ข่าว

เสริมความแกร่ง "3องค์กร" จับมือป้องปราม "ลอกเลียนวรรณกรรม"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เสริมความแกร่ง "3องค์กร" จุฬาฯ- มจธ.-สวทช. จับมือกัน แลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อตรวจสอบและป้องปรามการ "ลอกเลียนวรรณกรรม" ส่งเสริมคุณภาพหลักสูตรระดับอุดมศึกษาและงานวิจัยไทยสู่มาตรฐานสากล

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)แลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อตรวจสอบและป้องกันการ "ลอกเลียนวรรณกรรม" ผ่านระบบอักขราวิสุทธิ์ พัฒนากลไกมาตรฐานหลักสูตรระดับอุดมศึกษาของประเทศ

 

พิธีลงนามความร่วมมือระหว่างรศ.ดร.ยุทธนา ฉัพพรรณรัตน์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.วรินธร สงคศิริ ที่ปรึกษาอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ ศ.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์รักษาการรองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ  ณ ห้อง 702 ชั้น 7 อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา จุฬาฯ

 

โดยมี รศ.ดร.วันชัย ตรียะประเสริฐ ผู้ช่วยอธิการบดี จุฬาฯ ดร.อลิสา คงทน รักษาการรองผู้อำนวยการ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ และ ศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ สมบัติสมภพมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ร่วมเป็นสักขีพยาน

รศ.ดร.ยุทธนา ฉัพพรรณรัตน์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาฯ เปิดเผยว่า การลงนามความร่วมมือระหว่างจุฬาฯ มจธ. และ สวทช. ในครั้งนี้ เป็นการผนึกความร่วมมือกันตรวจสอบการ "ลอกเลียนงานวรรณกรรม" ของประเทศไทย โดยใช้ “โปรแกรมอักขราวิสุทธิ์” ที่พัฒนาขึ้นโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยตรวจสอบการลอกเลียนวรรณกรรมของบุคคลอื่น ซึ่งจุฬาฯ ได้เปิดตัวโปรแกรมอักขราวิสุทธิ์อย่างเป็นทางการเมื่อปี 2556 พร้อมทั้งเริ่มใช้งานจริงกับวิทยานิพนธ์ของจุฬาฯ ในปีเดียวกัน 

 

โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับหน่วยงานและสถาบันการศึกษาต่างๆ ให้สามารถใช้งานโปรแกรมอักขราวิสุทธิ์ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2557 ช่วงเวลา 8 ปีที่ผ่านมา จุฬาฯ ได้มีการลงนามความร่วมมือทางวิชาการกับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและรัฐวิสาหกิจจำนวนกว่า 150 แห่ง เพื่อตรวจสอบวิทยานิพนธ์ งานวิจัยและผลงานทางวิชาการด้วยโปรแกรมอักขราวิสุทธิ์ ซึ่งเป็นโปรแกรมหลักที่ใช้ในการตรวจสอบการลอกเลียนวรรณกรรม และเป็นการป้องปรามมิให้มีการลอกเลียนวรรณกรรมของบุคคลอื่น

 

“ความร่วมมือทางวิชาการระหว่างจุฬาฯ มจธ. และ สวทช. ในครั้งนี้เป็นอีกก้าวสำคัญในการยกระดับและขยายฐานข้อมูลเพื่อการตรวจสอบการลอกเลียนวรรณกรรมของประเทศไทยให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น ในอนาคตมีแผนพัฒนาโปรแกรมอักขราวิสุทธิ์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น” รศ.ดร.ยุทธนา เผยความสำคัญของการลงนามความร่วมมือครั้งนี้

รศ.ดร.ยุทธนา กล่าวเพิ่มเติมว่า การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้เป็นโครงการนำร่อง (Sandbox) ในการพัฒนาระบบกลไกกำกับมาตรฐานหลักสูตรระดับอุดมศึกษาตามเกณฑ์มาตรฐานชาติ และวิชาชีพในระดับสถาบัน

 

 

โดยเชื่อมต่อฐานข้อมูลงานวิจัยกับศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (Thai-Journal Citation Index Centre: TCI) ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญที่จัดเก็บข้อมูลบทความวิชาการและวิจัยของไทยฐานข้อมูล TCI นับว่ามีคุณูปการต่อวงวิชาการอุดมศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาของประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง

เสริมความแกร่ง \"3องค์กร\" จับมือป้องปราม \"ลอกเลียนวรรณกรรม\"

 

โดยเฉพาะการเป็นวารสารมาตรฐานที่มี peer review อย่างเป็นระบบ เป็นแหล่งอ้างอิงในการเผยแพร่ผลงานวิชาการและผลงานวิจัยระดับอุดมศึกษาระดับชาติที่ได้รับการยอมรับในวงวิชาการมาอย่างยาวนาน

 

อีกทั้งยังช่วยเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนบ่มเพาะให้กับนิสิตนักศึกษารวมถึงคณาจารย์และนักวิจัยใหม่ระดับอุดมศึกษา ได้มีเวทีและพื้นที่ในการเผยแพร่ผลงานวิชาการ/งานวิจัยในก้าวแรก เพื่อฝึกปรือ พัฒนาผลงานและศักยภาพไปสู่การนำผลงานไปเผยแพร่ในระดับวารสารระดับนานาชาติต่อไปในอนาคต

เสริมความแกร่ง \"3องค์กร\" จับมือป้องปราม \"ลอกเลียนวรรณกรรม\"

 

ไม่เพียงเท่านั้น โครงการนี้จะนำไปสู่การพัฒนาขยายผล ต่อยอด และนำเสนอระบบกลไกในการกำกับมาตรฐานในระดับประเทศต่อไปอีกด้วย


“ในปีนี้บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาฯ จะมีวาระครบ 60 ปี ซึ่งจะเป็นอีกก้าวสำคัญที่เห็นความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ระดับประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อขยายฐานข้อมูลให้เป็นแหล่งอ้างอิงเพื่อการตรวจสอบการลอกเลียนวรรณกรรม เป็นการพัฒนาต่อยอดไปสู่ความเป็นอักขราวิสุทธิ์ (พลัส) โดยมีฐานข้อมูลงานวิจัยกับ TCI เป็นแหล่งข้อมูลสำคัญของโปรแกรมอักขราวิสุทธิ์ รวมถึงฐานข้อมูลสำคัญอื่น ๆ อีกด้วย” คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาฯ กล่าวในที่สุด

 

ดร.วรินธร สงคศิริ ที่ปรึกษาอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ระบุว่ามหาวิทยาลัยได้พัฒนาระบบฐานข้อมูล TCI ตั้งแต่ปี 2547 เพื่อทำหน้าที่รวบรวม จัดเก็บ และสืบค้นบทความวิจัย รวมถึงการคำนวณและรายงานค่าดัชนีผลกระทบการอ้างอิงของบทความวิชาการ (Journal Impact Factors ; JIF) เพื่อประโยชน์ของนักวิจัยและนักวิชาการในการตีพิมพ์บทความวารสาร ฐานข้อมูล TCI เป็นฐานข้อมูลระดับชาติแห่งเดียวของประเทศไทยที่มีการรวบรวมข้อมูลบทความวิชาการไว้มากที่สุด

 

ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนบ่มเพาะให้นิสิตนักศึกษา รวมถึงคณาจารย์และนักวิจัยใหม่ระดับอุดมศึกษาได้มีพื้นที่เผยแพร่ผลงานวิชาการและงานวิจัยในก้าวแรก เพื่อพัฒนาและเพิ่มศักยภาพไปสู่การนำผลงานไปเผยแพร่ในระดับวารสารระดับนานาชาติต่อไปในอนาคต

 

ศ.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า ความร่วมมือของทั้ง 3 องค์กรในครั้งนี้จะช่วยเสริมความเข้มแข็งให้กับแพลตฟอร์ม anti-plagiarism ของประเทศไทย ทั้งโปรแกรม CopyCatchที่พัฒนาโดยศูนย์เนคเทค สวทช. และโปรแกรมอักขราวิสุทธิ์ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ที่ได้เชื่อมต่อกับฐานข้อมูลงานวิจัยกับศูนย์ TCI

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ