แล้ว กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความไม่นิ่งของ “ข้อมูล” เกี่ยวกับปฏิบัติการเหยียบดวงจันทร์ ที่เกือบจะครบรอบ 50 ปีแล้ว ก็ยังมีคนที่ไม่เชื่อ “ข้อมูล” ของนาซ่าอย่างบริสุทธิ์ใจ 100%


          ชี้ให้เห็นว่า ไม่ว่าองค์กรเจ้าของ “ข้อมูล” จะมีความน่าเชื่อถือเพียงไร แต่หากการนำเสนอ “ข้อมูล” ใดๆ ไม่ทำให้เกิดความกระจ่างแจ้ง ก็จะยังมีการตั้งคำถามถึง “ข้อมูล” นั้นๆ อยู่เสมอ ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเพียงไรก็ตาม


          Danny Wallace (2007) เจ้าของทฤษฎี DIKW Pyramid ได้กล่าวถึงความแตกต่างระหว่าง D (Data) I (Information) K (Knowledge) และ W (Wisdom) เอาไว้ว่า Data หรือข้อมูลที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป เมื่อนำมาจัดเก็บอย่างเป็นระบบจะกลายเป็น Information หรือสารสนเทศ


          และเมื่อนำสารสนเทศมาผ่านกระบวนการประมวลผล สารสนเทศนั้นก็จะเปลี่ยนเป็น Knowledge หรือความรู้ สุดท้ายเมื่อได้ความรู้แล้วก็จะพัฒนาการไปสู่ Wisdom หรือปัญญา


          หากเรานำ DIKW Pyramid มาจับ EVENT “เหยียบดวงจันทร์” ก็จะพบความสับสนในการแยกแยะระหว่าง “ข้อมูล” กับ “ความรู้”

 

          ยิ่งหาก “ข้อมูล” ไม่นิ่ง ก็ยิ่งทำให้ “ความรู้” ถูกตั้งข้อสงสัย เหมือนในกรณี EVENT “เหยียบดวงจันทร์” นั่นเอง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ