Lifestyle

กระชับความสัมพันธ์นักเขียนและวรรณกรรมไทย-จีน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กระชับความสัมพันธ์นักเขียนและวรรณกรรมไทย-จีน : คอลัมน์...  ชานชาลานักเขียน  โดย...  วรรณฤกษ์

 

          00 สัปดาห์ก่อน คณะนักเขียนจากสาธารณรัฐประชาชนจีน (นครปักกิ่ง) มาเยือนไทย โดยจุดหมายเจาะจงมาที่ สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย เป็นแห่งแรก ถัดจากนั้นสองวันเดินทางไปท่องเที่ยวเชียงใหม่ พร้อมพบปะพูดคุยกับพี่น้องนักเขียนแถบนั้นด้วย อาทิ องอาจ ฤทธิ์ปรีชา (รายา ผการ์มาศ), อัคนี มูลเมฆ, ทัทยา อนุสสรราชกิจ เป็นต้น ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องในวงการหนังสือ โดย อ.ชฎารัตน์ สุนทรธรรม แห่งมหาวิทยาลัยพายัพเป็นผู้ประสานงาน ด้าน นักเขียนจีน ที่เดินทางมาครั้งนี้ควรบันทึกชื่อเสียงเรียงนามไว้ เพราะแต่ละคนมีบทบาทหน้าที่ที่สำคัญไม่น้อย...

กระชับความสัมพันธ์นักเขียนและวรรณกรรมไทย-จีน

 

          00 คณะนักเขียนจีนนำโดย Wu Yiqin สมาชิกสำนักเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ ประจำสมาคมนักเขียนแห่งประเทศจีน พ่วงด้วยตำแหน่ง อธิบดีคณะกรรมการจัดการกลุ่มนักเขียนและสำนักพิมพ์จีน, Yan An หัวหน้าบรรณาธิการบริหารนิตยสาร YAN HE, Zhu Xiongwei รองประธานสมาคมนักเขียนประจำมณฑลเจ้อเจียง ประธานสมาคมเขียนเมืองหางโจว, Yuyan รองประธานสมาคมนักเขียนประจำมณฑลหูหนาน ประธานสมาคมนักเขียนอินเทอร์เน็ต ประจำมณฑลหูหนาน, Wang Ping รองศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยมองโกเลียใน (คณะวรรณคดีและสื่อสารมวลชน), Li Qiang ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเอเชียและแอฟริกา สมาชิกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศจีน รวม 6 คน...

 

กระชับความสัมพันธ์นักเขียนและวรรณกรรมไทย-จีน

 

          00 สำหรับบรรยากาศที่ สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ นำโดยนายกสมาคม กนกวลี พจนปกรณ์ และคณะกรรมการบริหารสมาคม รวมทั้งพี่น้องนักเขียนผู้สนใจเข้าร่วมแลกเปลี่ยน อาทิ นรีภพ สวัสดิรักษ์, พัลลภ สามสี, กฤติศิลป์ ศักดิศิริ, ขนิษฐา วชิราพรพฤฒ ฯลฯ ก่อนเริ่มพูดคุย ผศ.ดร.อรองค์ ชาคร จากคณะภาษาและการสื่อสาร นิด้า ได้นำเสนอผลงานวิจัยเรื่อง เอกลักษณ์และความเป็นสากลในวรรณกรรมไทย รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) : การจัดการมรดกทางวัฒนธรรมเชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อขยายพื้นที่วรรณกรรมไทยออกสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งได้รับความสนใจจากนักเขียนจีน และได้รับคำชื่นชมด้วย...

 


          00 ภายหลัง เลี้ยงต้อนรับ มื้อกลางวันง่ายๆ เป็นกันเอง และฟังงานวิจัยเรียบร้อยแล้ว ก็เข้าสู่ประเด็นพูดคุยแลกเปลี่ยนด้านศิลปวัฒนธรรม พูดถึงสถานการณ์ การอ่าน-การเขียนไทย-จีน โดยให้ความสำคัญ ทั้งวรรณกรรมเก่าคลาสสิก วรรณกรรมร่วมสมัย ตลอดจน งานเขียนของคนรุ่นใหม่ ที่นำเสนอผ่านช่องทาง ออนไลน์ หรือโซเชียลเน็ตเวิร์ก ซึ่งบรรยากาศการอ่าน-เขียนทั้งเขาและเราตกอยู่ในสถานการณ์คล้ายๆ กัน คือ ยอดพิมพ์-ยอดขายหนังสือเล่มลดลง ต่างตรงที่ ประเทศเขารัฐบาลสนับสนุนรูปแบบ อย่างเต็มกำลัง...

          00 ทางรัฐบาลจีนสนับสนุนการจัดพิมพ์และเผยแพร่หนังสือ โดยหัวหน้าคณะกล่าวย้ำ รัฐใจป้ำจัดสรรงบประมาณให้พิมพ์วรรณกรรม (แบบไม่ขี้เหนียว) อีกด้านหนึ่งกระแสโซเชียลที่ลามไหลไม่สามารถปิดกั้นได้ รัฐก็ส่งเสริมพร้อมๆ กันไป ถึงต้องมีตำแหน่ง ประธานสมาคมนักเขียนอินเทอร์เน็ตฯ ดังกล่าวข้างต้น น่าสนใจว่าข้อมูลที่เรารับรู้จากการแลกเปลี่ยนในวันนั้น งานวรรณกรรมในจีน ที่เผยแพร่ผ่านออนไลน์ปีละ 1 ล้านเรื่องต่อปี ! ขณะที่การจัดพิมพ์ ในรูปแบบ ‘หนังสือ’ ตกราวๆ 9,000 เล่ม ทั้งนี้คณะนักเขียนจีนบอกว่า หนังสือเล่ม กับ ผลงานในอินเทอร์เน็ต ต้องไปด้วยกันให้ได้ ส่งเสริมทั้งสองทาง เพื่อให้เกิดความสมดุล...

 

กระชับความสัมพันธ์นักเขียนและวรรณกรรมไทย-จีน

 

          00 แต่ที่น่าทึ่ง นักเขียนจีนรุ่นใหม่ บางรายมีรายได้ ปีละกว่า 120 ล้านหยวน เราถามกลับเพื่อความแน่ใจ มากมายขนาดนั้นเป็นไปได้หรือ เขาบอก ฟังไม่ผิดหรอก คนรุ่นใหม่เขาเริ่มเขียนในอินเทอร์เน็ตหรือเว็บไซต์ เมื่อได้รับความนิยมในวงกว้าง ได้พิมพ์เป็นเล่ม ทั้งต่อยอดไปสู่ เกม การ์ตูน แอนิเมชั่น ภาพยนตร์ชุดทางทีวี ฯลฯ จึงทำรายได้มหาศาล เช่นเดียวกับนักเขียนรุ่นใหม่คนอื่นๆ พอมี fc ติดตามมากเข้าก็จัดพิมพ์เป็นเล่มตามมา คล้ายๆ กับบ้านเรา แต่บ้านเขารายได้ดีกว่าหลายเท่าตัว เพราะ รัฐสนับสนุนทุกวิถีทาง ขอเพียงสร้างสรรค์งานดีๆ ออกมา! บรรยากาศพูดคุยบ่ายวันนั้น (ผ่านล่ามคนเก่ง) ดีมากๆ ถือเป็นการ กระชับความสัมพันธ์นักเขียนและวรรณกรรมจีน-ไทย ที่มีมายาวนานให้แนบแน่นยิ่งขึ้น...

          00 ยินดีและดีใจที่ได้เห็น สีสัน นิตยสารรายเดือน ด้านศิลปะดนตรี เดินทางมา ครบ 29 ปี ในฉบับเดือนกันยายน 2561 และกำลัง ก้าวย่างสู่ปีที่ 30 อย่างไม่ย่อท้อ ความจริงถ้านับปีแห่งการก่อเกิดตั้งแต่ฉบับปฐมฤกษ์-พฤศจิกายน 2530 สีสัน ได้ผ่านปีที่ 30 มาแล้ว และจะครบ 31 ปีเต็มในเดือนสองข้างหน้า แต่ บก.ทิวา สาระจูฑะ หรือ “น้าทิวา” ของคนในวงการและแฟนคลับ ผู้เป็นเสมือนโลโก้นิตยสารสีสัน บอกไม่อยากทำเนียน (ฮา) เพราะช่วงปีแรกๆ ที่จัดงาน “สีสัน อวอร์ดส์” ทีมงานทุกคนต้องไปช่วงงานกันคนละไม้ละมือ สีสัน จึงจำต้องหยุดไป 1 ฉบับ ออกได้เพียง 11 ฉบับต่อปี...

 

กระชับความสัมพันธ์นักเขียนและวรรณกรรมไทย-จีน

 

          00 แต่ห้วงเวลา 20 ปีกว่าจนถึงปัจจุบัน “น้าทิวา” สามารถนำพา สีสัน ฝ่าคลื่นลมมรสุมต่างๆ นานามาได้โดยวางแผง ครบ 12 ฉบับทุกปี เฉพาะอย่างยิ่งช่วงหลังๆ นอกจากประเทศเราประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจเป็นระยะๆ แล้ว พฤติกรรมการอ่านก็เปลี่ยนไปมาก จากหนังสือสื่อสิ่งพิมพ์มาอ่านในจอ-โลกออนไลน์ แต่ สีสันยังคงช่วยเติมสีสันวงการหนังสือ ให้มีชีวิตชีวาอยู่เสมอ สำหรับ ฉบับครบรอบปีที่ 29 แน่นอนว่ามีพิเศษ 5 ชอบ 5 ไม่ชอบ (ในรอบปี) ของบรรดา คอลัมนิสต์-นักวิจารณ์ เช่นเคย ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติไปแล้ว ส่วนเนื้อหา-คอลัมน์อื่นๆ ก็มีครบครัน รวมถึงคอลัมน์วิจารณ์หนังสือโดย จรูญพร ปรปักษ์ประลัย ด้วย...

          00 รางวัลชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ ครั้งที่ 15 (ประจำปี 2561) ซึ่งเป็นที่ทราบกันแล้วว่า ผู้ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ คือ มกุฏ อรฤดี (นิพพานฯ, วาวแพร) ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2555 พิธีมอบรางวัลจะมีขึ้น วันอังคารที่ 25 กันยายน เวลา 14.00-16.00 น. ณ คอนเวนชั่นฮอลล์ บมจ.อมรินทร์พริ้นติ้งแอนพับลิชชิ่ง ย่านตลิ่งชัน งานนี้ มกุฏ อรฤดี จะปาฐกถาพิเศษด้วย แม้ไม่ได้ระบุไว้ในบัตรเชิญ แต่ “วรรณฤกษ์” เชื่อว่าหัวข้อปาฐกถาคงเกี่ยวกับ ระบบหนังสือและสถาบันหนังสือแห่งชาติ แน่อน! ใครสะดวกไปฟังกันได้ครับ ประเด็นนี้สำคัญมากสำหรับประเทศไทย...

          00 ขอคารวะ-อาลัย ต่อการจากไปอย่างกะทันหันของ มงคล อุทก หรือ “น้าหว่อง คาราวาน” นักร้อง นักดนตรี นักประพันธ์เพลง และเจ้าของผลงานหนังสือ “เพลงพิณพนมไพร” ที่สำคัญ “น้าหว่อง” คือหนึ่งใน ‘ตำนานเพลงเพื่อชีวิต-ตำนานพิณกรีดสาย’ ที่มีคนรักใคร่จากทุกวงการ! พิธีฌาปนกิจมีขึ้น วันเสาร์ที่ 22 กันยายนนี้ ณ เมรุวัดปากน้ำ ถ.พิบูลสงคราม จ.นนทบุรี เวลา 17.00 น. แต่มีการแสดงดนตรี อ่านบทกวี กล่าวคำอาลัย ฯลฯ ตั้งแต่เวลา 12.00 น. เป็นต้นไป...

          พบกันใหม่เสาร์-อาทิตย์หน้า สวัสดีครับ
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ