ข่าว

"นายกฯ" สั่งอธิบดีปศุสัตว์ เร่งควบคุมอหิวาต์หมู-ฟื้นฟูผู้เลี้ยงหมู

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"นายกรัฐมนตรี" พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา สั่งอธิบดีกรมปศุสัตว์ เร่งแก้ควบคุมโรคอหิวาต์ระบาดในหมู-สำรวจปริมาณสุกรที่หายไปจากระบบ -จัดหาพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ เพื่อผลิตลูกหมูเพิ่มเติมในระบบ - ฟื้นฟูเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู-ตั้งวอร์รูม( Warroom) ชี้แจงประชาชน

วันที่ 14 ม.ค. 2565 ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา "นายกรัฐมนตรี" ได้เรียก นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เข้าพบที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมี นายสัตวแพทย์กิจจา อุไรรงค์ อาจารย์ประจำคณะภาควิชาเวชศาสตร์และทรัพยากรการผลิต คณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาลัยบางเขน เข้าพบด้วย

 

ทั้งนี้ "นายกรัฐมนตรี"  ได้มอบแนวทางการแก้ปัญหาหมูและให้เร่งตรวจสอบการขึ้นทะเบียนเกษตรกรเจ้าของฟาร์มผู้เสียหายทั้งรายย่อยและรายใหญ่
.

 

พร้อมให้หน่วยงานลงพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพการเลี้ยงสุกร ทั้งโรงฆ่าสัตว์และเขียงหมูโดยเร็ว รวมทั้งเร่งสอบสวนสาเหตุและรักษาตามอาการตั้งแต่แรก ควบคู่กับการให้ความรู้ผู้เลี้ยงหมูในการป้องกันเบื้องต้น ระหว่างที่ยังต้องรอผลการวิจัยและพัฒนาวัคซีน และเปิดช่องทางรับแจ้งการเกิดโรคโดยเร็ว
.

 

สำหรับการบริหารจัดการความต้องการสุกรในภาพรวมนั้น ให้สำรวจปริมาณความต้องการประชาชนต่อการบริโภคและใช้เนื้อหมูในประเทศ รวมทั้งปริมาณการส่งออก และศึกษาความจำเป็นในการนำเข้าเนื้อหมูชั่วคราว การจัดหาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ เพื่อผลิตลูกหมูเพิ่มเติมในระบบ
 

 

"นายกรัฐมนตรี" ยังมอบหมายให้จัดตั้ง Warroom สื่อสาร - ชี้แจงการทำงานในการแก้ปัญหาหมูแพง และโรคระบาดทุกวัน เพื่อให้ประชาชนและสื่อมวลชนได้รับทราบจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

 

ต่อมาเมื่อเวลา 14.30 น.อธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่าวันนี้ "นายกรัฐมนตรี" ได้สั่งการใน 4 เรื่องเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาสุกรในประเทศ ได้แก่

 

1.ให้มีการควบคุมโรคอหิวาต์หมู หรือโรคอหิวาต์ แอฟริกา​ใน​สุกร (ASF) ที่พบมีการระบาดให้ประเทศไทยโดยรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากที่สุด

 

2.การฟื้นฟูเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูจะทำในรูปแบบใด

 

3.การพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันโรค ASF โดยโรคนี้เกิดขึ้นมากว่า 100 ปีแล้วยังไม่มีวัคซีน

 

และ 4.การสำรวจปริมาณหมูที่หายไปจากระบบ โดยเรื่องนี้ "นายกรัฐมนตรี"ให้เร่งสำรวจอย่างเร่งด่วนโดยร่วมกับกระทรวงมหาดไทยในการสำรวจปริมาณ เนื่องจากในขณะนี้ข้อมูลของผู้เลี้ยงและกระทรวงไม่ตรงกัน โดยข้อมูลจากผู้เลี้ยงสุกรบอกว่าหมูหายไปจากระบบกว่า 50% แต่ข้อมูลของกรมปศุสัตว์ที่มีระบบติดตามการเคลื่อนย้ายและตรวจสอบปริมาณสัตว์บอกว่าหายไปแค่ 20% เท่านั้น ซึ่งหากมีการสำรวจข้อมูลส่วนนี้ได้แล้วเสร็จจะนำมาสู่การกำหนดมาตรการช่วยเหลือที่ถูกต้องต่อไป
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ